xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักกับการวัดความเสี่ยงกองทุนตราสารทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ฑลิต โชคทิพย์พัฒนา
ผู้จัดการกองทุนตราสารทุน บลจ.อยุธยา


ระยะหลังๆท่านผู้อ่านคงรู้สึกได้ถึงความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ในบทความอาทิตย์นี้ผมจะขอพูดถึงตัวเลขบ่งชี้หลักๆสักสองสามชุดที่สามารถใช้บอก character และความเสี่ยงของกองทุนตราสารทุน ที่ผู้จัดการกองทุน และหน่วยบริหารความเสี่ยงคอยติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นแนวทางให้นักลงทุนได้รู้จักกับกองทุนตราสารทุนที่ตนเองลงทุนอยู่มากขึ้น ทั้งนี้ ตัวเลขที่จะนำเสนอส่วนใหญ่จะไม่ได้ถูกตีพิมพ์รายงานการลงทุนประจำเดือน แต่นักลงทุนก็สามารถสอบถามบริษัทจัดการฯได้ครับ

สำหรับ กองทุนตราสารทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบ long only เช่นกองทุนตราสารทุนทั่วๆไปที่ลงทุนในดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การติดตามและการวัดความเสี่ยง รวมไปถึงค่าตัวเลขต่างๆที่จะสามารถบอก characteristic ของกองทุนโดยคร่าวๆได้ มีไม่มาก และไม่ได้มีความซับซ้อนเลยครับ ตัวเลขต่างๆจะถูกคำนวณด้วยหลักพื้นฐานสถิติ อาทิเช่น ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) และการหาค่าสหสัมพันธ์ภายในระหว่างคะแนนชุดย่อย (correlation matrix)

หากเราต้องการวัดความผันผวนของราคาสินทรัพย์ใดๆก็ตาม สิ่งแรกที่ควรจะคำนึงถึงก็คือค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) พอร์ตการลงทุนในตราสารทุนก็เช่นเดียวกันครับ ค่าความเบี่ยงเบนมาตราฐานของพอร์ตการลงทุนก็คือการเอาค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานของสินทรัพย์ (หลักทรัพย์) ที่ถือครองมารวมกัน แต่ต้องบวกลบกับค่า correlation coefficient ระหว่างหลักทรัพย์แต่ละตัวด้วย เพราะหากหลักทรัพย์ที่ถืออยู่มีค่า correlation coefficient ที่ติดลบ หมายถึงว่าราคามักจะเคลื่อนไหวสวนทางกัน

ดังนั้นการถือครองหลักทรัพย์สองตัวจะทำให้ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานของพอร์ตโดยรวมลดลง ในทางปฏิบัติ ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานจะถูกนำไปใช้คิดค่า Value at Risk (VaR) ซึ่งก็คือค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ช่วงความเชื่อมั่นต่างๆ แนวคิดง่ายๆก็คือหากค่า VaR ที่ช่วงความเชื่อมั่น 99% อยู่ที่ 5% ก็หมายความว่าเรามีความมั่นใจ 99% ว่าผลตอบแทนของกองทุนจะไม่ปรับตัวลงมากกว่าอัตราร้อยละ 5 ทั้งนี้ฝ่ายควบคุมความเสี่ยงของ บลจ. อยุธยาจะคุมค่า VaR ของกองทุนตราสารทุนให้ไม่เกินอัตราร้อยละ 4 ในแต่ละวัน โดยหากมีวันไหนที่กองทุนตราสารทุนมีค่า VaR เกินตัวเลขดังกล่าว ผู้จัดการกองทุนอย่างพวกผมก็มีหน้าที่ต้องปรับพอร์ตให้ค่า VaR ลงมาต่ำกว่าอัตราร้อยละ 4 โดยทันที

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานของกองทุนเป็นเพียงแค่ค่า standalone กล่าวคือค่าดังกล่าวไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับดัชนีชี้วัด (benchmark index) เลย ดังนั้นเราสามารถพูดได้เพียงว่าความผันผวนโดยรวมของพอร์ตนั้น มากกว่า หรือน้อยกว่าดัชนีเท่านั้น ตัวเลขที่จะสามารถบอกเราได้ว่าถ้าดัชนีชี้วัดปรับตัวขึ้นหรือลงในอัตราร้อยละ [X] ผลตอบแทนของกองทุนจะปรับตัวขึ้นหรือลงในอัตราร้อยละเท่าไร ก็คือค่าเบต้า (?) ของพอร์ต ซึ่งจะถูกคำนวณจาก weighted beta ของหลักทรัพย์แต่ละตัวที่อยู่ในพอร์ตนั่นเอง ดูง่ายๆครับ ถ้าค่าเบต้าของพอร์ตอยู่ที่ 1.2 ก็หมายความว่าเราคาดการณ์ได้ว่าถ้าดัชนีฯปรับตัวขึ้นร้อยละ 1 พอร์ตการลงทุนก็จะปรับตัวขึ้น 1.2 x 1% = 1.2% ดังนั้นค่าเบต้าของพอร์ตสามารถบอกได้ว่าผู้จัดการกองทุนมีความมีความ bullish กับตลาดขนาดไหน ยิ่งเบต้าสูงก็ยิ่งหมายความว่าผู้จัดการกองทุนมองว่าดัชนีฯน่าจะปรับตัวขึ้นสูงขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขอีกชุดที่เป็นที่นิยมกล่าวถึงในการบริหารกองทุนตราสารทุน นั่นก็คือค่า Ex-Ante Tracking Error ซึ่งถูกนิยามโดยค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานของ excess return แปลง่ายๆก็คือ ความเสี่ยงที่ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนจะเบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานนั่นเอง โดยหาก tracking error ของพอร์ตการลงทุนมีค่าสูง โอกาสที่ผลตอบแทนจะมีความแตกต่างจากผลตอบแทนดัชนีก็จะสูงเช่นกัน ทั้งนี้ระดับไหนถึงจะเรียกว่าสูง หรือต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับตลาดที่กองทุนลงทุนอยู่และนโยบายการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น กองทุน index fund ที่ต้องทำหน้าที่เพียงแค่ให้ผลตอบแทนเท่ากับดัชนี ก็จะพยายามให้ค่า tracking error ของกองทุนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับศูนย์ ในขณะที่กองทุนที่บริหารแบบ active ก็จะต้องการค่า tracking error ที่เยอะกว่า เพื่อต้องการสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าดัชนี (สร้าง อัลฟ่า) นั่นเอง กองทุนภายใต้การจัดการของบลจ.อยุธยา ทุกกองทุนจะถูก monitor ค่า tracking error เป็นรายวันเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากองทุนต่างๆมีความเสี่ยงตามนโยบายที่ได้สื่อสารไปสู่ลูกค้า โดยกองทุน index fund จะถูกคุมค่า tracking error ให้ไม่เกินร้อยละ 1 ในขณะที่กองทุนตราสารทุนทั่วไปจะถูกคุมค่า tracking error ในระดับที่สูงกว่าเป็นขั้นบันไดตามนโยบายการลงทุน

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ท่านผู้อ่านก็คงจะพอเห็นภาพหลักๆของการวัดค่าต่างๆ ของกองทุนตราสารทุนแบบ long only โดยส่วนตัวแล้วเวลาบริหาร และปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน ผมจะให้ความสำคัญ กับ tracking error เป็นลำดับต้นๆ เนื่องจาก tracking error จะสามารถให้ภาพได้เลยว่าผลตอบแทนที่คาดหวังจะมีโอกาสเบี่ยงเบนจากดัชนีเท่าไร พูดอีกนัยหนึ่งก็คือพอร์ตมี benchmark risk เท่าไรนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น