xs
xsm
sm
md
lg

Q&A Corner : ความแตกต่างของ RMF – LTF ภาค 3**

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หายไป2 วันนะครับสำหรับคอลัมน์ Q&A Corner มาวันนี้เราจะมาต่อเรื่องของ RMF กันเลยดีกว่า ครับ ส่วนเรื่องตัวอย่างการคำนวณการลงทุนในกองทุน RMF และกองทุน LTF เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี เราจะมาต่อให้ท่านยผู้อ่านทราบในวันถัดไปครับ

ตอบ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) หมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันในรูปแบบของการออมเงินผ่านกองทุนรวมระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดการพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติ และสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯนั่นเอง

เนื่องจาก LTF มีนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญซึ่งมีความเสี่ยงจากการลงทุนค่อนข้างสูง นักลงทุนจึงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุนเพิ่มนอกเหนือจากผลตอบแทนที่พึ่งได้รับดังนี้

1.ได้รับการลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องนำเงินลงทุนใน LTF ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุดไม่เกิน 15 % ของเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ต้องไม่เกิน 300,000

2.ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain)

LTF (<_15% ของเงินได้) <_ 300,000 บาทในปีภาษีนั้น

เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีข้างต้นนี้ นักลงทุนต้องลงทุนตามเงื่อนไขการลงทุนของ LTF ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.เงินลงทุนใน LTF ต้องมาจากการประกอบอาชีพ และเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร

2.เมื่อซื้อหน่วยลงทุน LTF แล้ว ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน โดยเริ่มนับจากปีที่มีการลงทุนเป็นครั้งแรก ตรงนี้ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ สมมติว่าคุณลงทุนซื้อหน่วยลงทุนของ LTF ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยจะครบกำหนดอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าคุณสามารถขายคืนหน่วยลงทุนในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555 ได้ คุณยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วนเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ เพราะถ้านับตามปีปฏิทินที่เริ่มลงทุนเป็นครั้งแรก การที่คุณเลือกลงทุนวันใดวันหนึ่งในปี พ.ศ. 2551 ก็นับเป็น 1 ปีปฏิทินแล้ว และการขายคืนหน่วยลงทุนในวันใดวันหนึ่งตามที่กองทุนได้กำหนดไว้ในปี พ.ศ. 2555 ก็นับเป็นอีก 1 ปีปฏิทินแล้วเช่นกัน รวมกับอีก 3 ปีที่ถือครองนับเป็นระยะเวลา 5 ปีปฏิทินพอดี แต่ระยะเวลาที่ต้องถือหน่วยลงทุนจริงๆกลับเท่ากับ 3 ปี กับ 2 วันเท่านั้น

3.เมื่อถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปีปฏิทิน แล้วนักลงทุนสามารถเลือกถือหน่วยลงทุนต่อไปได้ หรืออาจเลือกขายคืนหน่วยลงทุนเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ ทั้งนี้กองทุน LTF มีกำหนดการขายคืนหน่วยลงทุนได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง

4.ไม่มีการจำกัดเงินลงทุนขั้นต่ำ โดยนักลงทุนสามารถลงทุนได้สูงสุดถึง 15 % ของเงินได้ในแต่ละปี และต้องไม่เกิน 300,000 บาท

5.ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง โดยจะนับเงินที่ลงทุนแยกกันไปในแต่ละปี เช่น ถ้าคุณลงทุนเงินก้อนแรกในปี พ.ศ. 2551 ก็สามารถไถ่ถอนได้อีก 5 ปีข้างหน้าในปี พ.ศ. 2555 ถ้าลงทุนเงินอีกก้อนหนึ่งในปี 2552 ก็สามารถไถ่ถอนได้อีก 5 ปีข้างหน้า ในปี พ.ศ.2556 เป็นต้น

6.ห้ามนำหน่วยลงทุนของกองทุน LTF ไปจำหน่าย โอน จำนำ หรือใช้เป็นหลักประกันใดๆ

7.หากมีการขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด 5 ปีปฏิทิน ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน นักลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป อีกทั้งต้องคืนเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นพร้อมกับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนยื่นขอยกเว้นภาษีจนถึงเดือนที่มีการยื่นคืนเงินภาษีนั้น นอกจากนี้ยังต้องจ่ายภาษีสำหรับเงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนโดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ของเงินกำไรที่ได้รับ และยังต้องนำกำไรที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนนั้นไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ตอนปลายปีอีกด้วย

โดยปกตินโยบายการลงทุนของกองทุน LTF จะเลือกลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ของกองทุนนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนค่อนข้างสูงโดยอาจมีการจ่ายเงินปันผล หรือไม่มีการจ่ายเงินปันผลคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนก็ได้ สำหรับกรณีที่มีการจ่ายเงินปันผลผู้ถือหน่วยลงทุนที่ได้รับเงินปันผลนั้นมีภาระภาษีที่ต้องจ่าย โดยสามารถเลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10 % หรือจะเลือกไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่นำเงินปันผลที่ได้รับนั้นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีทีเดียวเลยก็ได้

จากคุณสมบัติที่ได้กล่าวข้างต้น กองทุน LTF นี้จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนในระดับสูงจากการลงทุนในหุ้นสามัญระยะยาว แต่ไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นสามัญนั้น หรือไม่มีเวลาติดตามการลงทุนนั่นเอง

สำหรับท่านที่มีข้อสงสัยในเรื่องเกี่ยวกับกองทุนรวม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ fund@manager.co.th หรือโพสต์ไว้ที่ www.manager.co.th หน้ากองทุนรวม ครับ ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้ท่านอย่างเเน่นอน อย่าลืมนะครับ พรุ่งนี้มีต่อภาค 4 ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น