xs
xsm
sm
md
lg

เจาะแผนใหม่ภาครัฐ หวังบูม xEV ...BOI คลอดเฟสสองดึง “เทสลา” ลุยไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ่าแผนใหม่ของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังด้วยเป้าหมาย 30@30 สัดส่วนยอดขายเป็น 30% ภายใน 10 ปี นับจากนี้ พร้อม บีโอไอ คลอด xEV เฟสสองรับ “เกรท วอลล์” พร้อมดึง “เทสลา” ลงทุนตั้งฐานผลิตในไทย หลังเฟสแรกค่ายรถยื่นกว่า10 ราย


แผนการแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐไทย ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ออกมาประกาศ 30@30 คือ การตั้งเป้าให้ประเทศไทยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทรวมกันในสัดส่วน 30% ของยอดขายรวมทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าต้องมีคำถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร เรามาวิเคราะห์กันแบบลงลึกดูสักหน่อย


30@30 เพิ่มปริมาณรถ xEV


ปัจจุบันรถแบบ xEV นั้นมีจำหน่ายแล้วในแบบของรถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่ BEV จำนวน 13 รุ่น 11 ยี่ห้อ ส่วนรถแบบปลั้กอินไฮบริด PHEV นั้นมีราว 26 รุ่นจาก 7 ยี่ห้อ และไฮบริด HEV มีจำนวน 15 รุ่น 5 ยี่ห้อ โดย รถแบบ PHEV นั้นเพิ่งจะมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ล่าสุดจากค่าย MG ในรุ่น HS PHEV และกำลังจะมี มิตซูบิชิ เปิดตัว Outlande PHEV ตามออกมาในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 นี้


โดยยอดจดทะเบียนของรถ xEV ล่าสุดในปี 2019 มีถึง 32,248 คัน (รวมมอเตอร์ไซค์ และสามล้อ) โดยเฉพาะรถแบบ BEV นั้นมียอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,572 จากเดิมที่ปี 2018 มีเพียง 325 คันเท่านั้น


ขณะที่ยอดจดทะเบียนในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขของรถแบบ xEV มีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจ แม้จะเจอกับวิกฤตโควิด-19 แต่ยอดจดทะเบียนนั้นมีสูงถึง 21,889 คัน (หากนับเฉพาะรถยนต์จะมียอดราว 19,000 คัน) ทำให้ยอดสะสมของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทยมีมากกว่า 175,000 คันแล้ว (นับยอดถึง 31 สิงหาคม 2563)


อย่างไรก็ตาม หากคิดเป็นสัดส่วนเทียบกับยอดขายของรถใหม่ 8 เดือนมีทั้งสิ้นราว 448,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้านั้นจะมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 4% ของยอดขายทั้งหมด นับว่ายังห่างไกลเป้าหมาย 30% เป็นอย่างมาก แล้วจะทำยอดเพิ่มขึ้นได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่แผนในอนาคต



หลังจากที่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติแผนการลงทุนให้กับผู้ที่สนใจยื่นขอสนับสนุนการลงทุนในปีนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วพบว่า มีผู้ขอสนับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่ โตโยต้า, นิสสัน, มาสด้า, ฮอนด้า และมิตซูบิชิ เม็ดเงินลงทุนรวม 50,366 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 352,500 คัน/ปี


ส่วนผู้ขอสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั้กอินไฮบริดมีจำนวนทั้งสิ้น 6 โครงการ ได้แก่ โตโยต้า, มิตซูบิชิ, อาวดี้, เอ็มจี, เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู เม็ดเงินลงทุนรวม 11,443 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 87,240 คัน/ปี


สำหรับผู้ขอสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ มีทั้งสิ้น 13 โครงการ ได้แก่ โตโยต้า, มิตซูบิชิ, นิสสัน, เอ็มจี, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, อาวดี้, เอ็มจี, เมอร์เซเดส-เบนซ์, ฟอมม์, ทาคาโน่, สามมิตร, สกายเวลล์ และ ไมน์ เม็ดเงินลงทุนรวม 15,625 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 125,140 คัน/ปี และอีก 2 โครงการเป็นการขอสนับสนุนการผลิตรถบัสไฟฟ้า เม็ดเงินลงทุนรวม 665 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 1,600 คัน/ปี


เมื่อรวมกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดทุกประเภทที่ได้รับการส่งเสริมจะมียอดผลิตรวมมากกว่า 560,000 คัน/ปี แต่แน่นอนว่าจะต้องมีการผลิตเพื่อส่งออกด้วยบางส่วนซึ่งเทียบอัตราส่วนตามปกติ ประเทศไทยจะผลิตเพื่อขายและส่งออกในสัดส่วนราว 50-50 ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะมีการขายในประเทศถึงราว 280,000 คัน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนซึ่งทุกค่ายจะต้องเริ่มภายใน 3 ปีข้างหน้า ตามเงื่อนไขของบีโอไอ


ทั้งนี้ ตามปกติรถยนต์แต่ละรุ่นโมเดลจะมีอายุการทำตลาดตั้งแต่ 6-7 ปี แล้วแต่รุ่น ฉะนั้นหากประเทศไทยสามารถรักษาระดับการขายภายในประเทศที่ราว 800,000-1,000,000 คันต่อปีเอาไว้ได้ เป้าหมาย 30@30 จึงถือว่าไม่ไกลเกินเอื้อม


xEV เฟสสอง


ยังไม่ทันที่โครงการสนับสนุนการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าเฟสแรกจะแจ้งเกิดสำเร็จ ภาครัฐโดยบีโอไอได้แถลงแผนการสนับสนุนการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าเฟสที่ 2 เรียบร้อยแล้ว โดยคราวนี้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่การผลิตจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก และเรือด้วย


โดยค่ายรถยนต์ที่ให้ความสนใจจะลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเฟสสองนั้นมีค่อนข้างแน่นอนแล้วหนึ่งราวได้แก่ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ทั้งนี้ ทาง เกรท วอลล์ มอเตอร์ เองได้แสดงความชัดเจนในเรื่องของการลงทุนและการนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ อย่างชัดเจน แม้จะยังไม่เปิดตัวสินค้าใดๆ ในประเทศไทย แต่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายอยู่ในประเทศจีนแล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากในการขึ้นไลน์ประกอบในประเทศไทย


อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวภาครัฐคงไม่ได้มองแค่แบรนด์เดียวเท่านั้น แต่ยังมีอีกหนึ่งแบรนด์ที่ภาครัฐต้องการดึงให้เข้ามาทำในประเทศไทยนั่นก็คือ “เทสลา”


เทสลา กับประเทศไทยนั้น หากติดตามข่าวสารด้านยานยนต์มาอย่างต่อเนื่องจะทราบว่า ดูแล้วมีความเป็นไปได้น้อยมากที่เทสลาจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยภายใต้สถานการณ์ปกติ แต่ปัจจุบันการที่เทสล่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในประเทศจีน รวมกับหากรัฐบาลไทยออกหน้า นำเสนอเงื่อนไขสนับสนุนการลงทุนที่น่าสนใจ จึงมีความเป็นไปได้ที่เทสลาจะมองมาที่ประเทศไทยบ้าง


เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลของอินโดนีเซียได้เจรจากับเทสล่า เพื่อดึงเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานที่เมืองอิเหนาด้วย แสดงให้เห็นว่าเทสลากำลังมองหาทำเลใหม่ในการลงทุนอยู่ ฉะนั้น หากรัฐบาลไทยไม่อยากตกสำรวจ คงต้องการเดินหน้าสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าให้แจ้งเกิดได้อย่างจริงจังเสียที


ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าการจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีการใช้งานอย่างแพร่หลาย นอกจากเงื่อนไขของภาครัฐแล้ว ยังคงมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบโดยตรงนั่นก็คือเรื่องของสถานีชาร์จไฟฟ้า และระบบสาธารณูปโภคที่สามารถรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างสะดวก


สถานีอัดประจุ เป้า 2 ปี 10,000 จุด


สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าปัจจุบัน ประเทศไทยมีอยู่ทั้งสิ้น 1,818 หัวจ่าย 557 พื้นที่ และมีผู้ให้บริการ 10 ราย โดยรายใหญ่เป็นเอกชน คือ กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (EA) มีหัวจ่ายมากถึง 1,559 จุด ทั้งแบบชาร์จเร็วและชาร์จปกติ ส่วนเป้าหมายของภาครัฐนั้นเน้นการส่งเสริมให้มีการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ได้ถึง 10,000 จุด ภายในปี 2022 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า และ 100,000 จุด ภายในปี 2030 เพื่อรองรับให้เพียงพอกับการขยายตัวของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งเมื่อประเมินเทียบอัตราส่วนแบบ 1 หัวจ่ายต่อรถ 10 คัน หากเป้าหมายการขายเป็นไปตามที่คาดเอาไว้ ในปี 2030 ประเทศไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้าสะสมมากกว่า 1,500,000 คัน นั่นหมายความว่าสถานีชาร์จไฟฟ้าอาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน


เหนืออื่นใด ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟนั้นยังมีปัญหาในเรื่องของการคิดค่าไฟฟ้าในการชาร์จ และติดขัดเงื่อนไขทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้บุคคลหรือเอกชนสามารถขายไฟฟ้าได้ มีเพียงการไฟฟ้าฯ เท่านั้นที่จะสามารถขายไฟฟ้าได้ ส่วนที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นการชาร์จฟรี ขณะที่เอกชนจะเป็นการเลี่ยงบาลีด้วยการคิดค่าเช่าเวลาจอด มิใช่ค่าไฟ


ปัญหาดังกล่าวจึงยังคงเป็นสิ่งที่รอการแก้ไขจากภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงคือ กระทรวงพลังงาน ที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นหน่วยงานในสังกัด แต่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นสองหน่วยงานที่จัดเก็บค่าไฟกลับอยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นเรื่องที่ดูเหมือนง่ายจึงยังคงเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้


ระดับโลกมุ่งหน้ารถยนต์ไฟฟ้า 100%

สำหรับการคาดการณ์จาก Deloitte analysis ระบุว่า ในปี 2020 นี้ ทั่วโลกจะมียอดขายรถยนต์แบบ xEV ประมาณ 2.5 ล้านคัน และจะเพิ่มเป็น 11.2 ล้านคันภายในปี 2025 ก่อนที่จะไปแตะระดับ 31.1 ล้านคันในปี 2030 โดยมีอัตราส่วนราว 32% ของยอดจำหน่ายรถยนต์รวมทั่วโลก


ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการของไทยในการวางยุทธศาสตร์การเติบโตของรถยนต์แบบ xEV ของไทยที่ตั้งเป้าเอาไว้ 30% ภายในปี 2030 เช่นเดียวกับทิศทางของตลาดโลก โดยประเทศจีนจะยังคงครองส่วนแบ่งตลาดที่มีรถ xEV จำหน่ายมากที่สุดในโลกราว 49% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วทั้งโลก ขณะที่ยุโรปจะครองส่วนแบ่งราว 27% และอเมริการาว 14%

ฉะนั้นแล้ว หากประเทศไทยต้องการก้าวเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก เราต้องเร่งสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการสนับสนุนให้กับผู้ใช้งานโดยตรงที่ทั่วโลกนั้นต่างเน้นในส่วนนี้เป็นหลักมากกว่าให้กับผู้ผลิต เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือที่จอดพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการอุดหนุนด้านราคาให้กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งหากรัฐบาลไทยต้องการให้รถยนต์ไฟฟ้าแจ้งเกิดได้จริงๆ ควรจะต้องเร่งมือทำ ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ ให้ครบถ้วนดังที่กล่าวมา มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าประเทศไทยจะตกขบวนรถไฟสาย EV นี้เสียเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น