พันธมิตรนิสสัน มอเตอร์-เรโนลต์ วางแผนเปิดตัวบริการแชร์รถใช้และรถร่วมโดยสารไร้คนขับภายในไม่เกิน 10 ปี เพื่อหาทางหนีทีไล่สำหรับความอยู่รอดในโลกยุคใหม่นอกเหนือจากการผลิตรถออกมาขาย เพราะนอกจากต้องแข่งขันกันเองแล้ว ค่ายรถต่างๆ ยังต้องฟาดฟันกับสตาร์ทอัพที่ประมาทไม่ได้หลายแห่ง
โอกี้ เรดซิก ประธานแผนกคอนเน็กเต็ด เวฮิเคิลส์ แอนด์ โมบิลิตี้ เซอร์วิสของนิสสัน-เรโนลต์ บอกว่า พันธมิตรญี่ปุ่น-ฝรั่งเศสคู่นี้เชื่อว่า โอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์อยู่ที่การรวมรถไร้คนขับ รถไฟฟ้า บริการแชร์รถใช้ (ride-sharing) และรถร่วมโดยสาร (ride-hailing) เข้าด้วยกัน และนี่คือที่มาของแผนเปิดตัวบริการรถร่วมโดยสาร-แชร์รถใช้ไร้คนขับโดยใช้รถไฟฟ้าภายใน 10 ปี
เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถกลุ่มเล็กๆ นิสสันและเรโนลต์กำลังเข้าสู่ตลาดรถร่วมโดยสารที่โกลด์แมน แซคส์ประเมินไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมว่า มีโอกาสขยายตัวถึง 8 เท่าในปี 2030 หรือใหญ่กว่าตลาดแท็กซี่ถึง 5 เท่า
เรดซิกเผยว่า นิสสันและเรโนลต์กำลังทดสอบรถไร้คนขับ และบริการรถร่วมโดยสารอัตโนมัติจะรันบนเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับจุดรับ-ส่งผู้โดยสาร
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พันธมิตรคู่นี้ทำข้อตกลงกับทรานสเดฟ ผู้ดำเนินการระบบขนส่งสาธารณะแดนน้ำหอม ในการพัฒนาบริการขนส่งตามสั่ง และเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว สองบริษัทตกลงร่วมกับไมโครซอฟท์พัฒนาแพล็ตฟอร์มมาตรฐานเพื่อเสนอบริการ อาทิ ระบบนำทางสำหรับคอนเน็กเต็ดคาร์
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเตรียมการสำหรับอนาคตที่คนจำนวนมากขึ้นจะเลือกใช้บริการรถร่วมโดยสารแทนการซื้อรถ ทั้งผู้ผลิตรถและบริษัทเทคโนโลยีจึงกำลังแข่งกันเพื่อเป็นที่หนึ่งในการเข้าสู่ตลาดนี้โดยที่ต้องมั่นใจได้ว่า ระบบที่ตัวเองพัฒนาออกมาจะไม่แปลกแยกจากระบบของบริษัทอื่นๆ แต่ดูเหมือนความพยายามในเบื้องต้นกลับกลายเป็นการฟ้องจุดอ่อนของผู้เล่นจากเซกเมนต์ต่างๆ
เริ่มจากผู้ผลิตรถที่กำลังต่อสู้กับความท้าทายด้านซอฟต์แวร์สำหรับระบบรถไร้คนขับ ขณะที่บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ถอดใจกับความพยายามผลิตรถด้วยตัวเอง
ในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กเมื่อเร็วๆ นี้ ทิม คุก หัวเรือใหญ่แอปเปิล เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า บริษัทเคยซุ่มพัฒนารถอัตโนมัติ แต่ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนแผนมาโฟกัสแค่เทคโนโลยีรองรับระบบนี้เท่านั้น
เช่นเดียวกัน ต้นเดือนมิถุนายน เวย์โม บริษัทเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติในเครืออัลฟาเบต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลอีกที ประกาศวางมือจากการผลิตรถไร้คนขับและหันไปพัฒนาระบบสำหรับรถยนต์ทั่วไปแทน
ในส่วนบริษัทรถดั้งเดิมอื่นๆ อย่างฟอร์ด มอเตอร์ และเจเนอรัล มอเตอร์นั้น เลือกใช้ทางลัดด้วยการลงทุนหรือซื้อกิจการมากกว่าการสร้างเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติเอง แต่โดยรวมแล้วถือว่า ค่ายรถกระแสหลักยังไม่ค่อยคืบหน้านักเมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีหลายแห่ง
ตัวอย่างเช่น ฮอนด้า มอเตอร์ ค่ายรถจากญี่ปุ่น ที่เพิ่งประกาศเมื่อต้นเดือนมิถุนายนเกี่ยวกับแผนพัฒนารถไร้คนขับ ทว่า เป้าหมายที่เล็งไว้ดูเหมือนล่าช้ากว่าเทสลาและกูเกิลมาก
อย่างไรก็ตาม แม้เทสลาและบีเอ็มดับเบิลยูมีความคืบหน้าชัดเจน แต่ทั้งสองบริษัทก็ยังต้องสร้างบริการรถร่วมโดยสารเพื่อแข่งกับบริษัทอย่างอูเบอร์และลิฟต์ โดยเฉพาะรายหลังที่มีจีเอ็มเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น เพิ่งประกาศในเดือนมิถุนายนว่า จะจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีของอเมริกา นูโตโนมี เริ่มโครงการนำร่องบริการรถร่วมโดยสารอัตโนมัติในบอสตัน
เรดซิกยังมองว่า ก่อนที่บริการรถร่วมโดยสารอัตโนมัติจะแจ้งเกิดได้ ภาครัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเพื่ออนุญาตให้รถไร้คนขับวิ่งบนถนน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญในวงการขานรับข้อคิดของเรดซิก แต่สำทับว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแล้ว การเข้าสู่บริการโมบิลิตี้ของบริษัทรถจะรุ่งหรือร่วงนั้นยังขึ้นอยู่กับการร่วมมือกับพันธมิตร การให้ความสำคัญกับลูกค้า และความสามารถในการทำกำไรด้วย
บริษัทรถดั้งเดิมหลายแห่งกำลังลองผิดลองถูกกับบริการโมบิลิตี้อย่างการแชร์รถใช้ เพื่อหาทางรับมือกับสตาร์ทอัพ อาทิ ผู้ให้บริการรถร่วมโดยสารอย่างอูเบอร์ แต่ปัญหาก็คือ ธุรกิจนี้จะทำเงินได้อย่างไร
Brigitte Courtehoux ประธานแผนกบริการโมบิลิตี้ของพีเอสเอ กรุ๊ป ผู้ผลิตเปอร์โยต์และซีตรอง บอกกับที่ประชุมออโตโมทีฟ นิวส์ ยุโรป คองเกรสส์ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนว่า แม้แต่อูเบอร์ยังยอมรับว่า การทำกำไรจากธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างไรก็ตาม แพล็ตฟอร์มโมบิลิตี้ “ฟรี2มูฟ” ของพีเอสเอ เริ่มทำกำไรได้หลังจากรวมบริการฟลีตและลีสซิ่งสำหรับภาคธุรกิจกับบริการแชร์รถใช้สำหรับลูกค้ารายย่อย บริษัทยังตั้งเป้าหมายทำให้ “ฟรี2มูฟ” กลายเป็นผู้ให้บริการโมบิลิตี้ที่ได้รับความนิยมระดับโลกในปี 2030
สำหรับแบรนด์เซียตของโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป Leyre Olavarria ประธานแผนกคอนเน็กเต็ดคาร์และอินโฟเทนเมนต์ ชี้ว่า กุญแจสำคัญในการเพิ่มรายได้จากบริการโมบิลิตี้คือ การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนำเสนอบริการที่เป็นประโยชน์สำหรับลูกค้ามากที่สุด
เซียตทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานรัฐบาลในบาร์เซโลนาเพื่อสร้างสรรค์บริการที่เป็นประโยชน์ เช่น แจ้งเตือนผู้ขับขี่ให้เลี่ยงเส้นทางผ่านสถานที่จัดงานขนาดใหญ่หรือแนะนำเส้นทางใหม่เพื่อหนีรถติด
เช่นเดียวกัน การร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเป็นวิธีที่อิตัลดีไซน์ของโฟล์คสวาเกนใช้เพื่อเสนอการเดินทางที่รวดเร็วฉับไวด้วยฟลายอิ้งคาร์
อิตัลดีไซน์และแอร์บัสพัฒนาฟลายอิ้งคาร์ชื่อว่า ป๊อปอัพ ซึ่งผสมผสานระหว่างแชสซีการขับขี่อัตโนมัติกับพ็อดสำหรับผู้โดยสารและเฮลิคอปเตอร์แบบโดรน เพื่อนำผู้โดยสารลอยผ่านการจราจรที่คับคั่ง
Joerg Astalosch ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของอิตัลดีไซน์ บอกว่า หน่วยงานรัฐต้องเล็งเห็นประโยชน์และให้การสนับสนุนเพื่อทำให้แผนการแห่งอนาคตนี้สัมฤทธิ์ผล
คริสติน ชอนดอร์ฟ ผู้นำแผนกยานยนต์และโมบิลิตี้การขนส่งของอีวาย เสริมว่า การที่บริษัทรถมัวแต่สร้างธุรกิจโดยอิงกับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง แทนที่จะอิงกับบริการ เท่ากับเป็นการปิดกั้นตัวเองเนื่องจากทุกวันนี้แบรนด์มีความสำคัญน้อยลง ตัวอย่างง่ายๆ คือการที่ลูกค้าใช้บริการอูเบอร์และบริษัทเช่ารถ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ลูกค้ากำลังซื้อคุณภาพของบริการ ไม่ใช่แบรนด์รถที่จะโดยสารหรือเช่าขับเอง ดังนั้น ผู้ผลิตรถจึงควรทุ่มเทความสนใจให้ลูกค้ามากขึ้นเพื่อปรับบทบาทสู่การเป็นผู้ให้บริการตัวจริง