xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.จี้รัฐรับมือเงินทะลักเข้าไทยแนะนักลงทุนช้อนหุ้นถูกถือยาวรอดัชนีพันจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ. แนะภาครัฐเตรียมรับมือเงินไหลเข้าประเทศ กรณีเฟดปรับลดดอกเบี้ย นักวิชาการระบุไทยไม่ต้องรีบร้อนขยับตาม เพราะเชื่อมั่นปลายปีดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่ม ผู้จัดการกองทุนแนะช่วงนี้ช้อนเก็บหุ้นราคาถูกและถือยาว หลังประเมินช่วง 3 เดือนนี้ตลาดผันผวนอาจลดลงแตะระดับ 680 จุด แต่สิ้นปีมีลุ้นดีดตัวขึ้นถึง 1,050 จุด

นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่า คงจะคาดเดาได้ลำบาก หลังจากที่มีการปรับลดในการประชุมเร่งด่วนไปแล้ว 0.75% ส่วนในการประชุมครั้งนี้ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.5% คงจะเป็นไปได้ แต่คิดว่าน่าจะมากเกินไป โดยการลดครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.25% มากกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าเฟดน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดคงจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศมีการปรับตัวลดลงได้ เนื่องจาก กนง.จำเป็นที่จะต้องรักษาระยะห่างของอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศในการเก็งกำไรค่าเงินบาท และจะเป็นผลดีทำให้เกิดโอกาสในการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศได้

"ช่องว่างในการลดยังมีอยู่ซึ่งดอกเบี้ยในประเทศคงจะปรับลดได้ เพื่อป้องการเงินทุนไหลเข้าในการเก็งกำไรค่าเงินบาท และยังมีผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วย แต่เชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศคงจะลดลงแค่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และจะทรงตัวในระดับนี้ต่อไปอีกสักระยะ เนื่องจากเราได้รัฐบาลใหม่ค่อนข้างช้า แต่เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยเองก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงท้ายของปีจากการใช้จ่ายของรัฐบาล และการลงทุนจากภาคเอกชนที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น"นางวิวรรณกล่าว

ชี้กนง.ไม่จำเป็นต้องปรับดบ.ตาม

นายณัฐพัชร์ ลัคนาธรรมพิชิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.บีที กล่าวว่า การประชุมของเฟดที่จะเกิดขึ้นในปลายเดือนนี้ คาดว่าคณะกรรมการฯ น่าจะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐอเมริกาลดลงเหลือ 3% ซึ่งประเมินว่าในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีกหลายครั้ง ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังประเมินว่าภาวะการลดลงของดอกเบี้ยสหรัฐฯน่าจะนิ่งขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เงินเฟ้อภายในประเทศสหรัฐฯ ด้วย

ขณะเดียวกันการปรับลดดอกเบี้ยลงของเฟดเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลทำให้เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนสหรัฐฯ ในเอเชียบางส่วนไหลกลับไปยังประเทศสหรัฐ เห็นได้จากยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การไหลย้อนกลับของกระแสเงินลงทุนนั้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเชื่อว่ายังคงมีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากที่ยังคงลงทุนอยู่ในภูมิภาคนี้ เนื่องมาจากอัตราการเติบโตของประเทศในภูมิภาคเอเชีย และกลุ่มประเทศอีเมอร์จิ้งมาร์เกตยังคงอยู่ในระดับสูง

ด้านภาวะอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ นายณัฐพัชร์ กล่าวว่า ถ้าพิจารณาเพียงปัจจัยภายในประเทศ เชื่อว่าในระยะสั้น กนง.ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าทางเฟดจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งนี้ เนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ แต่ถ้าหลังจากนี้ทางเฟดยังคงมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยจากสถานการณ์ทั่วโลก ประกอบกับค่าเงินบาทที่อาจจะแข็งค่าขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กนง.ต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของไทยอีกครั้ง

"ตอนนี้ธปท.ยังมีช่องที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมได้ แต่ถ้าเฟดลงมากกว่านี้ สถานการณ์ทั่วโลกและกระแสเม็ดเงินจากต่างชาติที่จะไหลเข้ามาถ้าไทยมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่อื่น ก็อาจจะทำให้ค่าเงินบาทของไทยยิ่งแข็งค่าขึ้นไปอีก ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่ทางภาครัฐอยากให้เกิดนัก"นายณัฐพัชร กล่าว

คาดศก.ขยับตัวช่วงกลางปีนี้

นายวนา พูนผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด เปิดเผยว่า คาดว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.50% ซึ่งดีลเลอร์ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาได้คาดการณ์เอาไว้เช่นกัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศ หากไม่นับปัจจัยอื่นๆ แล้ว ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาก โดยหากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 0.50%ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศมีส่วนต่างอยู่ที่ 0.25% ขณะเดียวกันจะต้องดูอัตราเงินเฟ้อประกอบด้วย ส่วนการที่รัฐบาลจะเร่งรัดกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ คาดว่ากว่าจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก็จะมีผลในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป

กำชับต้องมีแผนรับมือเงินไหลเข้า

นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า หลายฝ่ายเชื่อว่า เฟดจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งเมื่อรวมกับมาตราการลดภาษี และมาตรการคืนภาษีในช่วงก่อนหน้านี้จะทำให้ ผู้ซื้อบ้านในสหรัฐอเมริกาจะมีสภาพคล่องในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทยนั้น เชื่อว่ากนง. และธปท.อาจทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามเฟดเช่นกัน แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงต่อไปนั่นคือกระแสเงินที่จะไหลเข้ามาในประเทศ เพื่อรับรู้กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศด้วย

สำหรับสิ่งที่น่าจับตามองในเรื่องต่อมา นั่นคือ ค่าเงินบาท เพราะเมื่อมีเงินไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อสเถียรภาพของค่าเงินบาทแน่นอน นอกจากนี้ ปัจจัยในเรื่องของราคาน้ำมัน นับว่าเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน เนื่องจากหากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลถึงภาวะอัตราเงินเฟ้อที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าต้องการให้เศรษฐกิจในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยส่วนตัวคาดว่าธปท.จะต้องทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ยันไทยไม่จำเป็นต้องรีบร้อน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย หอการค้าไทย กล่าวถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเกิดขึ้นว่า คาดว่าเฟดน่าจะปรับลดลงวอัตราดอกเบี้ยลงอีกประมาณ 0.5% เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขึ้น โดยจะเป็นแผนการแก้ไขแบบที่ต้องการให้เรื่องดังกล่าวยุติลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ แผนแก้ไขดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องมีระยะเวลาเพื่อรับรู้รอผล สักพักระยะหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อเฟดปรับลดดอกเบี้ยจะทำให้สถานการณ์ซับไพรม์คลี่คลาย

ส่วนผลกระทบกับประเทศไทยในขณะนี้ นายธนวรรธน์ มองว่าขณะนี้ยังไม่มีเงินไหลเข้ามาจากต่างประเทศมากนัก เช่นเดียวกับปัญหาในค่าของเงินบาทที่เป็นไปตามภูมิภาค นอกจากนี้เศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว จึงทำให้ปัญหาด้านซับไพรม์ไม่น่าจะเข้ามาสร้างผลกระทบต่อเศรษบกิจโดยรวมของประเทศได้มากนัก ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่จำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกาในทันที หรือในระยะสั้น แต่ถ้าอัตราค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้

“ไทยยังมีข้อได้เปรียบ เพราะสามารถเลือกได้ 2 ทางว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ต่อไปหรือ ปรับลดลงตามเฟดก็ได้ โดยถ้าลดลงน่าจะประมาณ 0.25% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นถือว่าแบงก์ชาติมีทางให้เลือกถึง 2 ทิศทาง”

อย่างไรก็ตาม นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ถ้าภาครัฐต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น และไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องการให้อัตราดอกเบี้ยของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยโลก ธนาคารแห่งประเทศไทยควรที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยลงมา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.25% แต่นี้คือกรณีที่เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.5% นั่นเอง ซึ่งวิธีดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขปัญหาส่วนต่างไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย

ฉวยจังหวะช้อนหุ้นถูกถือยาว

นายวีรพล สิมะโรจน์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด กล่าวว่า สภาพตลาดหุ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังมีความผันผวนอยู่ ซึ่งหากผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงชะลอตัวจนต้องมีการปรับประมาณการกำไรบริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศลงอีก เรื่องดังกล่าวอาจมีผลสะท้อนมายังตลาดหุ้นไทยทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงไปแตะระดับ 680-700 จุดได้

“มองภาพรวมในไตรมาส 1 ตลาดหุ้นไทย ยังมีทิศทางไม่ดีนัก แต่เชื่อว่าในไตรมาส 2 จะค่อยๆดีขึ้น ดังนั้นในช่วง 2 – 3 เดือนที่ตลาดผันผวนนี้ น่าจะเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นเพื่อนการลงทุนระยะยาว เพราะโดยปกติตลาดหุ้นจะถึงจุดต่ำสุดก่อนเศรษฐกิจจริง และฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว กลยุทธ์ในการเลือกหุ้นของบริษัทนั้นหุ้นต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี เป็นหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจ เป็นเซกเตอร์ที่มีศักยภาพมีอัตราการเติบโตสูง โดยบริษัทจะเน้น 2 เซกเตอร์หลักคือในกลุ่มแบงก์และกลุ่มพลังงาน” นายวีรพลกล่าว

ตลาดหุ้นปีนี้มีลุ้นแตะ1,050 จุด

ขณะเดียวกัน ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.ธนชาต คาดการณ์ว่าในระยะยาวตลาดหุ้นไทยยังมีทิศทางขาขึ้น ซึ่งคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะสามารถปรับขึ้นไปที่ระดับ 900 จุดได้ในปีนี้ ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์การลงทุนและการบริโภคในประเทศฟื้นตัวชัดเจนและผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์ไม่ขยายวงกว้างมากนัก โดยคาดว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นไปที่ระดับ 1050 จุดได้ภายในสิ้นปีนี้

“พีอีตลาดหุ้นไทยในช่วงแรกอยู่ที่ 9.8 เท่า แต่การที่ดอกเบี้ยทั้งในและนอกประเทศมีสิทธิลดลงได้อีกจะช่วยให้ตลาดทุนยิ่งมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งต่างชาติขายหุ้นไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของที่ซื้อสะสมมาตั้งแต่ปี 2546 ดังนั้นโอกาสขายต่อจึงมีไม่เยอะรอเพียงความชัดเจนของผลกระทบซับไพร์มเท่านั้น ถ้าปัญหาใกล้ยุติเมื่อไหร่จะมีเงินเป็นจำนวนมากไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชียและไทยด้วย” นายวีระพล กล่าว

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบสภาพตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งหากพิจารณาอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของบจ.ไทยจะมีการอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉลี่ยปีนึ้คาดว่าการเติบโตของประเทศไทยจะอยู่ 16.7% และในปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 8.6% นอกจากนี้หากพิจารณาผลตอบแทนจากเงินปันผล ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนในระดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน โดยเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3.8% และปีหน้าจะอยู่ที่ 4.3%
กำลังโหลดความคิดเห็น