xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กมธ.ยานยนต์ไฟฟ้า เสวนาขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพ หนุนใช้ EV Conversion

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอระวี” เผยอนุ กมธ.ยานยนต์ไฟฟ้า จัดเสวนาโต๊ะกลมแลกเปลี่ยนความคิดขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มองเปลี่ยนใช้ EV Conversion น่าจะเป็นยุทธวิธีหลักที่เหมาะสมที่สุด

วันนี้ (3 พ.ย.) นพ.ระวี มาศฉมาดล ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ยานยนต์ไฟฟ้า ใน กมธ.การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย” โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรมพัฒนาพลังทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานของหน่วยงาน การขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้งานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

โดยนายประสิทธิ์ สิริทิพย์รัศมี ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงาน กกพ.ให้ข้อมูลว่า กกพ.มีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่วนของสถานีประจุไฟฟ้าใน 3 บทบาท ได้แก่ 1. การออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 2. จัดทำมาตรฐานการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าตามหลักวิศวกรรมและความปลอดภัย และ 3. กำกับอัตราค่าบริการระหว่างการไฟฟ้ากับสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าประเภท 3.2 สำหรับกิจการขนาดกลาง

ด้านนายดุสิต อนันตรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชี้นำและเตือนภัยอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ดำเนินมาตรการในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย โดยเรื่องดังกล่าวได้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก รวมถึงการลงทุนในการวิจัยและการพัฒนา ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินนโยบายหลายประการ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ และภาษีของกรมสรรพสามิต ที่ให้สิทธิประโยชน์กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ลงทุนกับ BOI

ทั้งนี้ อนุ กมธ.ได้ตั้งประเด็นอภิปรายในที่ประชุม ถึงความเหมาะสมในการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ยานยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ในประเทศทั้งหมดเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ (ZEV) ในปี 2035 ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้มลพิษ รวมถึงตั้งข้อสังเกตยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีประสิทธิภาพ (ICE) เก่า ไปเป็นยานยนต์ประเภทที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) นั้น การแปลงยานยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) น่าจะเป็นยุทธวิธีหลักที่เหมาะสมที่สุดหรือไม่






กำลังโหลดความคิดเห็น