xs
xsm
sm
md
lg

แปลงหยาดเหงื่อเป็นทรัพย์สิน (Financial Literacy 3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ดร. สมจินต์ ศรไพศาล
บลจ. วรรณ จำกัด

ตอนนี้เป็นตอนที่สามของความรู้ทางการเงินอันเป็นส่วนของความตั้งใจ ETF2 (Educating Thais towards Financial Freedom) ในตอนที่แล้ว เราได้คุยกันถึงอัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio) ว่าให้เอารายได้จากทรัพย์สินตั้งแล้วหารด้วยรายจ่าย ยิ่งได้ค่ามากเท่าใด ก็แสดงถึงความมั่งคั่งที่มากขึ้นเท่านั้น

เจ้า Wealth Ratio นี้ ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าในการไต่บันไดความมั่งคั่งนั้น เราทำได้สองทางคือ 1) สร้างทรัพย์สินเพิ่ม และ 2) ลดรายจ่ายลง วันนี้เราจะมาพูดถึงการสร้างทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกันครับ

ในการสร้างทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนั้น เราต้องมีเงินเหลือให้สร้างทรัพย์สินก่อน นั่นหมายความว่า เราจะต้องอดออมควบคุมค่าใช้จ่ายให้ไม่เกินรายได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จะมีเงินเหลือเก็บไว้ลงทุน

เมื่อมีเงินเหลือเก็บแล้ว เราต้องรู้ต่อไปว่า เงินที่เหลือนี้ นำไปลงทุนสร้างขุมทรัพย์ได้สามรูปแบบใหญ่ๆ คือ

ขุมทรัพย์หมายเลข 1 คือ หนึ่งสมอง สองมือของเรานี่เองแหละ ซึ่งเราสามารถสร้างขุมทรัพย์นี้ได้ด้วยการศึกษาและประสบการณ์ คนที่หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และยินดีที่จะลุยงานยาก งานใหม่ พร้อมที่จะขันอาสาทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ก็จะสามารถสร้างประสบการณ์ให้เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง ผิดกับคนทั่วไปที่กลัวงานหนัก เลี่ยงงานที่ท้าทาย ก็ย่อมสูญเสียโอกาสในการสั่งสมประสบการณ์ของตนไปอย่างน่าเสียดายที่สุด

ในภาพยนต์เกาหลีที่โด่งดังไปทั่วโลก จังกึม ซึ่งเป็นหมอหญิง (นางพยาบาล) ผู้ใฝ่รู้ในวิชาแพทย์ ได้มีโอกาสพิเศษในการักษาพระราชาจากความเจ็บป่วยอันเป็นปริศนา พระราชาจึงชวนให้เป็นหมอในวังหลวง จังกึมสร้างความแปลกใจให้กับทุกคนด้วยการปฏิเสธงานอันทรงเกียรติและน่าสุขสบายนั้นเสีย แต่กลับขันอาสาไปเป็นแพทย์ชนบทแทน เหตุผลที่จังกึมให้ หากเธอเป็นหมอในวังหลวงซึ่งมีหมออาวุโสมากมาย แต่มีคนไข้เพียงเล็กน้อย ย่อมมีโอกาสในการได้ทำงานน้อยมาก แต่แพทย์ชนบท จะมีชาวบ้านมาเป็นคนไข้มากมาย นอกจากช่วยคนได้มากกว่าแล้ว จังกึมก็มีโอกาสทำงานเต็มที่กว่า ...เธอเลือกสร้างประสบการณ์มากกว่าความสบาย ความสามารถของจังกึมจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหมอผู้โด่งดัง ได้รับพระราชทานนามว่า แดจังกึม และทำประโยชน์ให้กับวงการแพทย์เกาหลีอย่างมากมาย

ขุมทรัพย์หมายเลข 2 คือ ขุมทรัพย์ที่จัดอยู่ในประเภททรัพย์สินถาวรต่างๆเช่น การมีอพาร์ตเมนท์ให้เช่า มีแท็กซี่ให้เช่า เป็นต้น ทรัพย์สินประเภทนี้เป็นทรัพย์สินที่บางคนก็มีความถนัด มีตัวอย่างที่น่าสนใจอันหนึ่ง คือ คิม คิโยซากิ ภรรยาของโรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้เขียนหนังสือพ่อรวยสอนลูก (Rich Dad Poor Dad) มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คิมเกิดอยากได้รถเบนซ์ขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นคิมเองก็เก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง พอจะดาวน์รถเบนซ์ได้แล้ว หลังจากปรึกษาหารือกับสามี ในที่สุดคิมก็ตัดสินใจที่จะยังไม่ซื้อรถเบนซ์ในทันที จึงเอาเงินดังกล่าวไปดาวน์อพาร์ตเมนท์ และนำอพาร์ตเมนท์นั้นไปให้เช่า หลังจากทำอย่างนี้ได้ระยะหนึ่ง คิมก็สามารถเก็บเงินไปดาวน์อพาร์ตเมนท์ห้องที่สอง คิมก็ทำการซื้ออพาร์ตเมนท์เพิ่มขึ้นและก็ให้เช่าต่อไป เธอทำเช่นนี้อยู่ 3 – 4 ปี และในที่สุดเธอก็มีอพาร์ตเมนท์หลายห้อง โดยที่ค่าเช่าที่เธอได้เก็บจากอพาร์ตเมนท์นั้น พอที่จะมาผ่อนรถเบนซ์ เธอจึงเริ่มซื้อเบนซ์อย่างที่เธอต้องการ แต่การที่เธอขับรถเบนซ์คันนั้นช้าไปประมาณ 3 – 4 ปีนั้น เธอขับมันด้วยความสบายใจกว่า เพราะตอนนี้เธอมีเครื่องผ่อนรถเบนซ์ ก็คืออพาร์ตเมนท์ซึ่งเธอได้สร้างเป็นทรัพย์สินไว้นั่นเอง นี่คือขุมทรัพย์แบบที่สอง ที่ทำให้เกิดรายได้แบบค่าเช่า ท่านผู้อ่านบางคนอาจจะมีทรัพย์สินหรือนึกไปถึงทรัพย์สินที่แตกต่างจากนี้บ้าง บางคนเป็นนักเขียนหนังสือ บางคนเป็นนักแต่งเพลง บางคนเขียนเกมส์คอมพิวเตอร์ สินทรัพย์เหล่านี้ก็สามารถนำมาซึ่งรายได้พวกค่าลิขสิทธิ์ให้กับเราได้เช่นกัน

ขุมทรัพย์หมายเลข 3 คือ ขุมทรัพย์ที่เป็นเครื่องมือทางการเงิน เช่น การมีหุ้น การมีตราสารหนี้ การมีพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หรือเงินฝากธนาคาร ตลอดจนกองทุนรวม และอีทีเอฟ (ในเมืองไทย เรามี TDEX ซึ่งคือ Equity ETF ตัวแรกของประเทศไทย ลงทุนในหุ้นใหญ่ 50 ตัว สามารถซื้อขายได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่งตลอดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์) ทรัพย์สินเหล่านี้สามาถนำมาซึ่งดอกเบี้ยและเงินปันผล ขุมทรัพย์ประเภทที่สามนี้เอง จัดได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพราะทรัพย์สินเหล่านี้สามารถลงทุนได้ง่ายมีความสะดวกในการลงทุน

จากแผนภาพดังกล่าว จะเห็นได้ว่าทางซ้ายมือนั้น เป็นการเขียนงบกำไรขาดทุนง่ายๆ ของพวกเราแต่ละคน เอารายได้ตั้งแล้วหักด้วยรายจ่าย ทุกคนควรจะคุมรายจ่ายให้ได้จะได้มีกำไรเหลือ แล้วเอากำไรนั้น (ซึ่งก็คือเงินที่เหลือไว้เก็บออมนั่นเอง) ไปลงทุนได้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็คือขุมทรัพย์ทั้งสามประเภทที่ผมได้เรียนไว้ การที่เรามีการศึกษาดีขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น เงินเดือนโบนัสก็ย่อมจะมากขึ้นตามมา การที่เรามีทรัพย์สินต่างๆ ที่เอาไว้ให้เช่า ไว้เก็บค่าลิขสิทธิ์มากขึ้น รายได้ประเภทนี้ก็จะสูงขึ้นด้วย และท้ายที่สุดทรัพย์สินประเภทหุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก กองทุนรวมและอีทีเอฟก็เช่นกัน เมื่อเรามีมากขึ้น เงินปันผลและดอกเบี้ย ก็จะมากขึ้นตามมา ขุมทรัพย์ทั้งสามนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราสามารถที่จะเลือกลงทุนได้เสมอ บางอันก็ใช้สตางค์ บางอันก็ไม่จำเป็นต้องใช้สตางค์ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ เมื่อขุมทรัพย์เหล่านี้มีความเข้มแข็งขึ้น รายได้ของเราก็จะมากขึ้น เมื่อรายได้ของเรามากขึ้น กำไรในเดือนต่อไปของเราก็จะมากขึ้น เมื่อกำไรของเรามากขึ้น เราก็จะสามารถลงทุนต่อได้นั่นเอง นี่เป็นวงจรแห่งการสร้างความมั่งคั่งของพวกเราทุกคน และผมอยากจะเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า การแปลงหยาดเหงื่อเป็นทรัพย์สิน

และในโอกาสนี้เป็นโอกาสที่ใกล้ตรุษจีน ผมเลยอยากจะย้ำเตือนความคิดที่สำคัญของการสร้างความมั่งคั่งว่า การสร้างความมั่งคั่งนั้น ต้องการความรู้ทางการเงิน วอร์เร็น บัฟเฟตต์ บอกว่า เขาเริ่มต้นลงทุนเมื่ออายุ 11 ปี และเขาคิดว่าเขาเริ่มต้นช้าเกินไป สิ่งที่วอร์เร็นบอกนั้น ชี้ให้เห็นว่า การมีความรู้ทางการเงินนั้น ยิ่งมีเร็วเท่าไร ยิ่งดีเท่านั้น พวกเราส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการเงินในวัยเยาว์อย่างบัฟเฟตต์ แต่เราสามารถส่งมอบโอกาสนี้ไปสู่เยาชนรุ่นหลัง ให้พวกเขาเหล่านั้น ได้มีโอกาสมีความรู้ทางการเงินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นโปรทางการเงิน เพราะรู้จักออมเงิน รู้จักลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย
 
ในธรรมเนียมของชาวจีนนั้น ในวันตรุษจีนจะมีการให้อั่งเปากัน ซึ่งอั่งเปานั้นก็คือ ซองแดง ซึ่งใส่ไว้ด้วยเงินสด ลูกหลานทุกคนก็จะรอคอยวันนี้ เหมือนกับที่เด็กฝรั่งเขารอคอยวันคริสต์มาส ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านให้ใช้โอกาสทำนองนี้ ในวัฒนธรรมของท่านในการที่จะมอบอั่งเปาที่มีค่ามากที่สุดให้กับลูกหลานของเรา นั่นก็คืออั่งเปาที่บรรจุไว้ด้วยความรู้ทางการเงิน และผมเชื่อว่าการให้กองทุนรวมหรืออีทีเอฟ (TDEX) น่าจะเป็นการให้ที่เหมาะสมอย่างมากในยุคสมัยนี้ ท่านสามารถจะหาซื้อกองทุนรวมได้ง่ายๆ ตามบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมต่างๆ (บลจ.) ในปัจจุบันหลายๆ บลจ. ซึ่งรวม บลจ. วรรณ ของเราด้วย ก็จะมี Fund Gift Card ที่เป็นลักษณะของของขวัญที่ให้ในรูปของกองทุน ผมเชื่อเหลือเกินว่าการให้ของขวัญในลักษณะของกองทุนนั้น เป็นอั่งเปาอันดีเลิศ เพราะนอกเหนือจากจะทำให้ผู้รับดีใจแล้ว ยังจะทำให้เกิดการจุดประกายในเรื่องของการลงทุน และในที่สุด เมื่อพวกเขาได้มีโอกาสเห็นกองทุนรวมหรืออีทีเอฟ (TDEX) ของเขาค่อยๆ มีค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต ความสนใจใฝ่รู้เรื่องการเงินการลงทุนต่อไป ถ้าจะเรียกอั่งเปาวิเศษนี้ว่าอั่งเปาสร้างมหาเศรษฐีก็คงพอได้นะครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น