xs
xsm
sm
md
lg

Q&A Corner : ซื้อกองทุน RMF เพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานก่อนเข้าไปในเว็บไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนที่ www.aimc.or.th เหลือบไปเห็นคำถามของน้องคนหนึ่ง ทางทีมงานจึงขอนำคำถามของน้องคนนั้นมาเผยเเพร่ครับ เนื่องจากเป็นคำถามที่มีประโยชน์มากสำหรับท่านผู้อ่าน มาดูคำถามเเละคำตอบกันเลยดีกว่าครับ

าม 1.เรื่องมีอยู่ว่าผมต้องการให้แม่ซื้อกองทุน RMF เพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี แต่ปัญหามีอยู่ว่า ผมและแม่กำลังสับสนว่า15%คิดจากรายได้ที่ยังไม่หักค่าลดหย่อนต่างๆหรือว่าคิดจาดยอดเงินที่หักค่าลดหย่อนต่างแล้วครับ

2.สมมุติว่ามีรายได้ปีละ400,000 บาท ช่วยแสดงวิธีคิดหายอดเงินที่เราสามารถซื้อกองทุน RMF ได้เป็นตัวอย่างให้ดูซักหน่อยนะครับ

3.ยอดเงินที่ใช้ซื้อกองทุนสมมุติว่าซื้อไปรวมทั้งสินใน 1 ปี เป็นเงิน 20,000 บาทโดยมีจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายเป็นเงิน 20,000บาท สามารถนำยอดเงินที่ซื้อกองทุนมาหักได้ตามที่จ่ายจริงทั้งหมดหรือไม่ครับ เพราะมีหลายคนบอกว่าไม่สามารถนำมาหักได้ทั้งหมดเช่นซื้อกองทุน 20,000 บาท แต่นำมาหักภาษีจริงๆอาจหักได้เพียง 2000 บาทเท่านั้น ผมเลยสับสนว่าสรุปแล้วเค้าคิดคำนวนกันแบบไหนกันแน่ หากลงทุน 20,000 บาทแล้วนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่กี่บาทก็ไม่ค่อยน่าสนใจผู้รู้ช่วยไขข้อข้อใจให้ผมด้วยนะครับตอนนี้สับสนจิงๆ

4.วิธีคิดเงินลงทุนเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีทุกธนาคารมีวิธีคิดเหมือนกันหรือไม่ครับขอบคุณครับ
สู้เพื่อแม่

ตอบ ทางสมาคมได้ตอบคำถามน้องสู้เพื่อเเม่ ดังนี้ครับ ก่อนอื่นต้องขอชี่นชม คุณสู้เพื่อแม่ ที่พยายามหาทางในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับคุณพ่อคุณแม่ด้วยนะครับ สำหรับข้อสงสัยของ คุณสู้เพื่อแม่ นั้นผมขอชี้แจงดังนี้

1. อัตราเงินค่าซื้อในกองทุนรวม RMF สูงสุดที่จะสามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินได้ คือ ไม่เกิน 15% ของเงินได้ ตามมาตรา 40 ทั้งหมดทุกวงเล็บ แต่เงินค่าซื้อดังกล่าวนี้ เมื่อรวมกับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วจะต้องไม่เกินกว่า 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี โดยที่เงินได้ดังกล่าวให้รวมถึงเครดิตภาษีและยังไม่หักค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ให้นับรวมเฉพาะเงินได้ที่นำมากรอกรายการลงในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ในใบหลักเท่านั้น ไม่รวมถึงใบเสริมอื่นๆ ซึ่งใช้สิทธิในการเสียภาษีในอัตราพิเศษแล้วนะครับ เช่น เงินได้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงานหากผู้มีเงินได้นำไปกรอกรายการในใบแนบก็จะไม่สามารถนำเงินได้นี้มาเป็นฐานเงินได้ในการคำนวณเงินค่าซื้อได้ แต่ถ้านำไปกรอกรายการในแบบที่เป็นใบหลักเพื่อเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าในอัตราร้อยละ 0-37 ก็จะสามารถนำเงินได้นี้ไปรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าซื้อได้ครับ

2. ถ้ามีเงินได้ที่นำไปกรอกรายการลงทุนในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 400,000 บาท โดยยังไม่ได้คำนวณหักค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดนั้น ผู้มีเงินได้ก็มีสิทธิที่จะซื้อกองทุนรวม RMF ในอัตราไม่เกิน 15% ที่เท่ากับ 400,000x15% = 60,000 บาทครับ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญแล้วก็ไม่เกินกว่า 500,000 บาทต่อปีเนื่องจากเงินได้มีแค่เพียง 400,000 บาทต่อปีเท่านั้น

3. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF นั้นสามารถนำไปใช้หักลดหย่อนกับเงินได้ในคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ได้กำหนดให้ไปหักกับภาษีที่จะต้องเสียหลังการคำนวณภาษีเงินได้ที่จะต้องเสียนะครับ ดังนั้น หากจะถามว่าการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF จะประหยัดภาษีได้เท่าไหร่ คงต้องพิจารณาจากฐานภาษีเงินได้ที่บุคคลนั้นต้องเสียอยู่ ณ ปัจจุบันนั้นว่าเป็นอย่างไรครับ คือ สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีฐานภาษีอยู่ที่ 37% ก็จะประหยัดภาษีได้สูงสุดก็แค่ 37% จากเงินที่ลงทุนซื้อเท่านั้นครับ สำหรับบุคคลธรรดาที่ยังไม่เสียภาษีเลย การลงทุนในกองทุนรวม RMF ก็ไม่ได้ช่วยให้ประหยัดภาษีขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งหากเสียภาษีที่ 20,000 บาท ฐานภาษีเงินได้ก็จะอยู่ที่อัตรา 10% ณ ปัจจุบัน

ซึ่งหากผู้มีเงินได้ซื้อหน่วยลงทุนเพียง 20,000 บาท ก็จะไปหักลดหย่อนกับเงินได้ได้เพียง 20,000 บาท และจะทำให้ประหยัดภาษีไปเพียง 2,000 บาท เท่านั้น แต่หากต้องการที่จะไม่เสียภาษีเลยก็คงจะต้องซื้อหน่วยลงทุนถึง 200,000 บาทถ้าสามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ แต่ด้วยเงินได้ที่ฐานภาษีร้อยละ 10% นั้นผู้มีเงินได้ก็คงจะมีเงินได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งหากคำนวณที่อัตราสูงสุดไม่เกิน 15% ผู้มีเงินได้จะลงทุนในกองทุนรวม RMF เพื่อใช้สิทธิในการหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 75,000 บาทต่อปีเท่านั้น หรือหากคิดเป็นการประหยัดภาษีก็จะไม่เกิน 7,500 บาท เท่านั้นครับ คือยังไงก็คงต้องเสียภาษีอีกบางส่วนอยู่ดีแหละครับไม่สามารถทำให้หมดไปเลยได้

และการใช้สิทธิก็เป็นปีต่อปี หากต้องการลดหย่อนนี้อีกในปีต่อไปก็ต้องลงทุนเพิ่มไปอีกจนกว่าจะครบเงื่อนไขจึงจะขายคืนเงินที่ลงทุนได้ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องมีภาระที่จะต้องนำเงินที่เคยได้ลดหย่อนนี้ไปคืนให้กับกรมสรรพากรย้อนหลังไม่เกิน 5 ปีปฏิทิน พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับระยะเวลาจากเดือนเมษายนของปีที่ไปขอลดหย่อนภาษีนั้นไว้จนถึงเดือนที่ชำระคืนภาษีให้กับกรมสรรพากรครับ

4.การคิดว่าจะลงทุนได้เท่าไหร่ ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธนาคารไหน หรือแม้แต่บริษัทจัดการไหนแต่อย่างใด เป็นวิธีที่กรมสรรพากรกำหนดขึ้นเป็นแนวทางเดียวกันเพื่อให้เป็นหน้าที่ของผู้ลงทุนที่จะนำไปคำนวณเพื่อการซื้อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กรมสรรพากรกำหนดเอง เพราะการซื้อที่เกินกว่าจำนวนที่กรมสรรพากรกำหนดจะทำให้เงินลงทุนดังกล่าวมีภาระภาษีเงินได้ทันทีที่ขายแล้วมีกำไรจากการลงทุนจากเงินนั้นครับ

ขอบคุณสมาคมบริษัทจัดการลงทุนนะครับ สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเรื่องกองทุนรวม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ fund@manager.co.th หรือโพสต์ข้อความไว้ที่หน้า กองทุนรวม www.manager.co.th ทางเรายินดีที่จะตอบคำถามเเละยินดีจะเป็นสื่อกลางระหว่างท่านผู้อ่าน เเละบลจ.ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น