ส.อ.ท.เปิดยอดการส่งออกรถยนต์ไทยฝ่ามรสุม ศก.โลกเดือน ต.ค.ทะลุ 1 แสนคัน คาดทั้งปีจะแตะระดับ 1.1 ล้านคันทะลุเป้าส่งออกที่วางไว้ ขณะที่ยอดขายในประเทศลุ้นงานมหกรรมยานยนต์กระตุ้นยอดขายเพิ่ม มองทั้งปีการผลิตได้ตามเป้าที่ 1.85 ล้านคัน จับตา EV ยังมาแรงแซงโค้งชิงส่วนแบ่งการตลาด ICE เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของไทยเดือน ต.ค. 66 อยู่ที่ 105,726 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.20% จากการส่งออกรถกระบะและรถยนต์อเนกประสงค์ (PPV) ที่เพิ่มขึ้นตามยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าที่เติบโตทั้งตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ส่งผลให้ 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค. 66) ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 927,625 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกัน 15.86% ดังนั้นคาดการณ์ว่าปี 2566 การส่งออกรถยนต์ของไทยจะอยู่ระดับ 1.1 ล้านคัน และมีมูลค่าการส่งออกรวมของกลุ่มอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท
“การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปปี 2562 หรือก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ราว 1.054 ล้านคัน ปีนี้คาดว่าจะได้ 1.1 ล้านคันถือเป็นสัญญาณที่ดีทำให้การผลิตปี 2566 ที่มีการปรับเป้าใหม่ล่าสุดว่าจะมีทั้งสิ้น 1,850,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 800,000 คัน ผลิตเพื่อส่งออกที่ 1,050,000 คัน การผลิตน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายโดยส่งออกคงจะเกินเป้า แต่ยอมรับว่าการผลิตเพื่อขายในประเทศคงจะต้องรอลุ้นงาน Motor Expo 2023 หรือมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40 ที่จะเริ่ม 30 พ.ย.-11 ธ.ค.นี้ว่าจะมียอดขายมากน้อยเพียงใด” นายสุรพงษ์กล่าว
สำหรับการผลิตรถยนต์สำเร็จรูปรวมเดือนตุลาคม 2566 มีทั้งสิ้น 158,734 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.02% ส่งผลให้ยอดการผลิต 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค. 66) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,544,705 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.65% โดยมียอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือนต.ค.ทั้งสิ้น 58,963 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.75% จากยอดขายรถกระบะที่ลดลงถึง 37.93% เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ รถบรรทุกลดลง 14.48% จากเศรษฐกิจชะลอตัวด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าออกไป
ส่งผลให้ 10 เดือนแรกปีนี้มียอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ 645,833 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.5% จากภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยสูงทำให้กำลังซื้อยังเปราะบางและส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตามยังคาดหวังว่างบประมาณปี 2567 ออกมาได้เมื่อใดจะมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มกำลังซื้ออย่างมีนัยสำคัญรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลโดยการวางเป้าหมายปี 2567 คงจะต้องขอประเมินทิศทางในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกครั้ง
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้ายังคงมาแรงต่อเนื่อง โดยรถยนต์นั่งที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ในประเทศเดือน ต.ค.อยู่ที่ 7,628 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 527.30% รวม 10 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 57,628 คัน เพิ่มขึ้น 717.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสะท้อนผ่านการจำหน่าย 10 เดือนแรกตามเชื้อเพลิงปีนี้ที่พบว่ารถยนต์สันดาปภายใน (ICE) อยู่ที่ 518,438 คัน ลดลง 19.15% โดยคิดเป็นสัดส่วน 80.27% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่คิดเป็นสัดส่วนที่ 91.83% จากจำนวนรถยนต์รวมที่ 645,833 คัน โดยการเข้ามาแทนที่ของยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และไฮบริด