xs
xsm
sm
md
lg

สุทธิพงศ์ สมิตชาติ : “มอเตอร์สปอร์ตไทยต้องไปต่อ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดใจแม่ทัพใหญ่โตโยต้าทีมไทยแลนด์ “อาร์โต้-สุทธิพงศ์ สมิตชาติ” ในฐานะผู้จัดการทีม-นักแข่ง และผู้คร่ำหวอดในวงการกีฬาความเร็วทั้งในและต่างประเทศมานานกว่า 30 ปี กับมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการของวงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทย จากวันวานสู่วันนี้และในอนาคต...
สุทธิพงศ์ สมิตชาติ(คนกลาง)
-ทำไมต้องมาแข่งที่ญี่ปุ่น

ผมพยายามให้โอกาสนักแข่งทุกคน สำหรับรายการ Netz Cup Vitz Race ก็เป็นนักแข่งที่ทำผลงานได้ดีในรายการโตโยต้า มอเตอร์สปอร์ต เพราะต้องการให้พวกเขาเก็บประสบการณ์ในต่างแดน เปรียบเทียบกับงานแข่งในประเทศ ให้พวกเขารู้ว่ามาตรฐานแตกต่างกันอย่างไร

แต่ครั้งก่อนจะต้องไปแข่งที่สนามฟูจิสปีดเวย์ แต่เนื่องจากปีนี้ รายการไฟนอลเรซของญี่ปุ่นตรงกับงานแข่งบางแสนในไทย จึงต้องเลื่อนมาแข่งที่สนามออโตโปลิสแห่งนี้ ซึ่งเป็นการชิงแชมป์ภาคใต้ของที่นี่ โดยนักแข่งของเรามาลงรุ่น Netz Cup Vitz Race ใช้รถโตโยต้า วิทซ์ หรือยาริสบ้านเรา และเป็นรุ่นวันเมคเรซเหมือนกัน

-นักขับและตัวรถมีความพร้อมอย่างไร

สำหรับรถแข่งของโตโยต้าทีมไทยแลนด์ ใช้หมายเลข 122 ขับโดยคุณเอ็กซ์(สุพงศ์ ขำต้นวงษ์) และหมายเลข 222 ขับโดยคุณมัด(นิวัฒน์ กลิ่นจำปา) จากเวลาที่ซ้อมก่อนวันควอลิฟายก็ทำได้ค่อนข้างดี อยู่ในอันดับที่สองและเก้า แต่ด้วยสภาพอากาศวันแข่งขันต่างจากวันซ้อม จึงยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร(ให้สัมภาษณ์ก่อนแข่งขัน)

ส่วนตัวรถต้องอธิบายก่อนว่า รถทุกคันที่มาแข่ง เมื่อแข่งเสร็จแล้วสามารถขับกลับบ้านได้ จะเห็นว่ารถทุกคันที่มาแข่งมีทะเบียนหมด มีการเสียภาษีถูกต้องถึงจะเอามาแข่งได้ และของเราก็เช่นกัน ซึ่งตัวรถต้องใช้งานได้ปกติ ไฟเลี้ยวต้องเปิดได้ ไฟเบรกต้องเปิดได้ แตร ทุกอย่างต้องใช้ได้ นี่คือกฎของเขา ส่วนหัวใจสำคัญที่ปรับแต่งได้คือ ช่วงล่าง ขณะที่เครื่องยนต์ก็ห้ามปรับแต่ง เพราะเขาสามารถเช็กได้จากค่าไอเสียที่วัดออกมาได้หมด

ทั้งนี้นักแข่งที่มาทำการแข่งขัน ก็จะไม่ใช่นักแข่งมืออาชีพ หรือเรียกง่ายๆ ว่ายังไม่เทิร์นโปร หรือเป็นนักแข่งเกรดบี แต่ถ้าหากได้แชมป์ปีนี้ ปีหน้าก็ต้องขยับขึ้นไปแข่งอีกรุ่น ไปสู้กับพวกคลาสเอ



-นักแข่งไทยยังขาดอะไร

สิ่งที่ชัดเจนคือ นักแข่งไทยเรียนตามตรงว่าประสบการณ์น้อย หากเปรียบเทียบการแข่งขันในบ้านเราทั้งปีมีประมาณ 4-5 ครั้ง แต่ที่ญี่ปุ่นมีเป็นสิบ ยิ่งถ้าจะตระเวนแข่งให้ครบทุกสนามต้องมีหลายสิบแมตช์ ตรงนี้เองทำให้ประสบการณ์เขาเยอะกว่าเราจริงๆ

อีกส่วนคือสถานที่ที่จะซ้อมรถมันไม่มี ยกตัวอย่างถ้าจะไปที่บุรีรัมย์ก็ไม่ง่าย ค่าใช้จ่ายก็สูง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การพัฒนานักแข่งในบ้านเรายังสู้เขาไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องผลักดันให้พวกเขาไปสัมผัสกับเกมระดับนานาชาติ ยิ่งไปบ่อยครั้งมากเท่าไร ประสบการณ์เขาก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ขณะเดียวกันคนญี่ปุ่นจะเข้าถึงมอเตอร์สปอร์ตได้ง่าย แม้ก่อนเข้าร่วมจะยากตรงที่ต้องไปสอบใบอนุญาตแข่งขัน แต่เมื่อ ได้แล้ว ลำดับการพัฒนาขั้นต่อไปจะเร็ว เพราะค่าใช้จ่ายเขาน้อยกว่า ฮาร์ดแวร์เขาถูก แต่บ้านเราฮาร์ดแวร์แพง แต่โอกาสเข้าร่วมง่ายกว่า ขอแค่คุณมีเงิน บ้านเราข้ามสเต็ปกันเยอะ มีเงินก็ลงรุ่นใหญ่เลย ซึ่งจริงๆ มันต้องค่อยๆ ขยับ การเก็บประสบการณ์ในสนามเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งจำนวนรอบในสนามมากเท่าไรก็ได้เปรียบ

-ประสบการณ์ในสนามต่างแดนสำคัญอย่างไร

ผมยกตัวอย่างความสำเร็จของเราเอง โตโยต้าทีมไทยแลนด์ปีนี้เราครบ 30 ปี ผมคิดว่าจากตัวนักแข่งเอง ประสบการณ์ของทีมเอง ก่อนตัดสินใจไปแข่งที่นูร์เบอร์กริง (รายการแข่งขัน ADAC 24Hours Rennen Nurburgring ณ สนามนูร์เบอร์กริง ประเทศเยอรมนี) ต้องยอมรับว่าวงการแข่งรถในบ้านเรามันวนเวียนแบบนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ถึงยังไงมอเตอร์สปอร์ตไทยต้องไปต่อ ต้องหาความท้าทายใหม่ในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า

อย่างเราเองปีแรกไปก็เข้าไปศึกษากฏ เข้าไปชิมลาง เข้าไปดูรูปแบบการแข่งขัน เก็บรายละเอียดต่างๆ ให้หมด ปีที่สองก็ส่งไปใหม่ก็ทำแบบเดิม พอปีนี้ซึ่งเป็นปีที่สาม และเราตั้งเป้าหมายก่อนไปอยู่แล้วว่า ภายในสามปีเราต้องขึ้นโพเดี้ยม และจากประสบการณ์ต่างๆ ที่เราสั่งสมมา ทำให้มีโอกาสทำได้สำเร็จตามเป้า (โคโรลล่า อัลติส คว้าอันดับ 2 และ 4 ในรุ่น Super Production 3)

-ก้าวต่อไปของโตโยต้าทีมไทยแลนด์

ผมมีโอกาสคุยกับท่านประธาน(อากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปส์) ซึ่งท่านเองก็สนับสนุนกีฬามอเตอร์สปอร์ต จริงๆ รายการบางแสนท่านก็อยากมาแข่งหลายครั้งแล้ว แต่เนื่องจากติดภารกิจบ้าง อะไรบ้าง การส่งทีมมาแข่งจึงยังไม่เกิดขึ้น ส่วนที่นูร์เบอร์กริงท่านก็มาช่วยเชียร์ มาช่วยเจิมรถให้เราทุกปี

และคิดว่าในปีหน้า เราคงได้เข้าไปอยู่ในทีมใหญ่ในรายการนี้ด้วย โดยเป็นการไปร่วมทีมกัน ซึ่งคุยกันคร่าวๆ ผมก็บอกไปว่า เราทำในนามทีมไทยแลนด์สะดวกกว่า แต่ท่านก็บอกว่าเป็นโตโยต้าเหมือนกันก็ควรเข้ามาอยู่ด้วยกัน แต่ทั้งนี้ยังไม่สรุปรายละเอียดอย่างเป็นทางการ

เบื้องต้นเป็นนักแข่งชุดเดิม เพราะต้องยอมรับว่า นักแข่งเป็นส่วนสำคัญ ต้องมีประสบการณ์ ไม่ใช่ใครจะมาแข่งก็ได้ ความยาวสนาม 28 กิโลเมตร มีโค้งถึง 70 กว่าโค้ง กว่าจะจำกันได้หมด มันใช้เวลานาน เราไปซ้อมกันหลายเดือน วิ่งทุกวัน เดินในสนามแบบครบรอบก็เดินมาแล้ว เพื่อจดจำให้ได้ว่า แต่ละโค้งต้องใช้ความเร็วเท่าไร ทั้งหมดเป็นประสบการณ์ที่เราต้องนำไปใช้ในการแข่งขันจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น