โตโยต้า มอเตอร์เล็งบทบาทพี่เลี้ยงและสปอนเซอร์สนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพ ควบคู่ไปกับการเฟ้นหาเพชรเม็ดงามที่ควรค่าสำหรับการลงทุนในอนาคต โดยการก่อตั้งหน่วยธุรกิจร่วมลงทุน (วีซี) ด้วยเงินก้อนแรก 100 ล้านดอลลาร์ ตั้งเป้าอัดฉีดบริษัทสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) รถอัตโนมัติ หุ่นยนต์ การวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์
โตโยต้า เอไอ เวนเจอร์ได้ฤกษ์ถือกำเนิดภายใต้ชายคาโตโยต้า รีเสิร์ช อินสติติวท์ (ทีอาร์ไอ) ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนาด้านเอไอและหุ่นยนต์ที่โตโยต้าก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 ในซิลลิคอน แวลลีย์ ด้วยเงินทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ และมอบหมายภารกิจในการคิดค้นวิธีใช้เอไอในการสร้างรถยนต์อัตโนมัติ
การก่อตั้งโตโยต้า เอไอ เวนเจอร์เป็นการสนองบัญชาของประธานบริษัท อากิโอะ โตโยดะ ที่ต้องการให้โตโยต้าทั้งรับและรุกไปพร้อมกันในยุคที่ผู้ผลิตรถที่เคยวุ่นอยู่แต่กับการขึ้นรูปโลหะ ต้องลุกขึ้นมาฟาดฟันกับผู้ท้าทายจากอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างกูเกิลและเทสลา ที่ล้วนมีเป้าหมายที่การคิดค้นระบบสำหรับรถไร้คนขับ
เดือนที่แล้ว โตโยดะบอกกล่าวนักลงทุนว่า โตโยต้าจะปรับปรุงศักยภาพในการแข่งขันโดยพิจารณาจากตัวเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเป็นพันธมิตร การผนวกและซื้อกิจการ
กิลล์ แพรตต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทีอาร์ไอ ขานรับว่า ลำพังโตโยต้ากับทีอาร์ไอคงทำอะไรไม่ได้มากนัก แถมท้ายว่า สตาร์ทอัพวงการนี้มีมากมายเหลือเชื่อ แต่ถึงต้องงมเข็มในมหาสมุทร บริษัทก็จะเฟ้นหาบริษัทที่ดีที่สุดมาช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมให้จงได้
แพรตต์บอกว่า สนใจสตาร์ทอัพที่คิดค้นเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีเสมือน
เป้าหมายของโตโยต้า เอไอ เวนเจอร์คือบริษัทที่สามารถจัดการกับความท้าทายด้านการวิจัยตามโจทย์ของทีอาร์ไอ โดยบริษัท 3 แห่งแรกที่ได้รับทุนประกอบด้วยอินทูอิตชัน โรโบติกส์ บริษัทเอไอจากอิสราเอลที่พัฒนาหุ่นยนต์ “เอลลิก” เพื่อนรู้ใจผู้สูงวัย จากการจำลองวิธีการทำงานของสมองเพื่อคาดเดาความต้องการของคนชรา
ดอร์ สกูเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของอินทูอิตชัน บอกว่า ด้วยความช่วยเหลือของโตโยต้า บริษัทมีแผนนำเอลลิกลงตลาดในอีกไม่นานนี้
อีกสองบริษัทคือนอโต้และสแลมคอร์ โดยบริษัทแรกนั้นเป็นสตาร์ทอัพในซิลลิคอนแวลลีย์ที่กำลังพัฒนากล้องติดรถยนต์เพื่อเก็บข้อมูลสภาพการจราจรและพฤติกรรมของผู้ขับ สำหรับนำไปปรับใช้ป้องกันอุบัติเหตุและพฤติกรรมการขับรถแบบผิดๆ
ส่วนสแลมคอร์เป็นบริษัทอังกฤษที่กำลังพัฒนาอัลกอริธึมสำหรับรถไร้คนขับ โดรน และอุปกรณ์เออาร์/วีอาร์ (เทคโนโลยีความจริงเสริม/เทคโนโลยีเสมือนจริง) เพื่อสร้างแผนที่สภาพแวดล้อมและวางตำแหน่งรถในแผนที่แบบเรียลไทม์
นอกจากช่วยเหลือด้านเงินทุนแล้ว โตโยต้า เอไอ เวนเจอร์ยังจะให้การสนับสนุนและคำแนะนำแก่สตาร์ทอัพบางแห่งในสำนักงานใหญ่ของทีอาร์ไอ
จิม แอดเลอร์ รองประธานฝ่ายข้อมูลและการพัฒนาธุรกิจของทีอาร์ไอ และกรรมการผู้จัดการโตโยต้า เอไอ เวนเจอร์ บอกว่า หนึ่งในคำถามสำคัญของสตาร์ทอัพคือ นวัตกรรมที่พัฒนาอยู่เป็นสิ่งที่ตลาดกำลังมองหาหรือเปล่า ซึ่งโตโยต้า เอไอ เวนเจอร์พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ เนื่องจากความสำเร็จของบริษัทเหล่านี้ก็คือความสำเร็จของโตโยต้าด้วย
แอดเลอร์ขยายความว่า โตโยต้ากำลังมองหาบริษัทที่เหมาะที่จะเข้าซื้อกิจการ เพราะ “ทางออก”
ตามธรรมชาติของสตาร์ทอัพก็คือการขายกิจการให้บริษัทที่ใหญ่กว่าหรือการประแป้งแต่งตัวเข้าตลาดหุ้น
โตโยต้าไม่ใช่บริษัทรถแห่งแรกและแห่งเดียวที่ตั้งหน่วยธุรกิจร่วมลงทุนที่โฟกัสสตาร์ทอัพด้านเอไอ ก่อนหน้านี้ฟอร์ด มอเตอร์ของอเมริกาก็ลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มเดียวกันนี้ตามแผนต่อยอดโครงการริเริ่มด้านเทคโนโลยี และยังเข้าซื้อแชเรียต บริการรถชัตเติลตามสั่ง เมื่อเร็วๆ นี้ อินโมชัน บริษัทเทคโนโลยีในเครือของฟอร์ด ยังลงทุน 25 ล้านดอลลาร์ในลิฟต์ ผู้ให้บริการไรด์แชริ่งที่เป็นคู่แข่งสำคัญของอูเบอร์
นอกจากบริษัทรถแล้ว ยังมีผู้เล่นจากหลากหลายวงการที่กำลังกลุ้มรุมสตาร์ทอัพด้านเอไอ ตัวอย่างเช่น ไป่ตู้ บริษัทอินเทอร์เน็ตจีนที่หันมาเอาดีในการพัฒนาแพล็ตฟอร์มแบบเปิดสำหรับรถอัตโนมัติ รายล่าสุดคือกราเดียนต์ เวนเจอร์สของกูเกิล ที่เปิดตัวพร้อมกับโตโยต้า เอไอ เวนเจอร์
การลงทุนเหล่านี้ตอกย้ำมูลค่าเทคโนโลยีที่บรรดาสตาร์ทอัพพัฒนาขึ้นมาสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างที่แพรตต์ทิ้งท้ายไว้ว่า ทีอาร์ไอกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน ก็ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด และโครงการโตโยต้า เอไอ เวนเจอร์คือความคืบหน้าสำคัญสู่ภารกิจในการติดอาวุธให้ผู้ประกอบการอัจฉริยะที่จะมาร่วมรับผิดชอบพันธะสัญญาของโตโยต้าในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้บริโภค