ถ้าภรรยาของคุณถามคุณว่า “จงเลือกระหว่างงานกับภรรยา” คำตอบของคนส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นคำว่า “ภรรยา” แต่สำหรับชายคนนี้ “ฮิโรชิ ทามูระ” คำตอบของเขาคือ “งาน” นั่นก็เพราะว่างานของเขา มิใช่งานธรรมดาทั่วไป มันเป็นการสร้างรถยนต์ “นิสสัน จีที-อาร์” นั่นเอง
ทามูระ ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่ง จีที-อาร์ นั่นก็เพราะว่าตัวเขาทุ่มเททั้งชีวิต ถึงขนาดละทิ้งชีวิตส่วนตัว เพื่อสร้างสรรค์รถยนต์ขึ้นมาหนึ่งคัน เขาเริ่มงานกับนิสสัน ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1984 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีหน้าที่รับผิดชอบหลักคือ โปรเจค จีที-อาร์ คันนี้ ทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ได้มีโอกาสพูดคุยกับวิศวกรระดับตำนานท่านนี้ถึงเรื่องราวต่างๆ มากมาย มาดูกันว่า ทามูระ จะเอ่ยถึง จีที-อาร์ ลูกรักของเขาอย่างไรบ้าง
แนวคิดสำคัญในการสร้างจีที-อาร์ ทามูระ บอกว่า ต้องเป็นรถที่แรงและราคาจับต้องได้ ให้ลองนึกดูดีๆ ทั้งโลกนี้ รถแบบโปรดักชั่นคาร์ พิกัด 6 สูบ นิสสัน จีที-อาร์ คือรถที่มีแรงม้าต่อกระบอกสูบสูงที่สุด เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ ปอร์เช่ 911 จีที2 อาร์เอส เท่านั้น
นิสสัน จีที-อาร์ มีพละกำลังมาตรฐานที่ 570 แรงม้า (สเปคไทย 555 แรงม้า)จากเครื่องยนต์ 6 สูบ นั่นหมายความว่า แต่ละสูบสามารถผลิตกำลังได้มากถึง 95 แรงม้า กับราคาค่าตัวในประเทศไทยที่ 13.5 ล้านบาท เทียบกับรถซุปเปอร์คาร์ที่มีพละกำลังแรงม้าในระดับเดียวกันแล้วถือว่า จับต้องได้ง่ายกว่า ขณะที่ ปอร์เช่ 911 จีที2 อาร์เอส กำลังระดับ 700 แรงม้า ราคาค่าตัว 33.5 ล้านบาทต่างกันเกือบ 3 เท่าตัว
เหนืออื่นใด แม้คุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงจะไม่สู้ดีนัก แต่ทามูระบอกว่า ทีมงานนิสสัน ได้เพิ่มเติมอุปกรณ์พิเศษพร้อมการปรับแต่ง จีที-อาร์ เวอร์ชั่นไทยให้เหมาะสมกับน้ำมันดังกล่าวแล้ว (Thailand Only) นิสสันจึงมั่นใจด้วยการมอบการรับประกันเต็มพิกัดให้กับจีที-อาร์ที่จำหน่ายโดยนิสสัน ประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกสิ่งที่ ทามูระ ห่วงเป็นพิเศษ คือ การเติมสารปรุงแต่งในน้ำมันเชื้อเพลิงหรือ Octane Booster ที่มีวางจำหน่ายทั่วไป การเติมที่ถูกต้องคือ ใช้หมดถังแล้วเติมจนเต็ม แล้วใช้ให้หมดถัง แต่หากยังใช้น้ำมันถังนั้นไม่หมด แล้วไปเติมน้ำมันเพิ่ม ค่าออกเทนจะสวิงไปมา ส่งผลเสียอย่างมากต่อเครื่องยนต์ อาจจะไม่พังในทันที แต่หากทำต่อเนื่องในระยะ 1-2 ปี ความเสียหายเกิดขึ้นแน่
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ จีที-อาร์ ทำตลาดมาแล้วถึง 7 ปี น่าจะเป็นช่วงปลายอายุโมเดลแล้ว โมเดลใหม่กำลังจะมาใช่หรือไม่ คำตอบของคำถามนี้ ทามูระบอกว่า มีเพียง “มิสเตอร์ กอส์น” คนเดียวที่ตอบได้ (หมายถึง คาร์ลอส กอส์น ผู้บริหารสูงสุดของนิสสัน) แต่เขาก็ได้ให้ไกด์ไลน์เอาไว้ว่า หากนับอายุการทำตลาดของ นิสสัน จีที-อาร์ จะมีอายุโมเดลมากกว่า 10 ปี ดังนั้น มั่นใจได้ว่า โมเดลนี้ยังมีอายุอีกอย่างน้อย 3-4 ปีในการทำตลาด
ทำไมจึงได้ชื่อว่า “ก็อตซิล่า” ทามูระ กระซิบบอกเราแบบทีเล่นทีจริงว่า เขารู้ว่ามันเกิดจาก ครั้งหนึ่งที่เอา นิสสัน สกายไลน์ จีที-อาร์ ไปแข่งที่ไต้หวัน แล้วด้วยเสียงคำรามของเครื่องยนต์กับความแรงของมัน ทำให้คนที่นั่นกลัวและเปรียบว่า สกายไลน์ จีที-อาร์ เป็นเหมือน ก็อตซิล่า สัตว์ประหลาดชื่อดังของญีปุ่น
และเมื่อถามว่าเขาชอบอะไรที่สุดใน จีที-อาร์ คำตอบนี้เหนือความคาดหมาย เพราะเขาบอกว่า ชอบการเชื่อมต่อ ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่อระหว่างคนกับรถ การบังคับควบคุม การส่งผ่านความรู้สึกในการขับขี่ เขาไม่ได้สร้างรถเพื่อความแรงเพียงอย่างเดียว แต่สร้างให้มีความสมดุลในทุกๆ ด้าน และผลลัพท์ที่ได้นั่นคือ นิสสัน จีที-อาร์
1984 – ร่วมงานกับนิสสัน
1987 – ย้ายไป Autech Japan
1993 – วางแผนผลิตภัณฑ์ แมกซิม่า/เซฟิโร
1995 – ย้ายกลับมานิสสัน
1997 – วางแผนผลิตภัณฑ์ สกายไลน์ จีที-อาร์
2000 – ผู้จัดการฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์
2006 – หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญ/วางแผนผลิตภัณฑ์