xs
xsm
sm
md
lg

การออมกับการลงทุน ความเข้าใจ...ที่ยังเดินสวนทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเปลี่ยนแปลงของการเงินทั่วโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และไม่มีใครคาดการณ์ได้ในตอนนี้...ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงเงินในกระเป๋าตัวเองมากขึ้น เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ...บ้างก็มองว่าเป็นโอกาสดีในการลงทุน บ้างก็มองว่าเก็บเงินสดติดตัวไว้ปลอดภัยที่สุด...ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันออกไป...แต่ความแตกต่างดังกล่าว อยู่ภายใต้จุดประสงค์เดียวกันคือ "การเก็บออมเงิน" นั่นเอง

เมื่อเร็วๆนี้ มีโอกาสได้ฟังผลการวิจัยที่น่าสนใจ เรื่อง "ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ต่อวิถีชีวิตของประชากรกับทิศทางการออมในอนาคต" โดย วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นจากสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)...ซึ่งผลการสำรวจที่ออกมา ถือว่าน่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออมของสมาชิก กบข. "ผู้จัดการรายวัน" จึงขอหยิบเอาผลงานวิจัยดังกล่าวมานำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งจะสรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออมเป็นหลัก

การออมและการวางแผนการออม
จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า การวางแผนชีวิตหลังเกษียณอายุราชการนั้น ส่วนใหญ่ได้เตรียมวางแผนชีวิตหลังเกษียณอายุ โดยระบุว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดิมกับครอบครัวของตนกับลูกหลาน รองลงมาคือ กลุ่มที่เน้นทำกิจกรรมการสันทนาการ ท่องเที่ยว สังสรรค์กับเพื่อน ส่วนที่เหลือคือผู้ที่วางแผนใช้ชีวิตที่จะกลับเข้ามาทำงานอื่นๆ ที่เตรียมสำรองไว้ หรือประกอบกิจการส่วนตัว รวมถึงทำกิจการครอบครัว และทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งแบบแผนการใช้ชีวิตหลังการเกษียณดังกล่าวนี้ ไม่พบว่ามีความแตกต่างมากระหว่างชายกับหญิง แต่พบว่ากลุ่มที่มีอายุน้อยกว่าจะวางแผนประกอบกิจการส่วนตัวหลังเกษียณอายุมากกว่ากลุ่มสูงอายุที่เน้นหนักกิจกรรมการสังสรรค์

ส่วนคำถามที่เกี่ยวกับ การมีเงินออมในปัจจุบันพบว่า ผู้หญิง มีสัดส่วนการออมเงินมากกว่าผู้ชาย และสัดส่วนของผู้มีเงินออมในปัจจุบัน เพิ่มมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า อาจมีเงินเดือนที่ไม่มากนักสำหรับการเก็บออมเท่ากับผู้ที่ทำงานมานานแล้ว และยังพบว่า ผู้ที่มีเงินออมในสัดส่วนสูงสุดได้ให้ความสำคัญกับ การออมเพื่อการศึกษาของตนเอง ของบุตรรวมถึงสมาชิกครอบครัว รองลงมาคือ การออมเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณ เพื่อการรักษาพยาบาลคนในครอบครัว เพื่อซื้อบ้านและที่ดิน เพื่อซื้อรถยนต์รวมถึงเพื่อการท่องเที่ยว และลำดับสุดท้ายคือ เพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก

นอกจากนี้ ผู้ออมเลือกการลงทุนเพื่อการออมสำหรับการเกษียณอายุ ด้วยการฝากธนาคารโดยบัญชีออมทรัพย์สูงสุด รองลงมาคือ การฝากบัญชีประจำ ( อาจเนื่องมาจากไม่มีเงินออมก้อนโตพอที่จะเป็นเงินฝากประจำ จึงใช้วิธีการฝากออมทรัพย์) การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน บ้าน หุ้นทุน หุ้นกู้ สลากออมสิน โดยที่ผู้ชายนั้น จะเลือกใช้วิธีการฝากบัญชีออมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นทุน หุ้นกู้ ขณะที่ผู้หญิง จะใช้วิธีการฝากบัญชีประจำ การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และสลากออมสิน ที่ดูว่าน่าจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าวิธีการที่ฝ่ายชายเลือก รวมถึงผู้หญิงมีสัดส่วนของการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุสูงกว่าผู้ชาย ตรงกันข้าม กับกลุ่มที่ไม่เคยวางแผนการเก็บออมเลยโดยมีเหตุผลหลักคือ ยังมีภาระที่จะต้องใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ รองลงมาเป็นเพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และที่น่าสนใจคือกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มผู้สูงอายุนั้น มีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ได้วางแผนการออมสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อยกว่าถึง 5 เท่าตัว ด้วยเหตุผลว่า ตนมีความมั่นคงทางการเงินอยู่แล้ว

สำหรับสัดส่วนร้อยละของรายได้ในแต่ละเดือนที่คิดว่าควรออมให้พอเพียงสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพหลังการเกษียณอายุนั้น ส่วนใหญ่คิดว่า ควรจะต้องออมอย่างน้อย15% ของเงินรายได้ และความคิดนี้ปรากฏชัดเจนมากในกลุ่มของผู้ตอบที่สูงอายุ (50-59 ปี) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ตอบกลุ่มอายุน้อยลงมา ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ผู้อยู่ในวัยใกล้เกษียณ มองเห็นความจำเป็นจะต้องมีเงินออมในสัดส่วนมากพอสำหรับเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ โดยผู้ตอบในกลุ่มอายุนี้ อาจมีรายได้สูงกว่าผู้ตอบที่อายุน้อยกว่าซึ่งสามารถจัดสรรให้เป็นเงินออมได้มากกว่า รวมทั้ง ผู้ตอบในวัยสูงอายุ ที่คิดว่า ปัจจุบันนี้ ตนเองได้มีการเตรียมออมเงินเพื่อการเกษียณอายุอยู่ในระดับปานกลาง ดี และดีมาก มีสัดส่วนสูงกว่าผู้ตอบอายุน้อย

ส่วนอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ที่ยังไม่อาจออมเงินได้ก็คือ มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ยังต้องให้ความสำคัญและ ยังมีเงินรายได้ไม่มากพอโดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและกลุ่มสมาชิกอายุน้อย สำหรับความคาดหมายในชีวิตความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุ ผู้ตอบเกือบครึ่งคิดว่า ความเป็นอยู่ของตนเองหลังเกษียณอายุน่าจะดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีความสอดคล้องกับผู้ตอบส่วนใหญ่ ที่แสดงความ มั่นใจ และมั่นใจมากว่า ชีวิตหลังเกษียณอายุของตนจะมีความมั่นคง ซึ่งจะพบมากในกลุ่มผู้ตอบชาย

ผลสำรวจในเรื่องค่านิยมและวิถีการดำเนินชีวิตนั้น พบว่า ในกลุ่มอายุ 35-39 ปี ที่มีค่านิยมและวิถีการ ดำเนินชีวิตในรูปแบบของผู้ยึดมั่นในความเชื่อ ผู้ประสบความสำเร็จ ผู้มุมานะ และนักคิด เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงสุดสุด ซึ่งมีความรู้ด้านการลงทุน ความเข้าใจในเครื่องมือการลงทุนและผลตอบแทนในระดับต่ำ แต่มีทัศนคติที่ดีต่อการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงได้ดีกว่า โดยควรที่จะได้รับการอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการในการวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องมือการลงทุนประเภทต่างๆ มากกว่าที่จะทำการลงทุนโดยอาศัยความเชื่อหรือความคุ้นเคย

ส่วนในกลุ่มอายุ 25-34 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ในกลุ่มที่มีวิถีการดำเนินชีวิตแบบผู้มุมานะ พบว่ามีความรู้ด้านการลงทุนและเครื่องมือในการลงทุนน้อย อันอาจเนื่องจากยังมีรายได้น้อย และยังไม่เห็นความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณอายุ เพราะเป็นเรื่องไกลตัว จึงควรที่จะให้ความรู้ที่เน้นการปลุกความคิด หรือสร้างแรงจูงใจ และเน้นให้ความสำคัญในการเก็บออม เพื่อการเกษียณอายุที่มีคุณภาพ

และในกลุ่มสูงวัย 50-59 ปี ที่ใกล้การเกษียณอายุราชการ จะเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ จึงควรเน้นให้การอบรมเพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับเครื่องมือทางการลงทุน โดยเฉพาะเครื่องมือการลงทุนระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำ

การจัดสรรเงินสมทบ และการบริหารเงินออม
พบว่าตัวอย่างของข้าราชการที่ปัจจุบันจ่ายเงินสมทบ 3% และเมื่อเกษียณอายุแล้ว จะมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าเมื่อยังไม่เกษียณอายุ แต่หากจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 จะทำให้ข้าราชการผู้นี้มีเงินรายได้หลังเกษียณอายุเพิ่มขึ้นกว่ารายได้ปัจจุบัน จากกรณีตัวอย่างพบว่าโดยรวม ผู้ตอบเกือบครึ่ง ยินดีให้หักเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็น 6% และประมาณ 30% ยินดีให้หักสมทบ 8-10% ผู้ตอบส่วนใหญ่ยังเห็นว่า กบข. ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกออมเงินเพิ่มขึ้นโดยสมัครใจ และ กบข. ควรเป็นผู้บริหารเงินก้อนนี้ให้ และอีกมาตรการหนึ่งคือ ควรให้มีการปรับอัตราการจ่ายเงินสมทบให้พอเพียง รวมถึง ควรมีการผลักดันให้รัฐบาลยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนเงินสะสมเพื่อการเกษียณให้สูงขึ้น

ส่วนการบริหารจัดการกับเงินบำเหน็จที่จะได้รับจาก กบข. เมื่อเกษียณอายุ พบว่า ผู้หญิง และกลุ่มอายุวัยกลาง (35-49 ปี) มีแนวโน้มที่จะเน้นการฝากเงินมากกว่าชาย โดยใช้วิธีการฝากธนาคารบัญชีประจำ การซื้อสลากออมสิน และการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ส่วนผู้ชาย เน้นการลงทุนในการใช้เงินสด และการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์/ที่ดิน/บ้าน

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ชายเลือกวิธีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) และพันธบัตร มากกว่าผู้หญิง ขณะที่ผู้หญิง มีแนวโน้มเลือกลงทุนโดยการซื้อทองแท่ง/ทองรูปพรรณ และอัญมณี

ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนทางการเงิน
ในภาพรวม ทุกกลุ่มอายุ ในสัดส่วนที่มากพอควร ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนทางการเงิน รวมทั้งผู้ที่มีความรู้พอควรถึงระดับรู้อย่างดี ก็พบว่ายังมีความรู้ที่ไม่ค่อยถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของผู้ที่มีความรู้บ้างเล็กน้อย พบว่าผู้ที่มีอายุน้อย และเพศชาย มีแนวโน้มที่จะมีความรู้ด้านการลงทุนมากกว่ากลุ่มผู้มีอายุมาก และเป็นผู้หญิง แต่เมื่อถามความรู้เชิงลึกด้านการลงทุนเพิ่มอีก 2 ประเด็น พบว่า มีผู้ตอบคำถามใน 2 ประเด็นถูกต้องจำนวนน้อยมาก (โดยผู้ชาย มีสัดส่วนของผู้ที่ตอบคำถามถูกมากกว่าผู้ตอบหญิง และในกลุ่มอายุมาก มีสัดส่วนตอบคำถามถูก มากกว่าคนที่อายุน้อย)

นอกจากนี้ เมื่อถูกถามถึงระดับความเสี่ยงของเครื่องมือการลงทุนประเภทต่างๆ โดยจำแนกคำตอบตามเพศ พบว่าในบรรดาการลงทุนประเภทต่างๆ ทั้งชายและหญิง รู้เรื่องเกี่ยวกับความเสี่ยงของกองทุน RMF และ LTF น้อยที่สุด และผู้ชาย มีความรู้เรื่องระดับความเสี่ยงในการลงทุนในประเภทต่างๆ น้อยกว่าผู้หญิง ยกเว้นเรื่องกองทุน กบข. กองทุน RMF และ LTF และเมื่อจำแนกออกตามกลุ่มอายุ พบว่าในกลุ่มสูงอายุ จะไม่ทราบถึงระดับความเสี่ยงของเครื่องมือการลงทุนแต่ละประเภท ยกเว้นเรื่องการลงทุนในกองทุน RMF และกองทุน LTF ส่วนวัยกลาง (35 – 49 ปี) มีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ทราบถึงระดับความเสี่ยงของการลงทุนในสองกองทุนนี้ น้อยที่สุด และเมื่อถูกถามถึงระยะเวลาที่ควรลงทุนสำหรับเครื่องมือในการลงทุนแต่ละประเภท พบว่า ความรู้ที่มีเกี่ยวกับระยะเวลาในการลงทุนแต่ละประเภท ผันแปรแตกต่างกันไปตามเพศและอายุ

แต่โดยสรุปแล้ว พบว่า ความรู้ของสมาชิก กบข. ส่วนใหญ่เกี่ยวกับระดับความเสี่ยงที่มี สำหรับการลงทุนแต่ละประเภท ระยะเวลาที่ควรลงทุน ระดับความเหมาะสมในการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ และความบ่อยครั้งในการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ เหล่านี้ ยังอยู่ในระดับน้อยมาก และความรู้ที่มีอยู่ในหลายเรื่องยังไม่ค่อยถูกต้องมากนัก

หมายเหตุ
ทั้งนี้ ผลการวิจัยดังกล่าว ทำโดยคัดเลือกจากการสุ่มตัวอย่างทีมีการวางเเผนการเก็บข้อมูลข้าราชการต่างรุ่น ในช่วงเเละหลังการเปลี่ยนเเปลงโครงสร้างทางอายุประชากรของไทย คือ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงช่วงการประกาศใช้นโยบายของประชากรไทยปี 2513 เเบ่งได้ดังนี้ 1.กลุ่มอายุ 25-34 ปี 2.กลุ่มอายุ 35-49 ปี 3.กลุ่มอายุ 50-59 ปี เเละใช้วิธีการสำรวจข้อมูลครั้งนี้ โดยวิธีการตอบเเบบสอบถามส่งคืนทางไปรษณีย์

โดยในการวิจัยครั้งนี้มีผู้ส่งแบบสอบถามคืนมา 2,691 ราย เป็นชาย 53.25% และหญิง 46.57% ซึ่งเมื่อเเยกตามจำนวนอายุที่กำหนดไว้ พบว่ามีผู้ตอบในกลุ่มอายุ 25-34 ปีอยูที่ 19.84% กลุ่มอายุ 35-49 ปีอยู่ที่ 56.48% และกลุ่มอายุ 50-59 ปีมีผู้ตอบคำถามวิจัยเพียงเเค่ 23.67%**

กำลังโหลดความคิดเห็น