Mercedes-Benz SUV Driving Eventsหนึ่งในกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่เปิดประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในแบบที่หลายท่านไม่เคยเห็นมาก่อนว่า รถหรูระดับนี้ นั้นสามารถนำมาขับลุยได้ รวมถึงได้ทดลองสมรรถนะและระบบต่างๆ ที่ทีมวิศวกรได้ใส่เอาไว้ให้กับรถ เรียกว่าไม่ผิดหวังถ้าท่านได้มาร่วมกิจกรรมกับทางเมอร์เซเดส-เบนซ์แบบนี้ ส่วนจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ติดตามกันได้
ลุยฝุ่นความเร็วสูงจุดแรกที่เราได้ทดลองขับเป็นสถานีการขับขี่บนทางลูกรัง ที่จำลองสนามแข่งแบบครอสคันทรี่ ให้เราได้กดคันเร่งแบบเต็มสปีดบนพื้นผิวที่มีครบทั้งทรายและกรวด เรียกว่าเข้าโค้งแต่ละครั้งฝุ่นลอยตลบอบอวลทั่วพื้นที่เลยทีเดียว โดยทีมงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ จัดรถเตรียมไว้ที่สถานีนี้ 3 รุ่น คือ GLC , GLB และ GLA เพื่อให้ผู้ขับได้เปรียบเทียบความรู้สึกและความแตกต่างของรถขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลังเมื่อต้องขับแบบรวดเร็วเช่นนี้
คันแรกที่เราได้ขับเป็น GLC ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังเป็นหลัก ขับสนุกการสาดเข้าโค้ง มีสไลด์ออกไปบ้าง แต่มั่นใจว่าเอาอยู่ ทางตรงยาวๆ กดคันเร่งรถพุ่งติดเท่าดี จังหวะเข้าโค้งกลับรถแบบ 3 โค้งติด คือความสนุกสนานที่สุด จากพวงมาลัยที่ควบคุมง่ายใช่ให้แก้การเสียการทรงตัวในจังหวะออกจากโค้งได้อย่างประทับใจ
รอบต่อมาได้ลอง GLA เห็นชัดในเรื่องความแตกต่าง ที่ GLA ทำได้ดี เกาะจิกโค้งมากกว่า แม้จะเป็นรถขับหน้าก็ตาม ส่วนหนึ่งเพราะขนาดที่เล็กและน้ำหนักตัวที่เบากว่า แต่ถ้ามองเรื่องความสนุกในการสาดโค้งแล้ว GLC ให้ความรู้สึกที่สนุกและมั่นใจว่าแก้อาการได้ง่าย
ขณะที่รอบสุดท้ายเป็นการขับ GLB ซึ่งในสภาพเดียวกัน เทียบกับ 2 รุ่นดังกล่าวข้างต้นแล้วบอกแบบไม่เกรงใจว่า ขับแล้วให้ความรู้สึกที่ดีกว่า ทั้งการทรงตัวเมื่อวิ่งทางฝุ่นด้วยความเร็ว การเข้าโค้ง การโยนตัวและต้องแก้อาการทำได้ง่ายดีเกินความคาดหมาย และมิใช่เพียงแค่ผู้เขียนคนเดียวแต่สื่อหลายที่ท่านร่วมในกิจกรรมนี้ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ดีเกินคาด
ต้นเหตุของการขับทางฝุ่นแล้วผลลัพธ์ออกมาดีงาม ทั้งที่ GLB เป็นรถแบบขับเคลื่อนล้อหน้า จากการสอบถามทีมงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไขความลับนี้ว่าเป็นผลมาจากการใช้แพลตฟอร์มใหม่ที่ทีมวิศวกรเริ่มนำมาใช้ใน GLB รวมถึงการใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูงเรียกพละกำลังได้มากถึง 163 แรงม้า จากเครื่องยนต์ขนาดความจุ 1.3 ลิตร ซึ่งยังส่งผลดีในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ปล่อยมลพิษน้อยลงกว่าเครื่องยนต์อื่นๆ อีกด้วย
เรียกว่า จุดทดสอบนี้เราเทใจเลือก GLB แบบไม่ลังเล ด้วยค่าตัวระดับ 2,680,000 บาท ถือว่าไม่สูงจนเกินไป และที่สำคัญคือ เป็นรถนำเข้า โดยรุ่นนี้ไม่มีแผนประกอบในประเทศไทยแต่อย่างใด ดังนั้นใครที่สนใจ ไม่ต้องรอว่าราคาจะถูกลงเมื่อมีรุ่นประกอบในประเทศนะเพราะประธานยืนยันชัดเจนว่า GLB No CKD
ลองทางธรรมชาติ
จุดทดสอบที่สองเป็นการขับลุยเส้นทางธรรมชาติจริงๆ ด้วยการขับเข้าป่า ที่แม้จะดูง่ายๆ เหมือนไม่มีอะไรเพราะเป็นเส้นทางที่จัดเตรียมไว้แล้ว แต่ความจริงมีหลายจุดที่เรียกว่า ถ้ารถไม่พร้อมหรือกำลังไม่ถึงจะไม่สามารถผ่านอุปสรรคไปได้อย่างแน่นอน โดยจุดนี้มีรถให้เลือก 3 คัน และเราเลือกคบหากับ GLE ส่วนอีก 2 คันคือ GLC ทั้งคู่
การขับในช่วงนี้มีจุดที่ยากอยู่ 2 แห่งจุดแรกเป็นเนินสูงที่ชันมากและในจังหวะไต่นั้นหากกำลังไม่เพียงพอจะไม่สามารถขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องมีการปิดระบบ ESP เพื่อช่วยเรียกกำลังหากมีการสูญเสียการยึดเกาะจากล้อที่ปั่นฟรี เพราะหากเปิดระบบนี้ไว้ เมื่อล้อปั่นฟรี ระบบESP จะลดกำลังของเครื่งยนต์ทันที ทำให้ไม่สามารถผ่านอุปสรรคไปได้ ซึ่งเมื่อปิดเรียบร้อย เราสามารถผ่านฉลุย
ขณะที่อีกหนึ่งจุดยากคือการผ่านเนินที่ไม่สามารถมองเห็นทางได้ โชคดีที่เราเลือก GLE ซึ่งมีกล้องมองด้านหน้าและหลังช่วยให้เห็นเส้นทางทำให้ผ่านไปได้ไม่ยากแต่อย่างใด ทั้งนี้การขับตลอดเส้นทางด้วยช่วงล่างแบบถุงลม Airmatic ทำให้รู้สึกว่าการจ่ายเงินจำนวนมากระดับ 5-6 ล้านบาท เพื่อระบบต่างๆ แบบนี้คุ้มค่าขึ้นมาทันที เพราะสบายต่างจากรถที่ใช้ช่วงล่างแบบคอยสปริง แต่ยังน่าหวั่นใจตอนที่ระบบช่วงล่างนี้เสียและต้องเปลี่ยนเพราะมีราคาแพงมากเช่นเดียวกับตัวรถนั่นเอง
วิบากจำลอง
สถานีทดสอบที่3เป็นการจำลองพื้นที่วิบากที่สนามได้จัดทำขึ้น โดยมีหลากหลายรูปแบบเพื่อให้เราทราบถึงทักษะในการขับขี่แบบออฟโรด รวมถึงเป็นการฝึกขับขี่แบบออฟโรดหากต้องได้ขับใจในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสถานีนี้มีรถให้เลือก 3 รุ่นเช่นเดียวกัน และเราเลือก GLS ที่เหลือคือ GLC และGLC Coupe
การเลือกขับ GLS ทำให้ทุกอย่างดูง่ายไปหมดเพราะระบบของรถทำให้เสร็จโดยที่เราแทบไม่ต้องใช้ทักษะใดๆ เพียงแค่ควบคุมพวงมาลัย กดเบรกและคันเร่งเท่านั้น โดยจุดแรกเป็นหลุมขนมครก เพื่อดูการขับแบบมีล้อข้างหนึ่งลอยอยู่ เราผ่านมาได้อย่างง่ายดายด้วย Walking Speed จากแรงบิดที่เหลือเฟือของ GLS
ถัดมาเป็นการลุยน้ำลึกราว 40 ซม. หรือกลางดุมล้อ จากนั้นขับขึ้นเนินเอียงที่มีการขับผ่านสันของเนินแบบสลาลม ทำให้ล้อรถลอย 2 ล้อ เรียกว่าจัดหนักให้กับตัวรถ ซึ่ง GLS ไม่มีปัญหาขับผ่านแบบสบายๆ ต่อมาเป็นการขับขึ้นเนินสูงที่มีหินลื่นก่อนขึ้น แล้วต่อด้วยโค้งหักศอกที่ถ้ารถไม่สูงพอจะติดหรือกำลังไม่มากพอจะไม่สามารถผ่านไปได้ สุดท้ายจบด้วยการขับลุยผ่านน้ำอีกครั้ง แน่นอนว่า การได้ขับ GLS ทำให้อุปสรรคทุกอย่างดูเป็นเรื่องง่ายไปเสียหมด
4 Matic คือ อีกหนึ่งระบบที่ต้องขอบคุณทีมวิศวกรของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่คิดค้นและสร้างออกได้อย่างน่าประทับใจกับการใช้งานในลักษณะนี้ ช่วยการขับขี่ออฟโรดง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีทักษะมากมายแต่อย่างไรก็สามารถขับผ่านอุปสรรคไปได้
ถึงบรรทัดนี้กิจกรรม Mercedes-Benz SUV Driving Events นับว่าเป็นอีกหนึ่งงานดีๆที่ช่วยให้รับรู้ถึงสมรรถนะและความแตกต่างของรถแต่ละคันในตระกูล G ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในชีวิตประจำวันเราจะไม่ได้ใช้งานในลักษณะเช่นนี้ แต่เชื่อว่าหากได้มาลองแล้วคุณจะเข้าใจลึกซึ้งและตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเลือกรุ่นไหนที่เหมาะกับตัวเอง