xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นผันผวนเข้าทางASP-PREMIERแอสเซทพลัสโอ่ดันยิลด์ปรับตัวเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.แอสเซทพลัสไม่กังวลภาวะดัชนีหุ้นปรับตัวลง แนะทยอยสะสมในช่วงตลาดปรับฐาน ชี้หุ้นกลุ่มแบงก์ อสังหาริมทรัพย์ และบันเทิงมาแรง เหตุรับอานิสงส์ฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ขณะเดียวกันเชื่อจะส่งผลดีต่อกองทุนตราสารหนี้ "แอสเซทพลัสพรีเมียร์"ที่กำลังเปิดขายอยู่ ณ ขณะนี้ให้ยิ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น

นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า สาเหตุที่ตลาดหลักทรัพย์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยบริษัทยังคงมีมุมมองเป็นบวก โดยเชื่อว่าจากปัจจัยภายในของประเทศและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจะส่งผลบวกต่อภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จึงยังแนะนำให้หาจังหวะในการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี

“ในช่วงการปรับฐานของตลาด เรายังคงแนะนำหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ และบันเทิง ซึ่งได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ กลุ่มพลังงาน ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น” นางลดาวรรณ กล่าว

ส่วนผลกระทบของการปรับตัวลงของตลาดที่จะมีต่อกองทุนของบริษัทนั้น ในส่วนของกองทุนหุ้นยังเน้นที่ปัจจัยพื้นฐานและ valuation ของหุ้นเป็นหลัก แต่ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อลดความผันผวนในภาวะที่ตลาดถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ กองทุนได้หาจังหวะในการทำกำไรหุ้นบางส่วนไปแล้วก่อนหน้านี้

นางลดาวรรณ กล่าวว่า กองทุนเปิดแอสเซทพลัสพรีเมียร์ (ASP-PREMIER) ที่อยู่ระหว่างการเปิดเสนอขายครั้งแรก (ไอพีโอ) ในระหว่างวันที่ 7-13 มีนาคม 2551 เป็นกองทุนรวมผสมที่ลงทุนในตราสารหนี้ แต่ให้ผลตอบแทนอิงกับการปรับตัวของตลาดหุ้น ดังนั้นจากที่คาดการณ์ว่าปีนี้ตลาดฯ น่าจะโตในระดับ 20-30% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 จุด แต่การปรับตัวลดลงของตลาดในช่วงนี้น่าจะเป็นผลดีต่อผลตอบแทนของกองทุนเช่นกัน

โดยหากตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดนี้เพียง 8% หรือประมาณ SET Index ที่ระดับ 870 จุด กองทุนก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มากที่ผู้ลงทุนในกองทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากแนวโน้มของตลาดที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีโอกาสผลตอบแทนสูงสุดที่ระดับ 8.96% ต่อปี

นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงในช่วงระหว่าง 9 เดือน ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุน เนื่องจากกองทุนจะพิจารณาดัชนี SET50 Index เทียบกับวันสุดท้ายของอายุโครงการเท่านั้น ขณะเดียวกันกองทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนก็ต่อเมื่อ SET50 Index ณ วันสุดท้ายต่ำกว่าวันเริ่มต้น ซึ่งถือเป็นการจำกัดการขาดทุน (Protect Downside) กรณีที่ตลาดปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ กองทุนแอสเซทพลัสพรีเมียร์มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงิน และ/หรือเงินฝาก และ/หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนดให้กองทุนลงทุนได้ หรือกองทุนอาจจะพิจารณาลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) ประเภทออปชั่นส์ (Options) ที่มีตัวแปรอ้างอิงเป็นดัชนี SET50 โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.โดยบริษัทจัดการจะแจ้งรายละเอียดการจ่ายผลตอบแทนจากการลงทุนในออปชั่นส์ ให้ผู้ลงทุนทราบในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ

ขณะเดียวกัน บริษัทจัดการสงวนสิทธิที่จะพิจารณาลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทอื่นที่เหมาะสมกับสภาวะการลงทุนในช่วงที่กองทุนจะลงทุน เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured note)

ส่วนผลตอบแทนของกองทุนดังกล่าวขึ้นอยู่กับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ SET50 Index (ราคาปิดของ SET50 ณ วันที่ลงทุนเทียบกับราคาปิดของ SET50 ณ วันครบกำหนดอายุของตราสารอนุพันธ์) ดังนี้ กรณีที่ 1 หากผลตอบแทน SET50 ณ สิ้นเดือนที่ 9 มากกว่า 0 แต่ไม่ถึง 25% ผลตอบแทนที่กองทุนจะได้รับเท่ากับ 0-8.96% ต่อปี ขณะที่กรณีที่ 2 หากผลตอบแทน SET50 ณ ราคาปิดวันใดวันหนึ่ง มากกว่าหรือเท่ากับ 25% (knock out) ผลตอบแทนที่กองทุนจะได้รับเท่ากับ 4.04% ต่อปี และกรณีที่ 3 หากผลตอบแทน SET50 ณ สิ้นเดือนที่ 9 เท่ากับ 0 หรือติดลบ ผลตอบแทนที่กองทุนจะได้รับเท่ากับ 0% โดยได้รับคืนเฉพาะเงินต้น

นางลดาวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนเปิดแอสเซทพลัสพรีเมียร์เหมาะสำหรับผู้ลงทุนกองทุนตราสารหนี้ต้องการหาโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนและเชื่อว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น