แม้ว่าภาพรวมของตลาดจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องการส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าอันเนื่องมาจากการขาดแคลนชิป แต่ทว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตลาดรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจนตัวเลขขยับกลับเข้ามาใกล้กับยอดขายในช่วงที่จะเกิดการระบาดของ COVID-19 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยตัวเลขที่มากกว่า 800,000 คันหรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้วถึง 23%
เมื่อมองไปที่รายประเทศจะพบว่าตลาดอินโดนีเซียสามารถทำยอดขายขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 1 ของภูมิภาคนี้ ด้วยตัวเลข 263,822 คันหรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 41% ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2
สัญญาณดี…ตลาดเริ่มกลับสู่สภาพปกติ
จากการเปิดเผยของเว็บไซต์ AsiaMotorBusiness ระบุว่าตอนนี้ตลาดรถยนต์ซึ่งมียอดขายสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลกกำลังขยับกลับมาสู่สภาพที่ปกติหลังจากที่ความต้องการของลูกค้าช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขน่าจะไปได้ดีกว่าถ้าไม่ติดตรงที่บริษัทรถยนต์ยังไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ทันตามความต้องการอันเนื่องมาจากการขาดแคลนชิป ซึ่งเป็นสภาวะที่ทุกตลาดทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่
ช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นั้น ตัวเลขยอดขายรวมทุกประเทศในแถบนี้อยู่ที่ 832,390 คันหรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีนี้แล้วถึง 23% ซึ่งในปีที่แล้ว ตลาดแห่งนี้ยังได้รับผลกระทบอีกระลอกจากการกลับมาระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา จนทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องมีการสั่งล็อคดาวน์ประเทศ จนทำให้ตัวเลขยอดขายรถยนต์อยู่ที่ 677,397 คัน
อินโดนีเซียยอดขายสูงสุดเติบโตสูงสุดด้วยเช่นกัน
เมื่อมองในแง่ยอดขายรายประเทศแล้ว อินโดนีเซียเป็นตลาดที่มียอดขายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้สูงสุด เช่นเดียวกับอัตราการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้นตลาดอินโดนีเซียมียอดขายรถยนต์รวมทั้งสิ้น 263,822 คันหรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ถึง 41% ซึ่งตรงนี้เป็นผลมาจากการระบาดอีกระลอกของ COVID-19 ช่วงต้นปี 2564 ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ของอินโดนีเซียลดลงมาอยู่ในระดับ 187,021 คันในช่วงไตรมาสแรกของปี 20564 โดยในปีนี้เมื่อแบ่งยอดขายออกมาเป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์แล้ว จะมีตัวเลข 197,762 คัน (เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) และ 66,060 คัน (+28%) ตามลำดับ
เหตุผลของการขยายตัวในระดับที่มากถึงขนาดนี้เป็นเพราะภาพรวมในเชิงเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเริ่มฟื้นตัว ซึ่งดูได้จาก GDP ของประเทศในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีส่วนในการช่วยผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ อีกทั้งในช่วงต้นปี ทางธนาคารแห่งชาติได้มีการประกาศให้ปรับอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่จนอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อรถยนต์ได้ง่ายขึ้น โดยมีการตั้งดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 3.5% เช่นเดียวกับที่บริษัทรถยนต์ทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องนับจากปลายปี 2564
โตโยต้า รายงานยอดขายช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ของตลาดอินโดนีเซียด้วยตัวเลข 81,095 คันหรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 41% อันเป็นผลมาจากการเปิดตัว Avanza ใหม่ และ SUV รุ่นกลางและเล็กอย่าง Rush และ Raize ในตลาด ขณะที่บริษัทในเครืออย่าง Daihatsu ก็มีการขยายตัวอย่างสูงด้วยเช่นกันกับตัวเลขเพิ่มขึ้น 51% ด้วยตัวเลข 50,820 คันซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์ใหม่ด้วยเช่นกัน
ไทยขยายตัว และเริ่มมีสัญญาณที่ดีเช่นกัน
เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย สำหรับภาพรวมของตลาดรถยนต์ไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ กับการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 22% โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 231,189 คัน โดยการขยายตัวในระดับเลข 2 หลักนี้ก็เป็นเพราะสภาพของการระบาด COVID-19 อย่างต่อเนื่องในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปี 2564 จนทำให้เกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับช่วงต้นปี 2563 แต่ก็ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 นั้น ตลาดรถยนต์ไทยมียอดขายเพียง 189,093 คันเท่านั้น
การขยายตัวในครั้งนี้เป็นผลมาจากการความต้องการที่มีต่อปิกอัพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในประเทศ ขณะเดียวกันแบงค์ชาติก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% เพื่อช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศ แม้ว่ากระทรวงการคลังจะปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ทั้งปีเป็น 3.5% จาก 4.0% อันเป็นผลมาจากสงครามในยูเครนก็ตาม ขณะที่การส่งออกของตลาดรถยนต์กลับลดลง 6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยตัวเลข 243,124 คันอันเป็นผลมาจากการขาดแคลนชิปเพื่อใช้ในการประกอบรถยนต์เพื่อส่งออก
ตลาดเริ่มฟื้นตัวหลายประเทศยอดขายเพิ่มขึ้น
ไม่ใช่แค่อินโดนีเซียและไทยเท่านั้น ที่มียอดขายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตลาดรถยนต์ในประเทศหลักๆ อย่าง มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ก็มีการเติบโตด้วยเช่นกัน
มาเลเซีย : มียอดขายอยู่ที่ 159,752 คัน เพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว จากเดิมที่มีตัวเลข 139,499 คัน โดยตลาดรถยนต์นั่งของที่นี่เพิ่มขึ้น 14% ด้วยตัวเลข 140,140 คัน ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้น 21% ด้วยตัวเลข 19,612 คัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตลาดมาเลเซียน่าจะมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ แต่ตลาดยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเดือนธันวาคมปี 2564 และทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ Proton ได้รับผลกระทบอย่างมาก
สำหรับรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดของมาเลเซียช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 คือ Perodua ด้วยตัวเลข 61,624 คัน (+6%) ตามด้วย UMW Toyota มียอดขาย 22,447 คัน (+32%) และ Proton ที่มีตัวเลข 26,706 คัน (-19%)
เวียดนาม : มียอดขายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 85,797 คันหรือเพิ่มขึ้น 29% โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นถึง 5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ฟิลิปปินส์ : มียอดขายอยู่ที่ 74,754 คัน เพิ่มขึ้น 6% โดยอัตราการเติบโตส่วนใหญ่อยู่ที่เดือนเดียวคือ มีนาคมที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 43% และทำให้ตัวเลขของปีนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกมาตรการการควบคุม COVID-19 ของภาครัฐ
จากตัวเลขที่เติบโตขึ้นทั้งในแง่ภาพรวม และแบ่งเป็นรายประเทศนั้น ทางนักวิเคราะห์ของ Asia Motor Business ยืนยันว่า จากตัวเลขภาพรวมของตลาดแสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนในแง่ของการกลับมาเติบโตตามสภาพปกติและน่าจะใช้เวลาอีกไม่นานในการทำตัวเลขยอดขายให้กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยอุปสรรคเดียวที่จะสร้างผลกระทบในอนาคตให้กับตลาดมีเพียงเรื่องเดียว คือ การขาดแคลนชิป จนทำให้ไม่สามารถประกอบรถยนต์เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าได้ทันตามความต้องการ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ใช่แค่อาเซียนเท่านั้นที่เจอ แต่เป็นในเกือบทุกโรงงานการผลิตรถยนต์ทั่วโลก