ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ระบุ น้ำท่วม กทม. แม้จะมีอุโมงค์ยักษ์แต่ก็ระบายได้ช้า นอกจากสภาพภูมิประเทศที่แบนแล้ว ปัญหาใหญ่คือ ระบบทั้งหมดยังคงถูกดำเนินการด้วย “คน” เท่านั้น
รายงานพิเศษ
“กทม.ใช้อุโมงค์ยักษ์ในการระบายน้ำจากในเมืองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีต้นแบบมาจากมาเลเซียและญี่ปุ่น แต่ถ้าลองคิดภาพตามจะพบว่าที่มาเลเซียและญี่ปุ่นมีลักษณะพื้นที่ลาดชันสูง เหมือนอ่างล่างหน้า ถ้าเรานำยางไปอุดที่ช่องระบายน้ำ และเปิดน้ำลงมา พอเรานำยางที่อุดไว้ออก น้ำก็จะไหลลงไปหมดอย่างรวดเร็ว
แต่ กทม.มีภูมิประเทศแบนราบ เปรียบเหมือนเราอยู่บนโต๊ะแบนๆ และเราทำระบบระบายน้ำเจาะเป็นช่องไว้กลางโต๊ะที่แบนราบ พอเทน้ำลงไป น้ำก็กระจายออกไปทั่วโต๊ะ ส่วนที่ไหลลงไปได้มีเพียงน้ำที่อยู่รอบๆ ช่องระบายน้ำเท่านั้น”
คำอธิบายนี้มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่มาช่วยแก้ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยเขาได้อธิบายให้เห็นปัญหาที่สำคัญของการระบายน้ำของ กทม. ที่ฉายให้เห็นว่า ทำไมมีอุโมงค์ยักษ์แล้ว แต่ยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานทุกครั้ง เพราะระบายน้ำได้ช้า หลังฝนตกลงมาในปริมาณมาก
ตัวอย่างปัญหาการระบายน้ำ ประเด็นที่ 1 คือ ภาพที่จะเห็นได้เกือบทุกครั้งเมื่อเกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมขังใน กทม. หลังฝนตกหนัก ก็คือ ภาพที่มีน้ำท่วมขังบนถนน ในตรอกซอกซอยต่างๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่เมื่อไปดูในคลองต่างๆ กลับพบว่า “ในคลอง ไม่มีน้ำ” นั่นหมายความว่า น้ำที่ท่วมอยู่ ไม่สามารถผ่านระบบท่อระบายน้ำไหลลงไปสู่คลองได้
ตัวอย่างประเด็นที่ 2 ผู้เชี่ยวชาญคนนี้ แนะนำให้ชาว กทม. ไปสังเกตดูว่า เมื่อเกิดน้ำท่วม น้ำจากคลองต้นทางไหลลงไปที่คลองปลายทางที่จะส่งน้ำปผ่านอุโมงค์ยักษ์หรือไม่ โดยยกตัวอย่างว่า หลังเกิดน้ำท่วมแถวรัชดา-ลาดพร้าว แม้จะมีน้ำเติมลงไปในคลองลาดพร้าว แต่ถ้าไปดูที่คลองบางเขนซึ่งเป็นปลายทางจะพบว่ามีน้ำน้อยทุกครั้ง
ดังนั้น ปัญหาหลักก็คือ น้ำที่ท่วมใน กทม. ไม่สามารถไหลไปยังระบบระบายน้ำได้เอง เพราะสภาพภูมิประเทศที่ “แบน” ทำมให้มีหลายจุดที่ต้องอาศัย “ระบบเชื่อมต่อ” ที่เรียกว่า “การสูบทอย” หรือ สูบน้ำจากจุดหนึ่งที่ไปต่อไม่ได้ ข้ามไปยังอีกจุดหนึ่ง เพื่อให้น้ำสามารถไหลไปเข้าสู่ระบบหลัก คือ อุโมงค์ยักษ์ได้
“ปัญหาการส่งน้ำจากต้นคลอง ไปปลายคลอง เป็นปัญหาที่เราเจอมาตั้งแต่น้ำท่วมปี 2554 ตอนนั้นเราจะดันน้ำให้ไหลจากคลองรังสิตมาที่คลองสองสายใต้แถวหลักสี่ และจะส่งต่อไปที่คลองลาดพร้าว แต่เราพบว่า เราไม่สามารถเปิดเครื่องสูบน้ำตลอดเวลาได้ เพราะพอเปิดไป 6 ชั่วโมง น้ำแห้ง ไม่มีน้ำให้สูบ ต้องปิดเครื่องรอไปอีก 6 ชั่วโมง เพื่อรอน้ำมาเติมให้สูบแล้วค่อยสูบต่อ เพราะระหว่างทางมีสิ่งกีดขวางเยอะ ซึ่งไม่ใช่แค่ขยะในคลอง แต่เป็นสิ่งกีดขวางที่ใหญ่กว่านั้น ทำให้มีคอขวดหลายจุด จนมาวันนี้ปัญหาสิ่งกีดขวางเหล่านี้ก็ยังไม่เคยถูกแก้” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว
ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” จะเห็นได้ว่า ผู้สมัครหลายคนต่างแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะเมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้นทั่ว กทม. ในช่วงไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง
แต่ก็มีคำถามว่า ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่แก้ได้ด้วยการใช้อำนาจของ “ผู้ว่าฯ กทม.” หรือไม่
ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ยอมรับว่า พื้นที่ กทม. มีความเกี่ยวพันกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมากกมาย เช่น คลองเป็นของกรมชลประทาน ถนนเป็นของกรมทางหลวง หรือทางด่วนเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แต่ก็เห็นว่า การก่อสร้างต่างๆ ก็ต้องผ่านการขออนุญาตจาก กทม. ซึ่ง กทม. มีสำนักผังเมืองเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และเห็นระบบการจัดการต่างๆ จากการก่อสร้างอยู่แล้ว เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย อาจจะออกแบบระบบระบายน้ำให้พ้นออกจากทางด่วนเท่านั้น ซึ่งเมื่อ กทม. เห็นเช่นนี้ ก็สามารถประสานงานเพื่อวางระบบส่งต่อได้
หรือในแง่ของการระบายน้ำออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร การเพิ่มเครื่องสูบน้ำอาจต้องประสานกรมชลประทาน หรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรืออาจจะต้องประสานจังหวัดใกล้เคียง เช่น ระบายน้ำฝั่งตะวันออกไปฉะเชิงเทรา หรือระบายน้ำออกทะเลไปทางจังหวัดสมุทรปราการ แต่ทั้งหมดนี้ อำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว
แต่ถ้ามองนอกเหนือไปจากปัญหาของสภาพพื้นที่ มายังเรื่องการบริหารจัดการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำระบุว่า กทม.มีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบเรดาห์ฝนของตัวเอง มีสำนักการระบายน้ำเป็นของตัวเอง
แต่ปัญหาใหญ่คือ ระบบทั้งหมดนี้ ยังคงถูกดำเนินการด้วย “คน” เท่านั้น จึงทำให้เห็นว่า แม้จะมีความพยายามตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ตามจุดที่เป็นรอยต่อที่น้ำจะไม่สามารถไปต่อได้ แต่เครื่องสูบน้ำจุดไหนที่มีคนนอนเฝ้าอยู่ก็เปิดใช้ เครื่องไหนไม่มีคนนอนเฝ้าก็ไม่เปิด เมื่อเป็นเช่นนี้ การระบายน้ำมันก็ไม่ไปด้วยกันเป็นระบบ
“กทม.ยังใช้ระบบที่อาศัย คน อาศัยประสบการณ์ในการตัดสินใจ แต่เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำของ กทม.มีเป็นพันจุด จะทำให้ทุกจุดทำงานพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ยังไง จะรู้ได้ยังไงว่าในสถานการณ์นี้จุดไหนควรเปิดหรือไม่ควรเปิดเครื่อง ซึ่งจริงๆ แล้ว ประเทศไทย มีต้นแบบการสั่งการระบบระบายน้ำด้วยระบบ AI เกิดขึ้นมาแล้ว เป็นคนไทยที่ไปชนะการประกวด Smart City ระดับโลกมา ระบบจะคำนวณเลยว่า มีเรดาห์ฝนมาแบบนี้ ฝนจะตกที่จุดไหนบ้าง ตกกี่มิลลิเมตร จะเกิดน้ำท่วมขังที่จุดไหน ระดับน้ำสูงเท่าไหร่ ท่วมนานแค่ไหน และระบบจะสั่งการให้เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำตามจุดต่างๆทำงานอย่างที่ควรจะทำ ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าการพึ่งพาการตัดสินใจของคนอย่างแน่นอน” ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำ
“ต้องยอมรับว่า ปัญหารากเหง้ามันมีมาตั้งแต่การวางผังเมือง แต่ที่ผ่านมา กทม. แก้ปัญหาด้วยการแก้เป็นชิ้นๆ แบบแยกส่วน ลองคิดดูง่ายๆ ว่า เมื่อจะยกระดับถนน เราก็จะเห็นการยกระดับท่อระบายน้ำขึ้นไปตามความสูงของถนน ซึ่งแก้ปัญหาได้เฉพาะจุดเท่านั้น แต่มีคำถามว่า กทม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เคยกำหนดระดับความสูงของถนนให้ชัดเจนหรือไม่ ความสูงควรทำได้แค่ไหน แบบไหนที่จะขวางการระบายน้ำ นี่คือตัวอย่างหนึ่ง” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวทิ้งท้าย