xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนต่างชาติแห่ขายหุ้นไทย หลังพิษซับไพรม์-การเมืองทำตลาดป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นไทยสุดผันผวนดับความน่าสนใจลงทุน สามกองทุน "JF ASSET MANAGEMENT (SINGAPORE) LIMITED - ARISAIG ASEAN FUND LIMITED - THE TON POH EMERGING THAILAND FUND " แห่เทขายหุ้นอุตลุดตั้งแต่ต้นปีปริมาณรวมกว่า 99.25 ล้านหุ้น ด้านที่ปรึกษาธนาคารสิงคโปร์ชี้เหตุหุ้นไทยหมดเสน่ห์เพราะตัวเลือกน้อย มีหุ้นขนาดใหญ่อยู่อย่างจำกัดแค่กลุ่มพลังงาน

รายงานข่าวระบุว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ค่อนข้างเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนสูง ตามสภาพตลาดหุ้นทั่วโลก จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา หลังมีข่าวสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งประสบกับการขาดทุนจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ประกอบไปกับผลจากปัจจัยภายในประเทศที่ไม่นิ่ง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาสู้คดีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี , การให้ใบแดงนายยยงยุทธ ติยะไพรัช รวมไปถึงการตัดสินคดียุบพรรคการเมือง

ทั้งนี้จากปัจจัยที่เกิดขึ้นนี้เอง ส่งผลทำให้ตั้งแต่ในช่วงต้นปี ดัชนีตลาดหุ้นผันผวนไปในทางลบอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด (26 มี.ค.51) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดที่ 817.57 จุด ลดลง 40.53 จุด หรือ 4.72% จากดัชนีเปิดต้นปีที่ 858.10 จุด ซึ่งภาวะการปรับตัวลดลงนี้เอง ส่งผลทำให้มีกองทุนต่างประเทศหลายกองทุนอาศัยจังหวะตัดขายหุ้นบางส่วนที่ถือครองอยู่เพื่อทำกำไร

โดยการรวบรวมข้อมูลจากแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2 , แบบ 256-2) ของ "ผู้จัดการรายวัน" พบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กองทุนต่างประเทศขนาดใหญ่ 3 กองทุน ได้แก่ JF ASSET MANAGEMENT (SINGAPORE) LIMITED , ARISAIG ASEAN FUND LIMITED และกองทุน THE TON POH EMERGING THAILAND FUNDได้มีการจำหน่ายหุ้นซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนทำการซื้อขายในตลท.อย่างต่อเนื่อง

สำหรับกองทุน JF ASSET MANAGEMENT (SINGAPORE) LIMITED ได้จำหน่ายหุ้นสามัญของบริษัทโทรีเซน ไทย เอเยนต์ชีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA จำนวน 1,074,600 หุ้น คิดเป็น 0.17% ทำให้กองทุนคงเหลือหุ้นสามัญจำนวน 31,493,900 หุ้น คิดเป็น 4.89% จากเดิมที่ถือหุ้นสามัญ จำนวน 32,568,500 หุ้น ซึ่งคิดเป็น 5.06% และยังได้จำหน่ายหุ้นสามัญของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD จำนวน 22,100,000 หุ้น คิดเป็น 0.53% ส่งผลทำให้เหลือหุ้นถือครอง 204,340,000 หุ้น คิดเป็น 4.87% จากที่เคยถือครองจำนวน 226,440,000 หุ้น หรือ 5.40%

ด้านกองทุน ARISAIG ASEAN FUND LIMITED นั้น เป็นอีกหนึ่งกองทุนต่างประเทศ ซึ่งได้จำหน่ายหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน โดยกองทุนได้จำหน่ายหุ้นสามัญของบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ (มหาชน) หรือ QH จำนวน 26,704,600 หุ้น คิดเป็น 0.36% ซึ่งภายหลังจากหลังจากการจำหน่าย กองทุนคงเหลือหุ้นสามัญ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ของ บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำนวน 362,173,800 หุ้น คิดเป็น 4.90% จากเดิมที่ถือหุ้นสามัญจำนวน 388,878,400 หุ้น คิดเป็น 5.26%

ขณะที่กองทุน THE TON POH EMERGING THAILAND FUND ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้ ได้ทำการจำหน่ายหุ้นไปแล้วจำนวน 4 บริษัท ประกอบไปด้วย หุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO ซึ่งกองทุนได้ทำการจำหน่ายหุ้นสามัญจำนวน 3,059,000 หุ้น คิดเป็น 0.367% ส่งผลทำให้เหลือหุ้นถือครองจำนวน 39,500,000 หุ้น คิดเป็น 4.738% จากเดิมที่ถือหุ้นจำนวน 42,559,000 หุ้น คิดเป็น 5.105% , บริษัท ไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ IT จำหน่ายหุ้นจำนวน 1,200,000 หุ้น คิดเป็น 0.36% ทำให้เหลือหุ้นจำนวน 15,522,800 หุ้น คิดเป็น4.66% จากก่อนหน้าที่ถือหุ้นจำนวน 16,722,800 หุ้น คิดเป็น 5.02%

ขณะเดียวกันกองทุนยังได้จำหน่ายหุ้นของบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR จำนวน 41,462,100 หุ้น คิดเป็น 1.67% ทำให้เหลือหุ้นจำนวน 94,400,000 หุ้น คิดเป็น 3.80% จากก่อนหน้าที่ถือหุ้นจำนวน 135,862,100 หุ้น คิดเป็น 5.47% และหุ้นสามัญซึ่งเป็นหลักทรัพย์ของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN จำนวน 3,650,400 หุ้น หรือ 0.247% คงเหลือหุ้นจำนวน 70,349,600 หุ้น หรือ 4.76% จากเดิมที่ถือหุ้นจำนวน 74,000,000 หุ้น จำนวน 5.014%

ทั้งนี้เมื่อคำนวนจำนวนหุ้นที่ทั้ง 3 กองทุน ซึ่งประกอบไปด้วย JF ASSET MANAGEMENT (SINGAPORE) LIMITED , ARISAIG ASEAN FUND LIMITED และTHE TON POH EMERGING THAILAND FUND ได้จำหน่ายตั้งแต่ต้นปี จะคิดเป็นปริมาณหุ้นกว่า 99,250,700 หุ้น

ก่อนหน้านี้นายณสุ จันทร์สม ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารอีเอฟจี (สิงคโปร์) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยหมดความน่าสนใจและแรงดึงดูดจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องมาจากมีหุ้นขนาดใหญ่อยู่อย่างจำกัดเพียงกลุ่มธุรกิจพลังงานเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น รวมทั้งไม่มีหุ้นขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ

สำหรับกระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันลดลงไปค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาพคล่องจากภายนอกประเทศทั่วโลกมีปัญหา ทำให้เงินที่จะไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ลดลงตามไปด้วย

"นักลงทุนที่ลงทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงไปมาก ทำให้การที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้อหุ้นในประเทศไทย คาดว่าน่าจะน้อยกว่าปีก่อนเป็นอย่างมากประกอบอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านมาเองก็ยังไม่ดีพอ จึงมองว่านักลงทุนต่างชาติไม่น่าจะกลับเข้ามาในตลาดไทยมากนัก"นายณสุ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น