บลจ.ทหารไทยเล็งตั้งกองทุนเซกเตอร์ฟันด์ลุยหุ้นกลุ่มพลังงาน ชูกลยุทธ์บริหารแบบ Passive ซื้อแล้วถือยาวโดยไม่มีการขายออก โดยเน้นเลือกหุ้นสภาพคล่องดีและมาร์เกตแคปน่าสนใจ 10 ตัว หวังสร้างผลตอบแทนที่ดีระยะยาว คาดระดมทุนได้ครึ่งปี 51 หลังแก้เกณฑ์กรุ๊ปลิมิต เปิดทางกองทุนรวมลงทุนหุ้นกลุ่มเดียวกันเกิน 30%
นายกัมพล จันทร์วิบูลย์ ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนออกกองทุนหุ้นในประเทศที่มีลักษณะเป็นกองทุนเซกเตอร์ฟันด์เพิ่มอีก 1 กองทุนมูลค่าโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวจะเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานประมาณ 10 ตัว และจะบริหารจัดการแบบ Passive คือ ซื้อแล้วถือยาวโดยไม่มีการขายออก แล้วปล่อยให้เอ็นเอวีเปลี่ยนแปลงไปตามราคาตลาด
ทั้งนี้ ในการพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นแต่ละตัว บริษัทจะดูจากสภาพคล่องและมาร์เกตแคปของหุ้นตัวนั้นเป็นหลัก แม้จำนวนหุ้นพลังงานที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุับัน ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในหุ้นกลุ่มปตท. เป็นหลักก็ตาม
ส่วนเหตุผลที่เน้นการบริหารกองทุนแบบ Passive เพราะเรามองว่าในอนาคตหรืออีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งหากนักลงทุนมีมุมมองเช่นเดียวกัน ก็ไม่มีเหตุผลที่การซื้อหุ้นแล้วถือไว้ในระยะยาวจะไม่น่าสนใจ
"กองทุนนี้จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่มองเห็นโอกาสการเติบโตของประมาณในอนาคตถึงแม้การลงทุนของกองทุนนี้ จะเป็นการซื้อแล้วถือยาวโดยไม่มีการขายออก ก็เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งการที่เราเลือกลงทุนในเซกเตอร์พลังงาน เพราะว่าการลงทุนของกองทุนหุ้นปัจจุบันก็กระจุกตัวอยู่ในหุ้นพลังงานอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าออกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนชัดเจนว่าลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานไปเลยดีกว่า"นายกัมพลกล่าว
ส่วนความกังวลที่ว่าในอนาคตหุ้นพลังงานอาจจะลดความสำคัญลงเช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการจัดตั้งเป็นเซกเตอร์ฟันด์ไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะเป็นไปได้ แต่คงจะไม่หายไปเลย เพราะเชื่อว่ายังไงทุกคนยังต้องซื้อหุ้นพลังงานอยู่ ส่วนราคาที่ปรับขึ้นมาค่อนข้างสูงแล้ว หากมองย้อนกลับไปหุ้นของ ปตท. เอง จะเห็นว่าราคาขยับขึ้นมาจาก 35 บาทมาอยู่ที่ระดับกว่า 300 บาทได้ในปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้เอง ราคาก็เคยขึ้นไปถึงระดับ 400 บาทด้วยเช่นกัน
นายกัมพลกล่าวว่า บริษัทจะเปิดขายกองทุนดังกล่าวหลังจากมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การลงทุนแบบกรุ๊ปลิมิตแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเดิมกำหนดไว้ว่า ห้ามกองทุนเข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันเกิน 30% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) แต่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขเพื่อให้กองทุนรวมสามารถลงทุนได้เพิ่มอีก 10% จากเกณฑ์มาตรฐานของเชกเตอร์ที่กองทุนเข้าไปลงทุน เช่น เซกเตอร์พลังงานในปัจจุับันมีหุ้นกลุ่ม ปตท. อยู่ 70% ดังนั้น หากกฏหมาแก้ไขแล้ว กองทุนจะสามารถลงทุนได้เพิ่มอีก 10% เป็น 80% อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ที่กำหนดให้กองทุนรวมสามารถลงทุนในหุ้นแต่ละตัวได้เกิน 25% ของเอ็นเอวียังคงเดิมอยู่
ทั้งนี้ คาดว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะได้ข้อสรุปประมาณเดือนเมษายน ซึ่งหลังจากนั้นในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทน่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนได้ ซึ่งภายหลังจากระดมทุนได้แล้ว เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดในกรณีที่กองทุนจะเข้าไปซื้อหุ้นครั้งแรก เพราะในเบื้องต้นคาดว่าจะจำนวนเงินที่ระดมทุนมาได้จะไม่มากนัก แต่หากเต็มมูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท บริษัทก็มีวิธีลงทุนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นในขณะนั้น
นายกัมพลกล่าวว่า หลังจากจัดตั้งกองทุนดังกล่าวแล้ว ในระยะต่อไปจะขยายกองทุนไปสู่เซกเตอร์อื่นๆ มากขึ้น ซึ่งการลงทุนดังกล่าว ได้รับความนิยมและมีจำนวนกองทุนออกมาค่อนข้างมากในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีการลงทุนในดัชนีของแต่ละประเทศแล้ว ยังมีการลงทุนแยกออกมาเป็นเซกเตอร์ด้วย
เมื่อเร็วๆนี้ นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะพัฒนาการบริหารกองทุนของตัวเองให้ก้าวขึ้นอีกระดับ เพื่อเป็นการเพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารโดยที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงให้กับกองทุน หรือที่เรียกว่า “Enhance Index” ซึ่งไม่ได้ทำให้สไตล์การบริหารกองทุนของบริษัทที่เป็นแบบเชิงรับ (Passive Management) เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่ประการใด
โดยบริษัทจะมองหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากความแตกต่างของราคาตลาดที่ไม่สมดุล (Miss Pricing)ให้เกิดประโยชน์ เช่น ความแตกต่างระหว่างดัชนี SET50 กับดัชนี SET50 Futures เป็นต้น โดยเราจะมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นนี้ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ทั้งที่มีในประเทศและต่างประเทศเพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนโดยที่ความเสี่ยงเท่าเดิมหรือไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนแต่ประการใด