xs
xsm
sm
md
lg

แนะนำบทบาทการกำกับดูแล การปฏิบัติงานการจัดการกองทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
เสาวณีย์ เต็งวงษ์วัฒนะ
ผู้อำนวยการฝ่าย กลุ่มกำกับและดูแลการปฎิบัติงาน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา จำกัด
saowanee@ayf.co.th

การกำกับดูแลการปฏิบัติงานการจัดการกองทุน เป็นงานที่มีความสำคัญอย่างมากงานหนึ่งสำหรับบริษัทจัดการกองทุนทุกแห่ง เหตุที่มีบทบาทและมีความสำคัญมาก เป็นเพราะบริษัทจัดการกองทุนดำเนินธุรกิจโดยนำเงินลงทุนของลูกค้าที่ได้มอบความไว้วางใจไว้กับบริษัทจัดการ ให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเงินลงทุนของลูกค้า บริษัทจัดการจึงจำเป็นจะต้องมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้แก่ลูกค้า
หน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทจัดการ หรือที่เรียกกันว่า Compliance unit จึงเป็นหน่วยงานที่ถูกจับวางไว้ให้มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมและดูแลการบริหารจัดการของทุกหน่วยงานในบริษัทจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและตามกฎกติกาที่วางไว้ เสมือนเป็นหูเป็นตาชั้นใน หรือ “ผู้คุ้มกฎ” ที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้า

กลไกการทำงาน Compliance จะเป็นศูนย์กลางประสานงาน กับหน่วยงานภายใน กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน กลต.”) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลและวางกฎกติกาอีกชั้นหนึ่ง

ลักษณะโครงสร้างของหน่วยงาน Compliance จะต้องเป็นหน่วยงานอิสระแยกจากหน่วยงานงานอื่น โดยขึ้นตรงและรายงานตรงต่อคณะกรรมการบริษัท ในภาพรวม Compliance มีขอบเขต หน้าที่ และความรับผิดชอบ ดังนี้

1. ออกนโยบายและระเบียบปฏิบัติและกำกับดูแลหน่วยงานภายในทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ด้านการจัดการลงทุน (Investment) ด้านการตลาด (Marketing) ด้านการปฏิบัติการ (Operation) รวมถึงพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและจรรยาบรรณการจัดการลงทุนของกองทุน

2. ควบคุมและตรวจสอบการบริหารการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนและอัตราส่วนการลงทุน

3. วางแผนตรวจสอบและจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ

4. ควบคุมและบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการและจัดให้มีมาตรการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามขอบเขต หน้าที่ และความรับผิดชอบของ Compliance ที่กล่าวข้างต้นของบริษัทจัดการแต่ละแห่งอาจจะมีความแตกต่างกันไปตามการจัดโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม

แต่หลักการสำคัญที่ต้องนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ซึ่งเป็นแนวทางที่สำนักงาน กลต. ได้วางไว้ มีหลักการสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก หลักความซื่อสัตย์สุจริต (Duty of Loyalty)
บริษัทจัดการต้องลงทุนให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายการลงทุน มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจลงทุน โดยให้ความสำคัญแก่ประโยชน์ของลูกค้าเหนือผลประโยชน์ของตน ปฏิบัติต่อลูกค้าทุกรายอย่างเป็นธรรม คำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามมาตรฐานสากล

ประการที่สอง หลักความระมัดระวัง (Duty of Care)
บริษัทจัดการควรใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่จัดการ โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับหน้าที่ มีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนแก่ลูกค้าอย่างครบถ้วน

ซึ่ง Compliance จะต้องคอยกำกับดูแลโดยใช้หลักการเหล่านี้เป็นที่ตั้งในการทำงาน และนำมาพัฒนาสร้างเป็นระบบงานรองรับการจัดการกองทุนอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพเพียงพอ และมีมาตรฐานที่ยอมรับได้

ท่านผู้อ่านคงจะได้รู้จักหน้าตากับภาระหน้าที่ของ Compliance กันบ้างแล้ว ว่า Compliance เป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบต่างๆ เป็นกลจักรหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจบริษัทจัดการให้ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวัง หวังว่าผู้อ่านคงจะมั่นใจได้มากขึ้นที่จะตัดสินใจลงทุนในกองทุนต่างๆ ของบริษัทจัดการ อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนนะคะ
กำลังโหลดความคิดเห็น