xs
xsm
sm
md
lg

ความแตกต่างของ RMF – LTF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ "Q&A Corner" วันนี้ ได้รับคำถามที่น่าสนใจจากผู้อ่านที่ใช้นามว่า "คนไม่อยากจน" เกี่ยวกับความแตกต่างของกองทุน RMF – LTF ...จะว่าไปแล้ว ตั้งแต่กองทุนทั้งสองประเภทเกิดขึ้นมาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีนักลงทุนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ...วันนี้ ทีมงานเลยถือโอกาสตอบคำถามนี้ เพื่อคลี่คลายข้อข้องใจให้ผู้อ่านที่กำลังสงสัยอยู่เช่นกัน

ถาม : ขอรบกวนสอบถามพี่ๆทีมงาน Q&A Corner ครับว่า กองทุน RMF – LTF มีความแตกต่างดันอย่างไรครับ เขาบอกว่าทั้ง 2 กองนี้ช่วยเรื่องภาษีหมายความว่าอย่างไรครับ และถามเพื่อเลยครับว่าต้องคำนวณอย่างไรบ้างครับ ขอรบกวนพี่ๆทีมงานแค่นี้ครับ ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบนะครับ...คนไม่อยากจน

ตอบ : สำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund :LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) ในแง่วัตถุประสงค์ของกองทุนอาจจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งกองทุน RMF นั้น มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว และให้ผู้ลงทุนออมเงินผ่านกองทุนรวมไว้ใช้ในวัยเกษียณ ขณะที่กองทุน LTF มีจุดประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของตลาดหุ้น ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนในตลาดหุ้นผ่านกองทุนรวม โดยมีระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวขึ้น...แต่หากพูดถึงจุดประสงค์เพื่อการออมแล้ว ทั้งสองกองนี้ไม่ต่างกันมากนัก และเพื่อให้เข้าใจความแตกต่างของ กองทุน RMF – LTF มากขึ้น จะขอตอบให้เห็นภาพมากขึ้น โดยแยกเป็นหัวข้อและตอบควบคู่กันไปทั้ง RMF – LTF

เงื่อนไข
RMF : ต้องซื้อหน่วยลงทุนในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่ต่ำ กว่า 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี และเมื่อ รวมกับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่ เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้นๆ ด้วย โดยต้องมีการลงทุนต่อเนื่องกันทุกปี แต่สามารถ ระงับการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ จะต้องมีปีในการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้อง ถือไว้จนกระทั่งอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน คือ ไม่ต้องเสีย ภาษีกำไรจากการลงทุน (ถ้ามี) และไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาย้อนหลัง 5 ปี
LTF : ลงทุนไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งไม่ต้องนับรวมกับการลงทุนหรือเงิน สะสมใดๆ ในแต่ละปี (ผู้ลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องซื้อหน่วยลงทุน ภายในปี 2559 เท่านั้น) โดยไม่มีเงื่อนไขให้ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ เมื่อลงทุนแล้วต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน คือ ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุน (ถ้ามี) และไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาจากเงินลงทุนที่ขายคืนนั้น

สิทธิประโยชน์
RMF : 1. สามารถนำเงินไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามที่จ่ายจริง ตามเงื่อนไขการลงทุนที่กล่าวมาข้างต้น
2. กำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน (capital gain) ได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อได้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก
LTF : 1. สามารถนำเงินไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามที่จ่ายจริง ตามเงื่อนไขการลงทุนที่กล่าวมาข้างต้น
2. กำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน (capital gain) ได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อได้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน

นโยบาย
RMF : มีหลากหลายนโยบายให้เลือกเหมือนกองทุนรวมทั่วไป โดยสามารถลงทุนได้ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ หรือลงทุนแบบผสมทั้งหุ้นและตราสารหนี้
LTF : เป็นกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์เพียงอย่างเดียว จึงเป็นกองทุนมีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง ฉะนั้นผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวม LTF นี้จะต้องยอมรับความเสี่ยงได้สูงด้วย

การขายคืนหน่วยลงทุน
RMF : สามารถขายคืนได้ทุกวันทำการ หรือตามวันที่กำหนดไว้ในโครงการโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
LTF : สามารถขายคืนได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ตามวันที่ได้กำหนดไว้ในโครงการ

ก่อนตัดสินใจลงทุน...แนะนำว่าให้ศึกษารูปแบบการลงทุนของตัวเองก่อนว่าเหมาะสมกับกองทุนประเภทใด...สำหรับคำถามที่คุณ "คนไม่อยากจน" ถามต่อต้องคำนวณภาษีอย่างไรบ้าง...จะมาตอบให้ในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากมีความซับซ้อนพอสมควร...ส่วนผู้อ่านท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนผ่านกองทุนรวม สามารถสงคำถามของท่านมาได้ที่ fund@manager.co.th...
กำลังโหลดความคิดเห็น