Tesla ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2003 ยุคที่รถยนต์ใช้น้ำมันยังเบ่งบาน ยุคที่ใครจะคิดว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่เคยถูกชักปลั๊กไปเมื่อช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 จะยังได้รับโอกาสในการเข้ามาแจ้งเกิดในฐานะ ‘รถยนต์ส่วนใหญ่ที่ถูกใช้งานบนถนน’ แต่สุดท้ายเมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนไป Tesla กลับมาผงาดพร้อมกับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดรถยนต์ ชนิดแซงหน้าเบอร์ 1 อย่าง Toyota ไปได้เป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์โลกยานยนต์
การก่อกำเนิดที่มีแต่เครื่องหมายคำถาม
Tesla ถูกก่อตั้งขึ้นมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2003 โดย Martin Eberhard และ Marc Tarpenning ซึ่งว่ากันว่าการก่อตั้ง Tesla ของทั้งคู่เกิดขึ้นเพราะการที่ GM เรียกคืนรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกอย่าง EV1 ที่เริ่มขายในปี 1996 กลับมาทำลายทิ้งในปีเดียวกับที่ทั้งคู่ก่อตั้งบริษัท
เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่งพิฆาตรถยนต์ไฟฟ้าไปเอง แล้วทำไมยังมีคนดันทุรังตั้งบริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาขายในตลาดอีกล่ะ? นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นกับ 2 ผู้ก่อตั้ง
แนวทางและทิศทางของ Tesla เกิดขึ้นในยุคที่บนถนนส่วนใหญ่ยังถูกครอบครองโดยรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และแม้แต่รถยนต์ไฮบริดที่เพิ่งเปิดตัวออกมาเมื่อปี 1997 ก็ยังไม่สามารถที่จะครองใจตลาดได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ทว่า Tesla กลับนำเสนอแนวคิดในการเป็นรถยนต์ที่แตกต่างและสร้างอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยี ด้วยรูปแบบที่เกิดมาเพื่อคนเฉพาะกลุ่มมากกว่าที่จะเป็นรถยนต์ที่เป็นกระแสหลักในตลาดได้
Roadster ที่พัฒนาบนพื้นฐานของ Lotus Elise และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนถูกเปิดตัวออกมาในปี 2005 หรือ 2 ปีหลังจากที่ Ian Wright และ Elon Musk จะเข้ามามีส่วนในบริษัทแห่งนี้ถือเป็นผลผลิตแรกของพวกเขา และความสำเร็จนั้นมาจากการวางกลยุทธ์ที่ถูกต้อง คือ การเป็นของเล่นคนรวย ด้วยราคาที่ตั้งแพงกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ
แน่นอนว่าตอนนี้ตลาดรถยนต์อเมริกันยังไม่มีความตื่นตัวในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า และภาครัฐก็ยังไม่ได้มีการอุดหนุนในเรื่องของราคาเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถแจ้งเกิดในตลาดได้ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแบตเตอรี่ก็ยังมีราคาที่สูงมาก ดังนั้น Tesla เลยเลือกขยับขึ้นบนเพื่อสร้างชื่อและปูพื้นฐาน ก่อนที่จะขยับลงล่างเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย…และเวลานั้นก็มาถึงจริงๆ
Oil Crisis Part II จุดเริ่มต้นของความตื่นตระหนก
จริงอยู่ที่หลายคนบอกว่าโลกเราร้อนขึ้นและส่วนหนึ่งมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยจากท่อไอเสียรถยนต์ แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้จนต้องหันมาขับรถยนต์ไฟฟ้ากันหรอก เพราะทุกคนใส่ใจกับเรื่องของตัวเองนั่นคือ เงินที่ต้องจ่ายเพื่อเป็นค่าเชื้อเพลิง ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดความตื่นกลัว และตื่นตระหนกก็มาถึงจนได้ นั่นคือ Oil Crisis Part II ในช่วงปี 2008-2009ราคาพุ่งสูงขึ้นชนิดที่ทำ New Height เกือบทุกวัน และหลายฝ่ายเริ่มตระหนักแล้วว่าโลกเราตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มั่นคงทางพลังงานถ้ายังขืนพึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงอีกต่อไป
Nissan เปิดตัว LEAF ในปี 2009 เช่นเดียวกับ Chevrolet เปิดตัว Volt รถยนต์ที่เป็น E-REV หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบมีเครื่องยนต์ชาร์จกระแสไฟฟ้าได้ ขณะที่หลายประเทศเริ่มมีวิสัยทัศน์ในการมองหายานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์สันดาปภายใน และทุกคนก็มองเห็นตรงกันว่า ไม่ใช่ของใหม่อะไรหรอก แต่เป็นของเก่าที่เราเคยมีกันอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นยังแจ้งเกิดไม่ได้เพราะยังไม่ถึงเวลา
นั่นทำให้ BEV หรือ Battery Electric Vehicle กลายเป็นความหวังใหม่ในการเดินทางบนภาคพื้นดินของมนุษยชาติ นั่นทำให้ในปี 2010 Tesla เข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชนและถือเป็นบริษัทรถยนต์อเมริกันรายแรกนับจากที่ Ford เคยทำเมื่อปี 1956 พร้อมกับระดมทุนเพื่อสร้างรถยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของตัวเองออกมา โดยใช้ชื่อ Model S และอีกรุ่นคือ Model X ที่เปิดตัวในปี 2015
อย่างไรก็ตาม รถยนต์ที่ถือเป็นตัวที่ทำให้ Tesla เข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้นคือ Model 3 ซึ่งมีราคาถูก และผลิตจากไลน์ผลิตอื่นๆ ของ Tesla อย่างประเทศจีน ซึ่งเมื่อถึงปี 2020 นั้น Model 3 กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายสะสมสูงสุดตลอดกาลด้วยตัวเลข 500,000 คัน
พูดง่ายๆ คือ ในยุคหน้า รถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV คือ สิ่งที่มนุษย์จะต้องใช้ในการขับเคลื่อน นั่นคือสิ่งที่ Tesla มองเห็นและกล้าที่จะวางเดิมพัน ซึ่งดูเหมือนพวกเขาจะคิดถูก
สิ่งที่ทำมีมากกว่ารถยนต์
ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของ Musk นั่นเป็นสิ่งที่ช่วย Tesla อย่างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องของวิธีคิดและมุมมอง แต่ยังรวมถึงการ PR ให้กับแบรนด์ด้วย เพราะนอกจก Space X แล้ว ภาพของ Musk แทบจะเป็นภาพเดียวกันกับ Tesla เมื่อทุกคนเอ่ยถึงชื่อใดชื่อหนึ่งขึ้นมา และเมื่อบวกกับการใช้ชีวิตและการเป็น Influencer ของเขา ยิ่งทำให้เหมือนกับช่วยกระพือความเป็น Tesla ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อคุณอยู่ในตลาดหุ้น เรื่องของผลประกอบการก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือ การแสดงให้เห็นว่าพวกคุณมีอะไรมากกว่าสิ่งที่มี เพื่อทำให้นักลงทุนมั่นใจ และนั่นทำให้ Tesla ไม่ได้วางตัวเป็นแค่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนกับเป็นผู้วางเทรนด์ให้กับคนใช้รถยนต์ในยุคหน้า เช่นเดียวกับการขยายตลาดสู่การสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับรองรับรถยนต์ของพวกเขา เช่น แท่นชาร์จสาธารณะ หรือที่เรียกว่า Tesla Supercharger ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2012 และเริ่มรุกหนักขึ้นในปี 2019
แต่เหนืออื่นใดคือ Tesla เป็นบริษัทแรกๆ ที่ให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือ Autonomous หรือ Auto Pilot สำหรับรถยนต์ในยุคหน้า และมีการนำมาทดลองใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลผลิตที่มาจากมุมมองของ Musk เองและได้เริ่มดำเนินการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2013
คลื่นลูกใหม่ที่มาแรง
ในช่วงต้นปี 2020 Tesla ถูกวางให้เป็นเบอร์ 2 ของบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด ด้วยตัวเลข 5.05 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ที่น่าสนใจคือ เพียงแค่หลังจากนั้น Tesla สามารถแซงหน้า Toyota ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ได้ด้วยมูลค่าบริษัทในระดับ 5.88 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมราคาหุ้นที่แตะ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น
ไม่มีใครแปลกใจในสิ่งนี้ เพราะที่ผ่านมา Tesla แสดงให้เห็นแล้วว่าวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้านั้นเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นสิ่งที่จะเป็นจริงในอนาคต และใช้เวลาเพียงแค่ 16 ปีเท่านั้นในการสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในโลกรถยนต์ในแง่ของมูลค่าบริษัท
นอกจากนั้น Tesla ยังสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่องรวมแล้ว 4 ไตรมาสติดต่อกันเป็นครั้งแรกของบริษัท โดยในไตรสมาสล่าสุดของปี 2020 นั้น บริษัทมีผลกำไรอยู่ในระดับ 104 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่บริษัทรถยนต์รายอื่นๆ ต่างเจอกับผลประกอบการที่ขาดทุนเพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ทำให้ผลประกอบการของ Tesla เป็นตัวดำชนิดที่สวนทางกับคู่แข่งในตลาด คือ พวกเขามียอดขายรถยนต์ที่ต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมยังมีความสามารถในการส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าได้ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ Tesla ส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าไปมากถึง 90,650 คัน บวกกับในช่วงไตรมาสแรกของปีก็ส่งไป 88,000 คัน ซึ่งช่วยให้บริษัทมีรายได้คงที่โดยมีรายได้เข้าสู่บริษัทในช่วงไตรมาสที่ 2 ถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บวกกับอีก 370 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี่ และอีก 480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในส่วนของเซอร์วิส
ตรงนี้ถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตอย่างต่อเนื่องของ Tesla ในช่วงปี 2020 และเชื่อว่าเมื่อถึงปลายปี ยอดขายรถยนต์ของ Tesla น่าจะถึงระดับ 500,000 คันตามที่ Musk ได้ประกาศเอาไว้เมื่อต้นปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อกางดูตัวเลขของผลกำไรและขาดทุนของ Tesla นับจากปี 2015 แล้วจะพบว่าพวกเขายังมีผลประกอบการแบบขึ้นๆ ลงๆ ชนิดขาดทุนมากกว่ากำไร และนักลงทุนก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับเรื่องนี้เท่าไร เพราะแม้ว่าจะยังขาดทุน แต่แนวโน้มและทิศทางของสถานการณ์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ พูดง่ายๆ คือ ขาดทุนน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเดินทางมาถึงจุดที่พวกเขาเริ่มทำกำไรได้อย่างคงที่แล้ว
นอกจากนั้น ด้วยสิ่งที่ทำและทิศทางที่พวกเขากำลังเดินไปนั้นเป็นเรื่องของอนาคตที่มีแต่จะเติบโต แถมตลาดยังมองไปข้างหน้าว่าเทรนด์ต่อจากนี้ โลกจะดำเนินเข้าสู่รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า และน่าจะไม่มีวันย้อนกลับมาจุดเดิม นั่นหมายความว่า ตลาดกำลังให้มูลค่าสูงมากกับบริษัทที่เน้นผลิตรถที่ใช้ไฟฟ้า และกำลังให้มูลค่าต่ำมากกับบริษัทที่เน้นผลิตรถที่ใช้น้ำมัน
จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายบริษัทรถยนต์ถึงหันมาลุยรถยนต์ไฟฟ้า และบางราย เช่น Mercedes-Benz ก็ประกาศแล้วว่า จะเลิกพัฒนาเทคโนโลยีของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในและหันมาโฟกัสที่รถยนต์ไฟฟ้าแทน