สำหรับตลาดรถยนต์ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สดใส คึกคักอย่างเห็นได้ชัด ด้วยตัวเลข 489,000 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.3% ส่งผลให้ตัวเลขยอดขายรวมของปีนี้ ขยับจาก 900,000 คัน เป็น 980,000 คัน ทำให้ครึ่งปีหลังค่ายรถต่างเตรียมพร้อมเพื่อร่วมแข่งขันในศึกใหญ่ครั้งนี้
ในฐานะยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์ อย่าง “โตโยต้า” จะมีกลยุทธ์ที่จะพิชิตยอดขายเพื่อก้าวเป็นที่ 1 ในตลาดทุกเซกเมนต์และครองแชมป์ตลาดรวมอย่างไร รวมถึงทิศทางของตลาดรถยนต์ในภาพรวมหลังจากนี้ MGR ONLINE ได้มีโอกาสเข้าร่วม สัมภาษณ์ “มิจิโนบุ ซึงาตะ” เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ติดตามอ่าน
ถาม : ปัจจัยหลักที่ทำตลาดรถยนต์โดยรวมเติบโตมากขึ้น
ตอบ : การปรับเพิ่มตัวเลขยอดขายปีนี้ เป็น 980,000 คัน พิจารณาจากยอดขายในครึ่งปีแรก ที่เติบโตเกินกว่าครึ่งของตลาดรวมและคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ยอดขายน่าจะเติบโตน้อยกว่าครึ่งปีแรก อยู่ที่ประมาณ 12% โดยพิจารณาจากสัดส่วนยอดขายของครึ่งปีหลังในปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งปัจจัยหลักมาจากเรื่องเศรษฐกิจพื้นฐาน การสนับสนุนด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวที่กระเตื้องไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับการแข่งขันของค่ายรถยนต์ ที่มีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ล้วนทำให้ตลาดรถในช่วงครึ่งปีหลัง น่าเติบโตเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ตลาดรถโดยรวมเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ ”
ถาม : พฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยเป็นอย่างไร
ตอบ : พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง โดยสังเกตจากหลังเปิดตัว ซีเอช-อาร์ ไฮบริด ออกสู่ตลาดไทย ผู้บริโภคเลือกซื้อรถไฮบริดมากขึ้นกว่าที่มีการเปิดตัว คัมรี่ ไฮบริด ปี 2009 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประหยัดน้ำมัน และรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้วยเช่นกัน ขณะที่ลูกค้ารถเพื่อการพาณิชย์ ยังคงเน้นในเรื่องของพละกำลังและการประหยัดน้ำมันเป็นหลักเหมือนเช่นเดิม ด้วยเหตุนี้ ทำให้โตโยต้า พยามยามที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก
ถาม : สัดส่วนของตัวเลขยอดขายของรถไฮบริดมีมากน้อยแค่ไหน
ตอบ : ปัจจุบัน เราจำหน่ายรถไฮบริด 2 รุ่น ได้แก่ คัมรี่ กับ ซีเอช-อาร์ ตั้งแต่เปิดตัว ซีเอช-อาร์ และส่งมอบเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มียอดขายเฉลี่ยประมาณ 2,000 คันต่อเดือน โดยสัดส่วนรถไฮบริดขายได้มากกว่า เฉลี่ยประมาณ 70-80% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ถาม : กรณีการฟ้องร้องของกรมศุลกากร เรื่องการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อประกอบ โตโยต้า พรีอุส ไฮบริด ส่งผลกระทบต่อการทำตลาดรถรุ่นนี้ และรถไฮบริดรุ่นอื่นๆ ในไทยหรือไม่
ตอบ : ในเรื่องนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้โตโยต้าชนะคดี โดยพิจารณาว่า การประเมินของกรมศุลกากรมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดในเรื่องของการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อประกอบรถยนต์อย่างชัดเจน ขณะนี้ ทางกรมศุลกากรได้ยื่นอุทธรณ์และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลดังกล่าว คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น โตโยต้า จึงยังไม่มีการผลิตรถรุ่นนี้ เพื่อป้องกันข้อครหาการปฏิบัติไม่ถูกต้อง แต่เมื่อคดีสิ้นสุด โตโยต้าจะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการผลิตรถไฮบริดรุ่นอื่นๆ ในไทยนั้น คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะเราจะนำเข้าชิ้นส่วนในปริมาณที่มากพอ เพื่อที่จะไม่ให้เป็นประเด็นสำหรับการโต้แย้งของกรมศุลกากร
ถาม : การแข่งขันตลาดรถเล็กในครึ่งปีหลังเป็นอย่างไร
ตอบ : การแข่งขันสำหรับตลาดรถเล็ก หรือ อีโคคาร์ในช่วงครึ่งปีแรก จะเน้นการจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย ด้วยการลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อให้ลูกค้าสามารถออกรถได้ง่ายที่สุด สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อย ซึ่งแคมเปญดังกล่าวช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี และน่าจะใช้แนวทางนี้ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี
ถาม : รุ่น ยาริส เอทีฟ เป็นตัวหลักในการทำตลาดรถนั่ง จะเข้ามาแทนที่ วีออส หรือไม่
ตอบ : ด้วยราคาจำหน่ายที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ยาริส จึงแย่งตลาดของ วีออส พอสมควรและทำให้ยอดขายลดลง ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่เรายังคงทำตลาด วีออส ต่อไป เพราะด้วยรูปทรงและขนาดของเครื่องยนต์ที่แตกต่างกัน ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มยังมีความต้องการของรุ่นนี้อยู่ แม้เครื่องยนต์ขนาด 1,200 ซีซี ซึ่งเป็นอีโคคาร์ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและราคาถูกว่า ยังมีความต้องการอยู่ ดังนั้น การเลือกซื้อรุ่นใดนั้นขึ้นอยู่กับราคาและความต้องการของลูกค้าในการใช้งาน
ถาม : ตลาดรถกระบะและการแข่งขันในช่วงครึ่งหลังเป็นอย่างไร
ตอบ : ในส่วนของตลาดรถกระบะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกค่ายพยายามอย่างเต็มที่ในการเพิ่มยอดขาย ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าช่วงครึ่งปีหลัง การแข่งขันน่าจะร้อนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดรถโดยรวมให้เติบโตมากขึ้น และเป็นไปตามเป้า คือ 980,000 คัน
ถาม : มีความคิดเห็นเกี่ยวกับรถกระบะที่มีแรงม้าสูงอย่างไร
ตอบ : เชื่อว่าเครื่องยนต์ที่มีความแรงถือเป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า แต่เป็นความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ถ้าลูกค้ารถกระบะที่ต้องการซื้อเพื่อนำไปใช้งาน จะต้องการรถที่มีแรงบิดมากกว่าแรงม้า และต้องการเครื่องยนต์ที่ประหยัดน้ำมันมากกว่าด้วย ลูกค้าคงเลือกใช้รถตามความต้องการ
ถาม : มีนโยบายในการปรับลดเครื่องยนต์ให้มีขนาดเล็กเหมือนคู่แข่งหรือไม่
ตอบ : ไม่มีนโยบายในการปรับลดเครื่องยนต์ ปัจจุบันเราใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กสุด คือ ขนาด 2,400 ซีซี ซึ่งถือเป็นจุดที่สมบูรณ์ของพละกำลังและการประหยัดน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงบิด ที่เหมาะสำหรับการบรรทุกและการลากจูง ทั้งตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ถาม : คาดว่าจะเป็นแชมป์ทั้ง 3 ตลาดสำหรับปีนี้หรือไม่
ตอบ : สำหรับตลาดรถยนต์นั่งช่วงครึ่งปีแรก โตโยต้ายังคงเป็นแชมป์ และหากไม่มีอะไรผิดพลาดเราจะยังคงเป็นผู้นำในตลาดนี้ ส่วนรถกระบะ เรายังเป็นที่ 2 และในช่วงที่ผ่านมา เราได้พยายามทำตลาดและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น โดยปรับโฉม ไฮลักซ์ รีโว่ รุ่นใหม่ ออกสู่ตลาดเมื่อปลายปีที่แล้ว และเป็นที่ถูกใจของลูกค้า ทำให้ยอดขายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่วันนี้ ไม่สามารถฟันธงได้ เพราะการต่อสู้ยังเหลืออีกครึ่งปี ซึ่งเราพยายามที่จะดูแลลูกค้าในเงื่อนไขการซื้ออย่างเต็มที่ และพยายามทำให้ดีที่สุดสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้
ถาม : เตรียมความพร้อมการผลิตสำหรับรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างไร
ตอบ : โรงงานของโตโยต้า มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 770,000 คันต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สามารถผลิตรถเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่ถ้ามีปริมาณมากกว่านี้ เราสามารถเพิ่มการทำงานนอกเวลา เพื่อรองรับการผลิตตามจำนวนที่ต้องการได้
ถาม : ตลาดส่งออกเป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ : สำหรับการส่งออกในครึ่งปีแรก โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จำนวน 145,080 คัน เพิ่มขึ้น 7 % จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่าสถานการณ์การส่งออกในตลาดตะวันออกกลางมีการปรับลดลง ขณะเดียวกันการส่งออกไปยังตลาดเอเชียและโอเชียเนียมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ซึ่งเราได้เริ่มต้นทำการส่งออกรถกระบะไฮลักซ์ไปยังประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนกันยายนปีนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 5,400 คัน ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป คิดเป็นมูลค่า 74,250,000 บาท และมีการส่งออกชิ้นส่วนมูลค่า 29,875,000 บาท รวมมูลค่าการส่งออกที่ 104,125,000 บาท และในส่วนของเป้าหมายการส่งออกในปี 2561 นั้น เราคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกของโตโยต้ายังคงอยู่ที่ 300,000 คัน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา
ถาม : วิเคราะห์แนวโน้มตลาดอาเซียนในปีนี้
ตอบ : สำหรับตลาดรถอาเซียนในปีที่แล้ว มียอดขายรวม 3,360,000 คัน เติบโต 6% เมื่อเทียบกับปี 2016 ปัจจัยหลักจากการฟื้นตัวของตลาดไทย ทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับตลาดฟิลิปปินส์มียอดขายที่ดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดรถในอาเซียนมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายรวม 1,710,000 คัน เติบโต 7% เนื่องจากตลาดมาเลเซีย มียอดขายโตแบบก้าวกระโดด หลังจากที่มีการปรับลดภาษีเป็น 0% ทำให้ยอดขายรถเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ มียอดขายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน รวมทั้งไทยที่มียอดขายเพิ่ม 19.3% ยกเว้นฟิลิปปินส์ ที่มีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตรถในประเทศ ทำให้ยอดขายลดลง
ดังนั้น ในปีนี้ คาดว่ายอดขายในตลาดอาเซียน น่าจะอยู่ที่ 3,500,000 คัน เนื่องจากตลาดไทยและตลาดอินโดนีเซียมีการขยายตัว โดยตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับยอดขายสูงสุดในช่วงปี 2013 คือ 3,590,000 คัน
ทั้งหมดนี้ เป็นมุมมองทางการตลาดของ “โตโยต้า” ที่จะพิชิตศึกครองแชมป์ 3 ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง และผลักดันตลาดรถยนต์โดยรวมก้าวสู่ฝัน 980,000 คัน