คุณอาจประทับใจสุดๆ กับสมรรถนะของเลกซัส แอลเอส 2018 ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองตลอดเส้นทางบนทางหลวง ขณะที่คนขับนั่งเอนหลังชื่นชมความหรูหราภายในห้องโดยสารอย่างสบายใจโดยแทบไม่ต้องทำอะไรเลย แต่แล้วคุณกลับได้รับรู้ข้อมูลอีกมุมหนึ่งว่า นิสสัน มอเตอร์ เปิดตัวเทคโนโลยีคล้ายกันนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ระบบโปรไพล็อตของนิสสัน คู่แข่งร่วมชาติของโตโยต้า มอเตอร์ บริษัทแม่ของเลกซัส ติดตั้งอยู่ในรถตระกูลมินิแวน เซเรนา และครอสโอเวอร์ เอ็กซ์-เทรล ที่ขายในญี่ปุ่น และเป็นสองแบรนด์ที่ต้องเรียกว่า “คนละชั้น” กับซีดานหรูเลกซัสของโตโยต้าโดยสิ้นเชิง
แน่นอนว่า เลกซัสรุ่นใหม่มีฟีเจอร์การขับขี่อัตโนมัติและระบบความปลอดภัยขั้นสูงอื่นๆ อีกเพียบ ซึ่งรวมถึงระบบช่วยเปลี่ยนช่องทางอัตโนมัติ และทั้งหมดนี้ล้ำกว่าเทคโนโลยีในนิสสันที่เน้นตลาดระดับต่ำกว่า
แต่การเปิดตัวช้ากว่า บวกกับที่เลกซัสยังลังเลที่จะเรียกเทคโนโลยีของตัวเองว่า “ระบบขับขี่อัตโนมัติ” ทำให้ดูเหมือนโตโยต้ากลายเป็นผู้ตาม รวมทั้งยังเน้นย้ำว่า สองค่ายรถใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นเลือกเส้นทางคนละสายในการมุ่งหน้าสู่อนาคตของยานยนต์ไร้คนขับ
ทาคากิ นากานิชิ นักวิเคราะห์ยานยนต์อิสระในโตเกียวบอกว่า คนส่วนใหญ่คิดว่า โตโยต้าเป็นฝ่ายไล่ตาม แต่ความจริงก็คือ สองบริษัทเลือกเดินกันคนละทาง
นิสสันที่ออกแนวรุกเลือกใช้กลยุทธ์ตลาดมวลชน ด้วยการจับระบบขับขี่อัตโนมัติขั้นพื้นฐานใส่ในรถหลากหลายรุ่น พร้อมชูจุดขาย “ระบบขับขี่อัตโนมัติ” เต็มปากเต็มคำเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความประทับใจ
ขณะที่โตโยต้ามาในมาดสุขุมลุ่มลึก เปิดตัวเทคโนโลยีลักษณะเดียวกันนี้ในรถรุ่นท็อป และวางแผนว่า จะรอให้ราคาขยับลงก่อนจึงค่อยขยายไปยังรุ่นอื่นๆ ต่อไป โตโยต้ายังเลือกที่จะโฆษณาจุดเด่นด้านความปลอดภัยมากกว่าความสะดวกสบาย
เคน โคอิบูชิ ผู้จัดการทั่วไประดับบริหารที่รับผิดชอบแผนกการขับขี่อัตโนมัติของโตโยต้า ออกตัวว่า บริษัทไม่อยากให้ลูกค้าเข้าใจผิดและเชื่อมั่นมากเกินไปว่า ระบบขับขี่อัตโนมัติทำแทนคนขับได้ทุกอย่าง
อย่างไรก็ตาม เลกซัสอวดอ้างด้วยความมั่นใจว่า แอลเอสใหม่ “เป็นรถที่ปลอดภัยที่สุดในโลก” ในขณะนี้
กลยุทธ์ของทั้งสองบริษัทมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง นิสสันนั้นแม้ออกตัวก่อนทำให้แบรนด์ได้รับการยอมรับมากขึ้น รวมทั้งกวาดยอดขายอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีสิทธิ์ตกม้าตายถ้าเทคโนโลยีที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเหล่านี้มีปัญหาขึ้นมา ในทางกลับกัน โตโยต้าอาจต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการโน้มน้าวให้ลูกค้ายอมจ่ายแพงกว่าเพื่อแลกกับเทคโนโลยีสุดล้ำ ถ้ายังเน้นย้ำแค่ประสิทธิภาพความปลอดภัยเท่านั้น
ขณะเดียวกัน นิสสันหมายมั่นปั้นมือว่า จะพยายามลดต้นทุนทันทีเพื่อนำระบบเหล่านี้ไปติดตั้งในรถรุ่นต่างๆ ต่อไป แต่ถ้าเทคโนโลยีไม่ดีจริงและไม่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าก็อาจกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ส่วนโตโยต้าที่ติดตั้งเทคโนโลยีนี้เฉพาะในรถหรูเพื่อดูดซับต้นทุนก็อาจกลายเป็นว่า การผลิตออกมาในจำนวนน้อยทำให้ต้นทุนยังสูงลิ่ว
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของโตโยต้าเผยว่า เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติและระบบความปลอดภัยขั้นสูงของเลกซัสจะเป็นมาตรฐานเทคโนโลยีใหม่ที่กระจายไปติดตั้งในแบรนด์อื่นๆ ของโตโยต้าตั้งแต่ปีหน้า
ระบบความปลอดภัยขั้นสูงของแอลเอสมีชื่อว่า เลกซัส เซฟตี้ ซิสเต็ม +A ครอบคลุมฟีเจอร์ความปลอดภัยขั้นสูงหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงสองฟีเจอร์ที่โตโยต้าคุยว่า เพิ่งพัฒนาขึ้นมาเป็นรายแรกของโลก
ฟีเจอร์แรกคือ ระบบเบรกฉุกเฉินก่อนชนที่ตรวจจับคนเดินถนนและบังคับเลี้ยวอัตโนมัติถ้ารถไม่สามารถหยุดได้ทัน ส่วนอีกฟีเจอร์คือ ระบบเบรกอัตโนมัติและเตือนรถขณะถอย ซึ่งจะตรวจจับคนเดินถนนและหยุดรถขณะถอยหลัง เช่น ตอนถอยออกจากช่องจอด
สำหรับเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติของแอลเอสนั้นมีชื่อว่า เลกซัส โคไดรฟ์ ครอบคลุมระบบช่วยตรวจจับเส้นแบ่งเลนเพื่อให้รถวิ่งอยู่ในช่องทางระหว่างผ่านโค้งต่างๆ บนทางหลวง รวมถึงฟังก์ชันที่ก้าวล้ำนำหน้าโปรไพล็อตของนิสสันคือ การชะลอความเร็วอัตโนมัติก่อนเข้าโค้ง
เลกซัส โคไดรฟ์ยังมีระบบช่วยเปลี่ยนเลน ด้วยการตรวจสอบสภาพการจราจรโดยรอบและปรับความเร็วให้สอดคล้อง คนขับเพียงกดไฟเลี้ยว และรถจะจัดการเปลี่ยนช่องทางทันทีที่ปลอดภัย
โคอิบูชิบอกว่า ระบบในแอลเอสและระบบใหม่อื่นๆ ที่จะมาเสริมในปีหน้าจะเทียบเท่าระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 2 เนื่องจากคนขับยังต้องพร้อมเข้าควบคุมรถแทน
แนวทางช้าแต่ชัวร์ของโตโยต้าเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมประยะยาว โดยบริษัทตั้งเป้าเผยโฉมรถไร้คนขับที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองบนทางหลวงประมาณปี 2020 และระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 ที่สามารถวิ่งในเมืองได้ในช่วงต้นทศวรรษ 2020
แต่นิสสันกำหนดเป้าหมายเร็วกว่านั้น โดยคาดว่า โปรไพล็อตรุ่นอัพเกรดจะพร้อมใช้งานตั้งแต่ปีหน้า ด้วยคุณสมบัติในการขับขี่อัตโนมัติบนถนนหลายเลน ส่วนระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบในเมืองที่สามารถขับผ่านทางแยกและทางร่วมต่างๆ รวมทั้งการจราจรที่คับคั่งโดยที่คนขับไม่จำเป็นต้องแทรกแซงใดๆ จะเผยโฉมราวปี 2020
โคอิบูชิไม่คิดว่า เทคโนโลยีของโตโยต้าล้าหลัง แต่อธิบายว่า การขับขี่ในเมืองครอบคลุมสมรรถนะหลายอย่าง เป็นต้นว่า การหยุดอัตโนมัติหรือการเลี้ยวซ้าย-ขวาอัตโนมัติเมื่อเจอสัญญาณไฟแดง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ง่ายๆ
กระนั้น ต้องยอมรับว่า นิสสันอยู่ในจังหวะขึ้นนำ เพราะในช่วงต้นเดือนกันยายน ค่ายรถแห่งนี้จะได้ฤกษ์ปล่อยรถไฟฟ้า ลีฟ รุ่นใหม่ออกมาโชว์สมรรถนะระบบโปรไพล็อตล่าสุด
ลีฟรุ่นใหม่จะมีทั้งฟังก์ชันการตรวจจับช่องทางและควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางอัตโนมัติ รวมทั้งปุ่มกดใหม่สำหรับการจอดอัตโนมัติทั้งแบบการจอดเทียบข้าง การถอยเข้าจอดริมถนน เดินหน้าหรือถอยหลังเข้าซอง ซึ่งหมายความว่า ระบบจะควบคุมคันเร่ง เบรก และพวงมาลัยเองทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม มิชิฮิโตะ ชิมาดะ ผู้จัดการทั่วไปแผนกระบบช่วยจอดของเลกซัส บอกว่า บริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับนิสสัน แต่โฟกัสที่ความปลอดภัยคือป้องกันไม่ให้รถชนคนเดินถนนเป็นอันดับแรก ส่วนความสะดวกสบายเป็นเป้าหมายรองลงมา