xs
xsm
sm
md
lg

อีซูซุ รับตลาดปิกอัพหดตัว เหตุไฟแนนซ์เข้ม เตรียมผลิตรถไฟฟ้าส่งยุโรปไทยรอลูกค้าพร้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทาคาชิ ฮาตะ
ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ,ทาเคชิ คาซาฮาระ รองกรรมการผู้จัดการ,ปนัดดา เจณณวาสิน ประธานที่ปรึกษา และวิชัย สินอนันต์พัฒน์ กรรมการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ร่วมกันให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ตลาดรถปิกอัพว่า ปี 2566 ตลาดหดตัวลงเพราะลูกค้ารถปิกอัพส่วนใหญ่ ซื้อใช้สำหรับทำธุรกิจ เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้กำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มนี้มีปัญหามากกว่าตลาดรถเก๋ง

สาเหตุหลักคือความเข้มงวดของไฟแนนซ์ เพราะความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของลูกค้าลดน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของไฟแนนซ์สูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลต่อภาคธุรกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับสูงขึ้น ลูกค้ามีภาระเพิ่มมากขึ้น แต่รายรับลดลง ซึ่งอีซูซุคาดการณ์ว่าความเข้มงวดนี้จะยังคงอยู่จนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้นสถานการณ์ตลาดรถปิกอัพไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ แต่จะต่อเนื่องไปถึงปีหน้าไหมยังคาดการณ์ลำบากมากว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น สถานการณ์ก็น่าจะดี

ทาเคชิ คาซาฮาระ,ทาคาชิ ฮาตะ ,ปนัดดา เจณณวาสิน
เมื่อกลางปีที่ผ่านมา อีซูซุมีการปรับเป้าและคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์โดยรวมจะอยู่ที่ 820,000 คัน และตลาดรถปิกอัพอยู่ที่ประมาณ 300,000 คัน ซึ่งผ่านมา 10 เดือนแล้ว อาจจะไม่ถึงตรงนั้นก็ได้ ยอดขายทั้งหมดของอีซูซุ 131,256 ส่วนแบ่งตลาด 20.3% เป็นปิกอัพ 99,852 ส่วนแบ่งตลาด 43.9% หรือ 44% PPV หรือมิว-เอ็กซ์ 18,031 ส่วนแบ่งตลาด 35% รถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ 13,373 ส่วนแบ่งตลาด 55% อีซูซุโชคดีที่มีเปิดตัวรถรุ่นใหม่เมื่อเดือนตุลาคมซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากลูกค้า เพราะชื่นชอบในด้านดีไซน์การออกแบบ และสมรรถนะของรถที่ดีเยี่ยมจึงน่าจะช่วยประคองตลาดไปได้

ยอดขายปีนี้ของอีซูซุขึ้นอยู่กับตลาดรถปิกอัพ อีก 2 เดือนที่เหลือจะได้เท่าไหร่ เรายังสรุปตัวเลขไม่ได้ สำหรับส่วนแบ่งตลาด 10 เดือนแรก เรามีอยู่ 43.9% หรือ 44% และเหลืออีก 2 เดือนเอง และรถใหม่เราก็ขายได้ เราจึงคิดว่าจะรักษาส่วนแบ่งตลาดนี้ไว้ได้



ปีนี้มีทั้งปัจจัยบวกและลบต่าง ๆ เราอยู่ระหว่างการพิจารณาปัจจัยเหล่านั้นและกำลังทำตัวเลขสรุปอยู่ ซึ่งคาดการณ์ยากมาก จึงยังไม่สามารถสรุปตัวเลขสำหรับปีหน้าได้ แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกของปีหน้า คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง อาจมีส่วนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น และการคลี่คลายของสภาวะโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวขึ้น ปกติธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยจะมีประมาณ 20% ถ้าการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างนอกประเทศดีขึ้น มีโอกาสที่ธุรกิจเหล่านี้จะฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย และเรื่องความเข้มงวดของบริษัทไฟแนนซ์

การเข้ามาของรถไฟฟ้ามีผลกระทบกับอีซูซุหรือไม่นั้น ทาคาชิ ฮาตะ กล่าว่า จากการวิเคราะห์ของเรา ในเชิงปริมาณยังไม่เห็นผลกระทบที่มีนัยสำคัญอะไร เพราะคนละ segment ปัจจุบันตลาดรถเก๋งรถไฟฟ้ามีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% แต่ขึ้นกับสเปคและราคา เพราะถ้าราคาถูกก็น่าจะขายได้มาก ไม่แน่ใจว่าจะขยายตัวมากกว่านี้หรือเปล่า


สำหรับเรื่องรถไฟฟ้า ปัจจุบันอีซูซุมีการทดสอบรถปิกอัพไฟฟ้าอยู่ แต่ปัจจัยสำคัญของการทำตลาดปิกอัพไฟฟ้าทั้งของอีซูซุ และทุกแบรนด์ในตลาด ขึ้นอยู่กับน้ำหนักบรรทุก ระยะทางวิ่งได้ไกลเท่าไร และราคาจะดึงดูดลูกค้าได้หรือไม่ ตามที่เคยได้ให้สัมภาษณ์ว่าอีซูซุจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพไฟฟ้าในปี 2025 สำหรับส่งขายตลาดยุโรปก่อน แต่ไม่ได้แนะนำรถปิกอัพไฟฟ้ากับทุกประเทศในยุโรป จะทำเฉพาะประเทศที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นรถไฟฟ้าเท่านั้น สำหรับการจำหน่ายในประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทยจะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป เพราะต้องวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าก่อน ซึ่งอีซูซุยังไม่เห็นความต้องการของลูกค้าสำหรับปิกอัพไฟฟ้าเลย เราเลยคิดว่ายังไม่ใช่เวลาในการแนะนำรถปิกอัพไฟฟ้าในตอนนี้ ส่วนเรื่องกำลังการผลิตของรถปิกอัพไฟฟ้าตอนนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาความต้องการของตลาดและการส่งออก จึงจะสามารถกำหนดกำลังผลิตได้

การที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า จะรักษาให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถสันดาปสุดท้ายของโลก อีซูซุเห็นด้วยกับนโยบายนี้และคิดว่าดีมาก เพราะการจะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไม่จำเป็นต้องรถไฟฟ้าอย่างเดียว เราสามารถจะเป็นรถสันดาปภายใน ICE หรือเป็นรถพลังงานทางเลือกอื่น ๆ อีกทั้งนโยบายนี้ยังสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการรักษาซับพลายเชน หรือห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไว้ให้ได้มั่นคงเหมือนที่เคยเป็นมา ทำให้มีการจ้างงานต่อเนื่องด้วย ทาคาชิ ฮาตะ กล่าวตบท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น