หวังเห็นผู้พิการทางสายตาได้รับการศึกษาเท่าเทียมคนตาดี อาจารย์ มช. เลยใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์พัฒนาโปรแกรมแปลภาษาเขียนไทยให้เป็นอักษรเบรลล์ สำหรับผลิตสื่อการเรียนการสอนได้รวดเร็วทันใจ 10 วินาทีแปลได้ 200 หน้า ลดพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ เตรียมต่อยอดแปลสูตรคณิตศาสตร์ เพิ่มโปรแกรมพิมพ์ภาพนูน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาซอฟต์แวร์แปลภาษาเขียนไทยให้เป็นอักษรเบรลล์ "ซีเอ็มยูเบรลล์ทรานส์เลชัน" (Cmu Braille Translation) โดยอาศัยหลักวิเคราะห์ไวยากรณ์ของภาษา เพื่อย่นระยะเวลาผลิตสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนผู้พิการทางสายตา โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ เตรียมจดสิทธิบัตรพร้อมเผยแพร่และพัฒนาต่อยอด แปลสูตรคณิตศาสตร์เป็นอักษรเบรลล์
ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการ "การวิเคราะห์โครงสร้างไวยาการณ์อักษรเบรลล์เพื่อการแปลภาษา" เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อการเรียนการสอนของผู้พิการทางสายตายังมีไม่มาก ทำให้พวกเขาเหล่านี้ขาดโอกาสทางการศึกษา อีกทั้งซอฟต์แวร์แปลภาษาเขียนให้เป็นภาษาเบรลล์ที่มีอยู่เดิมก็ค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้หลายโปรแกรมร่วมกัน และต้องดำเนินการโดยผู้ที่รู้อักษรเบรลล์เท่านั้น
"เริ่มแรกก็คุยกับทางโรงเรียนว่าใช้งานซอฟต์แวร์ใดอยู่แล้วบ้าง หรือมีความต้องการพัฒนาในจุดใด ซึ่งเดิมทีการแปลภาษาเขียนไทยให้เป็นอักษรเบรลล์ต้องให้เจ้าหน้าที่หรือคุณครูที่รู้อักษรเบรลล์อ่านหนังสือแล้วแปลเป็นภาษาเบรลล์ จากนั้นจึงพิมพ์ออกมาเป็นอักสอนเบรลล์ ซึ่งใช้เวลานาน ต้องซื้อเครื่องมือราคาแพงจากต่างประเทศ และอาจไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ จึงคิดว่าถ้าหากพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเองน่าจะมีต้นทุนต่ำกว่าและตรงกับวัตถุประสงค์มากกว่าด้วย" ดร.รัฐสิทธิ์ เผย
"โจทย์ของเราคือทำอย่างไรจึงจะพัฒนาซอฟต์แวร์แปลอักษรไทยปกติที่คนตาดีพิมพ์เข้าไปอยู่ในรูปของดิจิทัล และสามารถแปลหรือแปลงออกมาให้อยู่ในรูปอักษรเบรลล์ โดยใช้เวลาไม่นาน มีความถูกต้องสูง เพื่อที่จะสามารถผลิตสื่อการเรียนการสอนปกติหรือจากสื่อต่างๆ ให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนเท่าเทียมกับคนตาดีทั่วไป ตลอดจนพิมพ์ข้อมูลข่าวสารจากหน้าหนังสือพิมพ์ให้พวกเขาได้รับรู้ข่าวความเคลื่อนไหวต่างๆ เช่นคนทั่วไป" ดร.รัฐสิทธิ์ กล่าว
ดร.รัฐสิทธิ์ อธิบายว่า เริ่มต้นต้องศึกษาเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาไทยและไวยากรณ์อักษรเบรลล์ว่ามีตัวสระ พยัญชนะ และการจัดเรียงอักษรเป็นอย่างไร จากนั้นไปพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ โดยอาศัยหลักการนำเอาเทคนิคจากการประมวลผลของภาษาธรรมชาติมาช่วยในการวิเคราะห์ เริ่มจากการตัดคำ การวิเคราะห์โครงสร้างของไวยากรณ์ไทย ซึ่งค่อนข้างมีความซับซ้อนอยู่ในตัว เพราะภาษาไทยเราเขียนติดกันยาวต่อเนื่องโดยไม่มีช่วงเว้นวรรค เราก็ต้องมีการตัดคำว่าตรงไหนเป็นประโยค ตรงไหนเป็นคำ วิเคราะห์คำนั้นว่ามีสระหรือพยัญชนะใดแฝงอยู่ในคำนั้นบ้าง ที่เรียกว่า การถอดรูปสระ และเรียงอักษรใหม่ เพราะอักษรเบรลล์จะต้องให้พยัญชณะอยู่หน้าสระ เช่น คำว่า "เรา" ในอักษรเบรลล์จะเป็น ร และตามด้วยสระ เ-า ดังนั้นขนาดของอักษรเบรลล์อาจสั้นหรือยาวกว่าต้นฉบับก็ได้
"สำหรับการใช้งาน ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ภาษาเบรลล์เลยแม้แต่น้อย เพียงรู้แค่ภาษาไทยหรือเนื้อหาในวิชานั้นๆ แล้วก็พิมพ์เหมือนพิมพ์เอกสารตามปกติในไมโครซอฟต์เวิร์ดหรือเทกซ์ไฟล์ แล้วนำมาเปิดในโปรแกรม Cmu Braille Translation จากนั้นก็ให้โปรแกรมทำหน้าที่แปลเป็นภาษาเบรลล์ หรืออาจต้องปรับแต่งนิดหน่อยก็สั่งพิมพ์ออกมาเป็นอักษรเบรลล์ได้เลย จากการทดสอบพบว่าโปรแกรมนี้สามารถแปลเนื้อหาในหนังสือภาษาไทยขนาด 200 หน้า ให้เป็นภาษาเบรลล์ได้ในเวลาเพียง 10 วินาที โดยมีความถูกต้องแม่นยำ 80-90% " ดร.รัฐสิทธิ์ เผย ซึ่งโครงการนี้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2546 ขณะนี้ทดลองใช้งานที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือมาแล้ว 7 เดือน ให้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี โปรแกรม Cmu Braille Translation นี้สามารถรองรับได้เพียงไมโครซอฟต์เวิร์ด 2003 ลงมาเท่านั้น หากสูงกว่านี้ต้องแปลงให้เป็นนามสกุล RFT เสียก่อนจึงจะแปลเป็นอักษรเบรลล์ได้
อีกปัญหาหนึ่งคือรูปแบบของตัวเอกสาร ดร.รัฐสิทธิ์ บอกว่าถ้าเขียนติดต่อกันไม่ค่อยพบปัญหานอกเสียจากสะกดผิด มีอักขระพิเศษหรือสูตรคณิตศาสตร์แทรกอยู่ แต่ถ้าเอกสารมีการจัดรูปแบบที่ต่างออกไป เช่น ข้อสอบแบบตัวเลือก เอกสารที่มีรูปภาพแทรกอยู่ เป็นต้น จะเป็นปัญหาในการแปล ซึ่งนักวิจัยก็กำลังพัฒนาต่อว่าทำอย่างไรให้โปรแกรมจำได้ว่ามีการเว้นวรรค มีช่องไฟ หรือมีรูปภาพแทรกตรงจุดไหน
เป้าหมายต่อไป ดร.รัฐสิทธิ์ เตียมพัฒนาต่อยอดให้โปรแกรมสามารถแปลสูตรคณิตศาสตร์ให้เป็นอักษรเบรลล์ เพราะขณะนี้ผลิตสื่อได้เพียงวิชาบรรยายเท่านั้น แต่วิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ที่มีการใช้สูตรคำนวณต่างๆ มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก และอาจพัฒนาโปรแกรมสำหรับแปลงรูปภาพสำหรับทำภาพนูนต่ำ ทดแทนการวาดภาพลงบนกระดาษคาร์บอนที่ทางโรงเรียนใช้อยู่ปัจจุบัน
สำหรับโปรแกรม Cmu Braille Translation ทาง สวทช. จะดำเนินการจดสิทธิบัตรและเผยแพร่สู่โรงเรียนสอนคนตาบอดต่อไป