กระแสเศรษฐกิจโลกช่วงนี้ค่อนข้างผันผวน นักลงทุนและคนไทยหลายคนคงรู้จักคำว่า"ซับไพรม์"เป็นอย่างดีแล้ว หลังจากที่ปัญหานี้สร้างความเสียหาย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร แต่ยังไม่มีใครรู้แน่ว่าปัญหานี้มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน?
การที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.75% ในการประชุมฉุกเฉินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา แถมยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ ด้วยการคืนภาษีให้กับคนที่มีรายได้น้อยด้วยแล้ว...คงจะพอเดาออกว่าเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้บอบช้ำเอาการทีเดียว
ลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นเพียงการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจ ยังไม่ใช่การเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ (Recession) ที่ตัวเลข GDP จะต้องติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่ากําลังชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจากผลกระทบของปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาสินเชื่อตึงตัวที่เริ่มขยายวงกว้างขึ้นไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ หลายหน่วยงานของสหรัฐ ทั้งธนาคารกลางและภาครัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการใช้นโยบายการเงินด้วยการลดดอกเบี้ย ซึ่งเฟดได้ประกาศลดดอกเบี้ยก่อนการประชุมวาระปกติสูงถึง 0.75% จาก 4.25% ลงเหลือ 3.50% เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะต้องปรับลดลงต่อไปจนถึงประมาณ 2.5-3.0% รวมทั้ง การใช้นโยบายการคลังเพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาลง
โดยภาวะการลงทุนในเดือนมกราคม ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมากหลังการประกาศตัวเลขขาดทุนของซิตี้กรุ๊ป ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการขาดทุนของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งจะประกาศตัวเลขการขาดทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอีกครั้ง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐ ในปี 2551 ลงจาก 2% เป็น 1%
ขณะที่ แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะสั้น 1-3 เดือนหลังจากนี้ จะยังคงผันผวนโดยถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความกังวลต่อปัญหาของซับไพร์มที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องตั้งสำรองหนี้เสียในจำนวนที่สูงขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรในตลาดที่ยังคงมีกำไรและมีสภาพคล่องอยู่ เพื่อถือเงินสดไว้เป็นสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ยังให้ความสนใจลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศบริค (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) ที่มีการเติบโตของกำไรต่อหุ้นค่อนข้างสูง การประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) ให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่ใหญ่และได้รับผลดีจากการอ่อนค่าของดอลล่าร์และกำไรจากการค้าสินค้าเกษตรและโภคภัณฑ์
"หุ้นในกลุ่มพลังงานและวัสดุภัณฑ์ของประเทศเกิดใหม่ที่ซื้อขายกันในราคาต่ำกว่าในตลาดของประเทศที่พัฒนาแล้ว และโครงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวเกิดจากความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศของตนเอง รวมถึงความแข็งแกร่งทางด้านโครงสร้างการเงินของประเทศต่างๆ เหล่านี้มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงทำให้สามารถต้านทานผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐได้ การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นก็เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า” นางลดาวรรณ กล่าว
วิชชุ จันทาทับ ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนตราสารทุน มองว่า ปํญหาซัพไพรม์ของสหรัฐจะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกประมาณ 2-3 เดือนและในช่วงเดือนมีนาคมคงจะมีผลกระทบเกิดขึ้นอีกระลอก เนื่องจากในเดือนนี้กลุ่มสถาบันการเงินสหรัฐจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางส่วนที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้มีตัวเลขเพิ่มออกมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐหลังจากนี้คงจะมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ จากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายการคลังด้วยการคืนภาษีให้กับประชาชนของรัฐบาล และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่คาดว่าจะมีการนำมาตรการอื่นๆ ออกมาใช้อีกเป็นจำนวนมากเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นกลับมาเป็นปกติได้
ส่วนการลงทุนของไทยคงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้ แต่คงจะมีผลกระทบทางอ้อมในเรื่องของการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจมากกว่า อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยได้มีการลดสัดส่วนที่เกี่ยวของกับสหรัฐอเมริกาไปค่อนข้างมากแล้ว ทำให้ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับมีไม่มากนัก
"ไทยได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไม่มากนัก และความชัดเจนทางการเมืองหลังจากนี้คงจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นได้ท่ามกลางปัญหานี้ในช่วงปลายปี โดยการลงทุน และการบริโภคจากภาคเอกชนเองก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ทั้งในเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐ และโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งการลงทุนในช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดี ถึงแม้จะค่อนข้างผันผวนแต่ในช่วงปลายปีก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่กลับมา"นายวิชชุกล่าว
นอกจากนี้ การลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ถือว่าน่าสนใจอยู่ ซึ่งหากไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาซัพไพรม์เพียงเล็กน้อยแล้ว ประเทศในแถบนี้ก็เช่นกัน อีกทั้งการการบริโภคภาคประชาชนและการลงทุนในประเทศแถบนี้ยังมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมากทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการพึ่งพาตนเองมีเสถียรภาพจนเป็นที่น่าลงทุน
"ประเทศแถบนี้มีการเติบโตสูงมากและคงเป็นกระแสไปอีก 7-8 ปี โดยประชาชนที่อยู่ในประเทศนี้ถือได้ว่าเป็นเศรษฐีใหม่ และมีความต้องการในการบริโภคอย่างต่อเนื่อง คนเหล่านี้เมื่อมีบ้าน ก็อยากมีรถ และก็อยากปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีนเอง ทำให้ประชาชนในประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้หยุดการขยายตัวไปนาน รวมถึงประชากรที่มีจำนวนมากด้วยแล้วยิ่งทำให้การบริโภคภายในประเทศจีนเองมีมูลค่ามหาศาลมากขึ้น"นายวิชชุกล่าว