xs
xsm
sm
md
lg

"อยุธยาอาเซียนเวียดนามโฟกัส"เปิดประตูสู่การลงทุนในอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับจังหวะลงทุนให้ถูกต้อง .... เป็นบทเรียนขั้นพื้นฐานของนักลงทุนทุกคน และท่ามกลางความหวาดวิตกเกี่ยวกับปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่นอกจากจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังส่งพิษไปยังอีกหลายประเทศรวมทั้งมีสิทธิที่จะลุกลามไปทั่วโลกเช่นนี้ นักลงทุนควรจะจับจังหวะลงทุนอย่างไรดี...

แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลายประเทศและหลายภูมิภาค แต่ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเพราะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปเกิดปัญหา นักลงทุนบางส่วนอาศัยจังหวะนี้โยกเงินหันมาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นภูมิภาคที่ได้รับพิษจากซับไพรม์น้อยที่สุดเพราะรายได้ไม่ได้พึ่งพากับทางสหรัฐและยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้จากการผลักดันภายในประเทศเอง

วันนี้ “MutualFund IPO” จึงขอแนะนำกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF) กองทุนใหม่ของ บลจ.อยุธยา ซึ่งจับกระแสหันออกกองทุนที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น ก็คือ กองทุนเปิดอยุธยา อาเซียน เวียดนาม โฟกัส (AYF ASEAN Vietnam Focus Fund: AYFAVN) ซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภทกองทุนหน่วยลงทุนที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund)

สำหรับกองทุนเปิดอยุธยา อาเซียน เวียดนาม โฟกัส มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนในการถือครองหน่วยลงทุนในระยะยาว โดยจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มี ชื่อว่า CAAM Funds ASEAN New Markets ที่จัดตั้งและจัดการภายใต้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์ก โดยมี Credit AgricoleAsset Management Hong Kong Limited (CAAM) เป็นผู้จัดการกองทุน โดยลงทุนในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินหลัก เนื่องด้วยเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า GDP สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้กองทุน CAAM Funds ASEAN New Markets มีเป้าหมายเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีจากการเติบโตของสินทรัพย์ที่ไปลงทุนในระยะยาว โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในบริษัทในกลุ่มประเทศอาเซียน และมุ่งเน้นความสนใจพิเศษในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเวียดนามด้วย รวมถึงกองทุนจะลงทุนในตราสารทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของทรัพย์สินของกองทุนของบริษัทที่ตั้งอยู่และมีสัดส่วนทางธุรกิจที่มีความสำคัญในประเทศอาเซียน และกองทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนตามตราสารทุน (Equity-linked notes) ในกรณีที่การลงทุนทางตรงมีข้อจำกัดของมูลค่าที่จะลงทุนในหลักทรัพย์นั้นๆ ได้

ขณะที่เงินลงทุนส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่สามารถลงทุนได้ เช่น ตราสารแห่งหนี้ หุ้นกู้แปลงสภาพ หน่วยลงทุน สินทรัพย์สภาพคล่องและ/หรือเงินฝากธนาคาร รวมถึงตราสารในตลาดเงิน เป็นต้น นอกจากนี้กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient Portfolio Management) เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) และลดค่าใช้จ่าย (Cost reduction) หรือเพิ่มผลตอบแทนโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงแก่กองทุนอย่างมีนัยสำคัญ (Return enhancement)

ทั้งนี้กองทุนเปิดอยุธยา อาเซียน เวียดนาม โฟกัสจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด CAAM Funds ASEAN New Markets เพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน หรือตามอัตราส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศกำหนด แต่ทั้งนี้จะลงทุนในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด กล่าวถึงสาเหตุที่บริษัทได้การเปิดกองทุนดังกล่าวว่า บริษัทมีความตั้งใจในการเสนอขายกองทุนนี้เนื่องด้วยการเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตสูงถึง 9% ในปี 2008 (The Economist, 31 Jan 08) สำหรับผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (20 เม.ย.50) อยู่ที่ 20.22% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.50) เทียบกับผลตอบแทน 22.44% ต่อปี ของดัชนี MSCI South East Asia (ดัชนีนี้ไม่รวมประเทศเวียดนาม)

ส่วนกลยุทธ์การเลือกลงทุนของกองทุนนี้จะเลือกลงทุนใน 6 ประเทศที่อยู่ในอาเซียนเป็นหลัก โดยมีการลงทุนในประเทศที่อยู่ในอาเซียนในสัดส่วนที่มากกว่า 65% ของเงินลงทุน ซึ่งประกอบด้วย ประเทศเวียดนาม โดยมองว่าประเทศเวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากการวางโครงสร้างพื้นฐานและการเติบโตในภาคการลงทุนโดยตรงจากทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ

ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กองทุนจะเข้าไปลงทุนนั้น มีการเติบโตในเรื่องของผลกำไรที่มั่นคง รวมถึงโอกาสการเติบโตในโครงสร้างพื้นฐาน ภาคพลังงาน supply chain และภาคการบริโภค ด้านประเทศมาเลเซีย มีโอกาสสำหรับการลงทุนแบบ buttom-up สำหรับบริษัทที่มีการปรับโครงสร้างภาคการก่อสร้าง soft commodities และ M&A play รวมถึงประเทศอินโดนีเซียที่มีโอกาสการลงทุนในภาค soft commoditiesรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ที่ยังมีทรัพยากรณ์ธรรมชาติค่อนข้างมากที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศในอนาคตอันใกล้ข้างหน้า จากการที่ราคา commodity มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสำหรับประเทศไทยนั้น ในแง่ valuations ยังเป็นโอกาสในการเลือกลงทุนแบบ buttom-up

ด้านประภาส ตันติพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าการลงทุน บลจ.อยุธยา กล่าวถึงกองทุนนี้ว่า เป็นกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนแต่จะมุ่งเน้นไปที่ประเทศเวียดนามเป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างเด่นชัดและคาดการณ์ว่าในอีก 3-5 ปี นี้เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามอาจโตได้ถึง 8-10% ซึ่งเทียบเท่ากับจีนเลยทีเดียว

นอกจากนี้เนื่องด้วยสภาพการเมืองที่มั่นคงและสภาพเศรษฐกิจที่เปิดให้นักลงทุนเข้ามมาลงทุนได้อย่างเสรีมากขึ้น ทำให้ ในอีก 3-4 ปีข้างหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์อาจจะมีการเติบโตประมาณ 300%

ประภาส ยังมองว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนยังมีความผันผวน ซึ่งปัจจัยหลักยังคงเป็นปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ แต่จากการที่เศรษฐกิจของเวียดนามไม่ได้รับผลกระทบมากอาจทำให้มีการเก็งกำไรสูงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสดีที่จะลงทุนในกองทุนนี้ซึ่งคาดว่าน่าจะโตค่อนข้างดีในระยะยาวรวมถึงยังมีความสดใสในการลงทุนและในเรื่องของผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะหากเศรษฐกิจมีการเติบโตแลัวก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นดีตามไปด้วย

ทั้งนี้ บลจ.อยุธยากำหนดเสนอขาย กองทุนเปิดอยุธยา อาเซียน เวียดนาม โฟกัส ซึ่งมีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 18 – 31 มีนาคม 2551โดยกำหนดอัตราการซื้อขั้นต่ำเพียง 10,000 บาท สำหรับผู้ที่สนใจ บริษัทจะมีการจัดเสวนาเรื่อง “อาเซียน เวีดนาม โอกาสใหม่ในการลงทุน” โดยนักลงทุนมืออาชีพ , ผู้จัดการกองทุน Mr. Reginald Tan, Director - Investments and Head of Research จาก Credit Agricole Asset Management และประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.อยุธยา ในวันพุธที่ 19 มีนาคม 2551 เวลา 14.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ สนใจเข้าร่วมฟังงานเสวนาสามารถสำรองที่นั่งได้โดยคลิกไปที่ www.ayfunds.com
กำลังโหลดความคิดเห็น