xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวมทางเลือกใหม่โบรกฯ พาเหรดตั้งบลจ.ปั๊มรายได้รับเปิดเสรีค่าคอมฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โบรกเกอร์ ปรับเกมรับเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นปี 2555 แห่จัดตั้ง บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) หวังใช้เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ ทดแทนส่วนที่ปรับลดลงไป จนทำให้ราคาหุ้นกลุ่มทรัพย์ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ระบุต้องให้เวลารัฐบาลใหม่ 2- 3เดือนในการพิสูจน์ฝีมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แม้หลายฝ่ายฟันธงไม่ครบเทอม

แหล่งข่าวผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง กล่าวถึงกระแสการจัดตั้งบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.)ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่จะเปิดให้บริการภายในปีนี้ ว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการเปิดเสรีใบอนุญาตและการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นในปี 2555 ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)นั่นเองซึ่งการเปิดเสรีดังกล่าว เป็นผลบังคับทางอ้อมให้บริษัทหลักทรัพย์ จำเป็นต้องหาวิธีการการสร้างรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากรายได้จากค่าคอมมิชชั่น ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ในเวลานี้

“ปีนี้จะมีโบรกเกอร์หลายบริษัทที่จะเดนหน้าขอยื่นเรื่องเสนอกระทรวงการคลัง และก.ล.ต.ในการขออนุมัติจัดตั้งบริษัทจัดการกองทุน เพราะธุรกิจกองทุนถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี อีกทั้งหลายฝ่ายเชื่อว่าธุรกิจประเภทนี้จะสามารถสร้างรายได้ก้อนโตให้แก่บล.นอกเหนือจากรายได้ค่าคอมมิชชั่นนั่นเอง”
ทั้งนี้พบว่า ณ ปัจุบัน มีหลายบรัทหลักทรัพย์ที่เตรียมเปิดให้บริการในด้านธุรกิจจัดการกองทุน เริ่มตั้งแต่ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KEST) และ บล.ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) (US) ฯ ส่วน บริษัทหลักทรัพย์ที่ทำการจัดตั้งบริษัทจัดการลงทุนไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ บลจ.แอส เซท พลัส จำกัด,บลจ. ฟินันซ่า จำกัด ,บลจ.ซีมิโก้ จำกัด และ บลจ.ฟิลลิป เป็นต้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากสังเกตุให้ดีในช่วง 2-3ปีที่ผ่าน หลายหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พยายามผลักดัน หรือหาแนวทางให้ให้บริษัทโบรกเกอร์สามารถนำไปประกอบธุรกิจในช่องทางอื่นๆเพิ่มเติม เห็นได้จาก การเพิ่มสินค้าใหม่ๆเข้ามาสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นออปชั่น หรือ ฟิวเจอร์ และอื่นๆเข้ามา

ส่วนกรณีที่ในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์มีการเคลื่อนไหวเพียงแค่เล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆนั้น เป็นผลมาจากผุ้ลงทุนรับรู้ถึงการเปิดเสรีในการแข่งขัน จึงต่างรอดูท่าที และแผนการดำเนินงานของบริษัทโบรกเกอร์ต่างๆก่อนว่าจะดำเนินธุรกิจไปในแนวทางใด

“การจัดตั้งบริษัทจัดการกองทุนในช่วงนี้ สำหรับบล.หลายๆบริษัท ถือเป็นกลยุทธ์ หรือแผนที่วางเป้าหมายเอาไว้ก่อนหน้านี้ เพราะต้องการให้ผู้บริหาร และพนักงานมีความคุ้นเคยกับตลาดให้มากขึ้น และเมื่อถึงเวลาเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นขึ้นมาจริงๆ บริษัทเหล่านี้ก็จะสามารถอยู่รอดในธุรกิจได้ ขณะเดียวกันในธุรกิจกองทุนรวมการแข่งขันทางด้านธุรกิจก็จะเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจถึงขั้นรุนแรง เพราะทุกบริษัทต้องการที่จะลูกค้าใหม่เข้ามาอยู่กับตัวเอง ดังนั้นบลจ.เก่าที่ก็จะพยายามรักษาฐานลูกค้าของตัวเองไว้ให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้บลจ.ใหม่ต้องพยายามอย่างยิ่งในการเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดนี้”

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ได้เคยกล่าวว่า เพื่อที่จะเป็นโบรกเกอร์ที่มีความครบวงจร ในเรื่องของสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ โดยทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพื่อเสริมบริการทางด้านสินค้าให้ครบทุกด้าน ซึ่งลูกค้าของโบรกเกอร์สามารถที่จะเลือกสินค้าสำหรับการลงทุนได้หลากหลาย และเป็นการรองรับการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ รวมทั้งยังสามารถช่วยในการกระจายรายได้ไม่ให้พึ่งพิงแต่รายได้ที่มาจากการซื้อขายหุ้นเพียงอย่างเดียว โดยบริษัทใหม่จดทะเบียนภายใต้ใช้ชื่อ “บลจ.เคอีเอสที การ์เดียน จำกัด” ทุนจดทะเบียน และทุนชำระแล้วอยู่ที่ 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ สำหรับประเภทใบอนุญาตนั้น เป็นใบอนุญาตการจัดการกองทุนรวม เลขที่ 0006/2550 ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในกลางปีนี้

ปัจจุบัน ทิศทางการพัฒนาและการเตรียมความพร้อมของบรรดาบล. ทั้ง38 แห่งในช่วงแรก 3 ปี ระหว่างวันที่ 14มกราคม 2550-13มกราคม 2553 ก.ล.ต.ให้คิดค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำต่อไปได้ แต่หลังจากนั้น 2 ปีถัดไป ระหว่างวันที่ 14มกราคม 2553-31ธันวาคม 2554ให้คิดค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันได(siliding scale) ซึ่งจะมีการคิดอัตราค่าธรรมเนียมแปรผันลดลงตามปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น และเมื่อปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่ง ขั้นอัตราค่าธรรมเนียมต้องเปลี่ยนเป็นแบบต่อรองกันได้ และนับตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2555 ก.ล.ต.ให้ใช้การคิดค่าธรรมเนียมแบบต่อรองอย่างเสรีเป็นต้นไป

ข้อมูลจาก ก.ล.ต.ระบุว่า ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า บล.ต่างๆ ได้พยายามปรับตัวและกระจายความเสี่ยง ในการประกอบธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ส่วนอื่นที่นอกเหนือจากรายได้ค่าคอมมิชชั่นมากขึ้น โดยรายได้จากค่าคอมมิชชั่นในปี 2548 มีสัดส่วนที่ 80% ต่อมาปีใน 2549 ลดลงอยู่ที่ 76.6% ล่าสุดในปี 2550 รายได้จากธรุกรรมดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 71% หรือลดลง 9% จากปีที่เริ่มดำเนินงาน ส่วนสัดส่วนการลงทุนในด้านอื่นของ บล.นับตั้งแต่ปี 2548 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10%ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เห็นได้ถึงพัฒนาของบล.ก่อนที่จะมีการเปิดเสรีนั่นเอง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทโบรกเกอร์ของไทยส่วนใหญ่มีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นถึง 80% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือ แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ รายได้จากการลงทุนระยะยาวและรับเงินปันผล ธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์ฯเป็นต้น

แหล่งข่าว กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศว่า เรื่องดังกล่าวคงต้องให้เวลาแก่รัฐบาลใหม่ ในการพิสูจน์ฝีมือ ประมาณ 2-3 เดือนว่าจะสามารถเดินหน้านโยบายที่เคยไประกาศไว้ช่วงตอนหาเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่ รวมทั้งถือว่าเป็นการให้เวลาในการดำเนินการแก้ไขเรื่องต่างๆให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติ แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้อาจไม่อยู่ครบระยะเวลา 4 ปี ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า จะต้องจับตาดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ว่าจะจัดการกอย่างไรก็กับปัญหาเงินไหลเข้าประเทศ ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 2 ครั้งรวม 1.25% อีกด้วย เพราะประเมินว่าสถานการณ์ในต่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จะเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น