xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นเอวีLTF-RMF‘ยูโอบี’ปี50ขยายตัวเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ยูโอบีปลื้ม มูลค่าเงินลงทุนผ่านกองทุนรวมแอลทีเอฟ – อาร์เอ็มเอฟปี 50 ขยายตัวเพิ่มทุกกอง โดยมี "UOBLTF" ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากสุด 71% จากเดิมมีเม็ดเงินแค่ 524 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 899 ล้านบาท เช่นเดียวกับ "UOBEQRMF" ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และให้ผลตอบแทนโดดเด่นสุดในกลุ่ม

นายชุติพนธ์ อัชวรานนท์ ผู้อำนวยการ-หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวถึงผลการดำเนินงานในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ภายใต้การบริหารของบริษัท ว่า ในปีที่ผ่านมา กองทุนทั้ง 2 ประเภทมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2549
ปัจจุบัน บลจ.ยูโอบี มีกองทุนแอลทีเอฟภายใต้การบริหาร 1 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด ยูโอบี หุ้นระยะยาว (UOBLTF) และมีกองทุนอาร์เอ็มเอฟ จำนวน 3 กองทุนได้แก่ กองทุนเปิดยูโอบี ออมทระพย์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (UOBSVRMF) ,กองทุนเปิด ยูโอบี พันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ (UOBGBRMF) และกองทุนเปิด ยูโอบี ตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (UOBEQRMF)
สำหรับ กองทุนUOBLTF มีมูลค่าเงินลงทุน ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ 899 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 374 ล้านบาท จากช่วงต้นปี 2550 ซึ่งมีอยู่ที่ 524 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 71% และมีผลตอบแทนของกองทุน ณ วันที่ 4 มกราคม 2551 มีผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนที่ –2.28% ลดลงน้อยกว่าดัชนีมาตรฐานกองตราสารทุน 3 เดือนซึ่งอยู่ที่ –3.59% ย้อนหลัง 6 เดือนที่ 3.40% มากกว่าดัชนีมาตรฐานตราสารทุนที่มี –1.28% และย้อนหลัง 1 ปีที่ 39.71% มากกว่าดัชนีตราสารทุน ซี่งอยู่ที่ 30.81% โดยกองทุนดังกล่าว มีนโยบายเน้นลงทุนตราสารทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูง โดยคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีนโยบายการจ่ายปันผล และมีการบริหารที่โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ในขณะที่ราคาตลาดอยู่ต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
ขณะที่กองทุน UOBSVRMF มีมูลค่าเงินลงทุน ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ 220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51 ล้านบาท จากช่วงต้นปี 2550 ซึ่งมีอยู่ที่ 169 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 30% และมีผลตอบแทนของกองทุน ณ วันที่ 4 มกราคม 2551 อยู่ที่ ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน 2.37% น้อยกว่าดัชนีมาตรฐานกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งในรอบ 3 เดือนอยู่ที่ 2.39% ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนมี 2.38% น้อยกว่าดัชนีมาตรฐานตราสารหนี้ที่ 2.78% และมีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 2.93% น้อยกว่าดัชนีมาตรฐานที่มี 5.36% โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายมุ่งลงทุนในเงินฝาก,ตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งภาครัฐบาลและเอกชนที่มีความมั่นคงสูง
ส่วนกองทุน UOBGBRMF มีมูลค่าเงินลงทุน ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ 356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68 ล้านบาท จากช่วงต้นปี 2550 ซึ่งมีอยู่ที่ 288 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 23% และมีผลตอบแทนของกองทุน ณ วันที่ 4 มกราคม 2551 อยู่ที่ ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน อยู่ที่ 1.99% น้อยกว่าดัชนีมาตรฐานกองทุนตราสารหนี้ในรอบ 3 เดือนที่มี 2.39% ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนมี 2.07% น้อยกว่าดัชนีมาตรฐานตราสารหนี้ที่มี 2.78% และมีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 4.15% น้อยกว่าดัชนีมาตรฐานที่มี 5.36% โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล,ตั๋วเงินคลัง หรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน
สุดท้าย กองทุน UOBEQRMF มีมูลค่าเงินลงทุน ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ 423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 138 ล้านบาท จากช่วงต้นปี 2550 ซึ่งมีอยู่ที่ 285 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 48% และมีผลตอบแทนของกองทุน ณ วันที่ 4 มกราคม 2551 มีผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนที่ –2.46% มากกว่าดัชนีมาตรฐานกองตราสารทุน 3 เดือนซึ่งอยู่ที่ –3.59% ย้อนหลัง 6 เดือนที่ 3.36% มากกว่าดัชนีมาตรฐานตราสารทุนที่มี –1.28% และย้อนหลัง 1 ปีที่ 40.15% มากกว่าดัชนีตราสารทุน ซี่งอยู่ที่ 30.81% โดยกองทุนมีนโยบายมุ่งเน้นการลงทุน หรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนที่มีแนวโน้ม หรือปัจจัยพื้นฐานดีเป็นหลัก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน และคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นสำคัญ
อนึ่ง ข้อมูลจาก สมาคมบริษัทจัดการลงทุน(สมาคมบลจ.) พบว่าในปี 2550 กองทุนแอลทีเอฟ มีทรัพย์สินสุทธิรวมของกองทุนเติบโตขึ้นจากปี 2549 ถึงเกือบเท่าตัวหรือคิดเป็น 96% ในขณะที่และกองทุนอาร์เอ็มเอฟเติบโตขึ้นจากปี 2549 คิดเป็น 49% โดยรวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนทั้ง 2 ประเภท คิดเป็นเงิน 87,424.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 72.57% จากปี 2549 ที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 50,661.66 ล้านบาท
สำหรับ เม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในกองทุนทั้ง 2 ประเภท ส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ของนักลงทุนรายเดิม ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการเข้ามาของนักลงทุนหน้าใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนไปยังนักลงทุน ทำให้นักลงทุนเริ่มกระจายเงินออมมาลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการฝากเงินเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความร่วมมือระหว่างสมาคมและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการขยายฐานผู้ลงทุนผ่านโครงการ "ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม" ซึ่งจะเห็นได้จากผลการจัดงาน "มหกรรมลดภาษีนาทีสุดท้าย" เมื่อวันที่ 15-16 และ 22-23 ธันวาคม ที่ผ่านมา รวม 4 วัน มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในกองทุนทั้ง 2 ประเภท เป็นเงินถึง 387 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน เชื่อว่ากองทุนทั้ง 2 ประเภทาจะยังคงได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องแม้ว่าในปี 2551 นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุน LTF มาครบกำหนดจะเริ่มขายคืนหน่วยลงทุนบ้าง แต่มั่นใจว่านักลงทุนจะนำเงินกลับมาลงทุนใหม่ ทั้งนี้ พบว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน LTF เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกที่นักลงทุนเริ่มขายคืนหน่วยลงทุน LTF ได้ ลดลงจากวันที่ 28 ธันวาคม 2550 เพียง 1.32% เท่านั้น เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง 4.24%
กำลังโหลดความคิดเห็น