xs
xsm
sm
md
lg

พันท้ายนรสิงห์ : สนุก คุ้มค่า ในเวลาเกือบสามชั่วโมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


หลังจากแต่เดิมจะเป็นละครที่ออนแอร์ทางทีวีสีช่อง 3 แต่สุดท้าย “ท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” ได้ตัดสินใจซื้อคืนมาเพื่อทำเป็นหนังฉายโรง และถึงแม้ว่าเจตนาแต่เดิมตั้งใจจะให้เป็นละครยาวฉายช่วงเย็น แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏบนจอเงินซึ่งกินความยาวร่วมๆ สามชั่วโมง ก็บอกกล่าวเล่าแจ้งอย่างชัดเจนว่า มันเป็นสามชั่วโมงที่ทั้งบันเทิงและครบครันด้วยมิติเนื้อหาที่ควรรู้เกี่ยวกับตัวละคร และที่สำคัญคือไม่สูญเสียพลังของเรื่องราว

เรื่องของพันท้ายนรสิงห์ น่าจะอยู่ในความคุ้นเคยของคนไทยเราเป็นอย่างดีอีกเรื่องหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา มีการผลิตเป็นทั้งละครที่ฉายทางจอแก้ว ภาพยนตร์ที่ฉายทางจอเงิน หรือแม้กระทั่งละครเวที (อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย แม้กระทั่งซอสพริกเจ้าหนึ่งยังตั้งชื่อตามนี้) อีกทั้งเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ยังเป็นสิ่งที่ชวนให้รู้สึกซาบซึ้งใจประทับใจอยู่สูงมาก โดยเฉพาะในเรื่องความสัตย์ซื่อถือสัจจ์ เป็นชีวิตที่มีคติแห่งชีวิตให้คิดตาม กระนั้นก็ตาม สำหรับความที่ถกเถียงกันว่าเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์มีอยู่จริงไหม คงให้เป็นภาระของผู้มีความรู้และนักการศึกษาที่แท้จริง และพันท้ายนรสิงห์เวอร์ชั่นนี้ ก็ออกตัวไว้ในตอนหนังจบและขึ้นเอ็นด์เครดิตว่าสร้างมาจากพระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นบทละครเวทีตั้งแต่ปี พ.ศ.2488 โดยเล่าเรื่องที่แต่งขึ้นจากเรื่องเกร็ดในพงศาวดารและประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลพระเจ้าเสือ กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ก็นับเป็นบุคคลแรกที่ทรงนำเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ขึ้นสู่จอเงินด้วยเวอร์ชั่นภาพยตร์เมื่อปี พ.ศ.2493

เกี่ยวกับพันท้ายนรสิงห์ ผมเห็นว่าสิ่งที่หนังนำเสนอออกมาได้ดีก็คือมิติตัวตนของคนคนนี้ ตั้งแต่เป็นสามัญชนไปจนกระทั่งได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ คุณความดีที่อยู่ในตัวเขาไม่เคยเสื่อมคลาย แต่เดิมนั้น พันท้ายนรสิงห์ คือ “สิน” หนุ่มชาวบ้านสามัญชนซึ่งทำงานรับใช้ให้กับท่านเจ้าพระยาพิชัย แต่มีฝีไม้ลายมือในทางมวย และก็เป็นเพราะความสามารถนี้ที่ทำให้สินได้พบกับสมเด็จพระเจ้าเสือ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8) เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปเที่ยวชมงานแบบพรางพระองค์ปลอมปนไปในหมู่ชาวบ้าน สินกับพระเจ้าเสือ (ซึ่งใช้ชื่อว่า “ทิดเดื่อ” เป็นการชั่วคราว) ได้วัดมวยกันโดยมีเดิมพันคือ “นวล” สาวชาวบ้านผู้เลอโฉมและเป็นที่หมายปองของสินมานาน ขณะที่ก็มีเสน่ห์ดลใจให้ “ทิดเดื่อ” นึกสิเนหาอยากได้เป็นภรรยา ความสนุกของตัวเรื่องซึ่งจะปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของหนัง คือการเล่นกับความสัมพันธ์ของสองตัวละครหลัก คือทั้งสินและทิดเดื่อ (พระเจ้าเสือ) ซึ่งด้านหนึ่งก็เหมือนไม้เบื่อไม้เมาเพราะชอบสาวคนเดียวกัน แต่อีกด้านก็คอยช่วยเหลือกันอยู่เรื่อยๆ ดูแล้วก็เหมือนเรื่องของเพื่อนกับเพื่อน เพียงแต่เป็นเพื่อนต่างชนชั้น และมันก็ก่อให้เกิดความตลกและอารมณ์ขันอย่างเหลือเฟือในช่วงแรกของเรื่องที่เป็นการบ่มเพาะความรักใคร่กลมเกลียวระหว่างพระเจ้าเสือกับสินที่จะเป็นพันท้ายนรสิงห์ในเวลาต่อมา

ขณะที่สินแสดงให้เห็นความกล้าหาญชาญชัยแบบชายชาติอาชาไนย ผมเห็นว่า “พันท้ายนรสิงห์” ของท่านมุ้ยก็ได้แสดงให้ประจักษ์ในความกล้าหาญเช่นเดียวกัน เพราะอย่าลืมนะครับว่า นี่คือหนังที่มีความยาวกว่าสามชั่วโมง การที่กล้าจะปล่อยหนังความยาวขนาดนี้ย่อมมีความเชื่อมั่นระดับหนึ่งว่า หนังจะเอาคนดูอยู่โดยไม่ลุกหนีออกจากโรงไปเสียก่อน ซึ่งความจริงก็อย่างเห็นว่า หนังมีการสร้างเรื่องให้น่าติดตามได้โดยไม่เบื่อ ทั้งความสนุกที่เกิดจากอารมณ์ขันความตลก และความสนุกที่เกิดจากการคอยดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นในลำดับถัดไป

ถ้าเป็นละครทีวี ก็คงเป็นละครทีวีชั้นดี...พันท้ายนรสิงห์มีการปูพื้นจัดวางเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความดราม่าอย่างแน่นหนาแข็งแรง และเมื่อถึงจังหวะที่จะฮุก พื้นฐานที่วางไว้นั้นก็หนุนส่งเต็มที่... ว่ากันตามจริง ชีวิตของพันท้ายนรสิงห์เท่าที่เห็น เป็นชีวิตที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบไดเล็มม่า (Dilemma) อยู่เรื่อยๆ นั่นก็คือ จะไปทางขวาก็ไม่ได้ ครั้นจะเลือกไปทางซ้ายก็เจ็บอีก ไม่ว่าจะกับเรื่องราวความรัก หรือแม้แต่เรื่องที่จะต้องพิสูจน์ระหว่างความจงรักภักดีกับความกตัญญูกตเวทิตา ซึ่งเป็นที่มาของสถานการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต อันที่จริง เรื่องการตกอยู่ท่ามกลางความยากลำบากในการตัดสินใจนั้น ได้ส่งมาแล้วตั้งแต่ตัวอย่างหนังด้วยถ้อยคำอย่าง “หนึ่งความรัก มิสู้ หนึ่งความภักดี” นี่คือการบอกกล่าวอยู่กลายๆ ถึงชีวิตที่จะต้องเผชิญกับอุปสรรคความขัดแย้งที่ไม่ใช่สงครามภายนอก หากแต่เป็นสงครามภายในใจที่พันท้ายนรสิงห์ต้องฝ่าฟัน และสำหรับการเป็นหนัง มันก็เอื้อต่อการสร้างอารมณ์ดราม่าได้แบบเต็มที่ ดูแล้วต้องมีหลายคนต่อมน้ำตาแตกแน่นอนกับหลายช่วงหลายตอนในชีวิตของนายคัดท้ายเรือผู้เป็นตำนานคนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นของความซื่อตรงทั้งต่อตนเองและกฎหมายบ้านเมือง

ขณะที่...ชีวิต ความรัก และความภักดี ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างชวนสะเทือนใจ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งใครก็ไม่ควรมองข้าม ก็คือการใส่ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมืองในยุคนั้นเข้ามา ซึ่งนี่ก็คงเป็นวิสัยทัศน์พื้นฐานของท่านมุ้ยอยู่แล้ว ในขณะที่เล่าเรื่องของ “มนุษย์” ก็ไม่หลงลืมที่จะกล่าวถึง “สังคม” ของมนุษย์ โดยเฉพาะ “มนุษย์” ที่มีบทบาทในการปกครองประเทศชาติบ้านเมือง เรื่องของ “อำนาจ” และ “การช่วงชิง” เป็นสิ่งที่เดินคู่ขนานไปกับเรื่องราวของพันท้ายฯ ผมชอบฉากที่ทั้งสินและทิดเดื่อแข่งกันจีบนวล มันอบอวลอื้ออึงไปด้วยสุ้มเสียงแห่งการวิพากษ์แบบที่เราคาดไม่ถึง ขณะที่คนหนึ่งคิดว่าการใช้ “อำนาจ” หรือความสามารถในการบันดาลสิ่งต่างๆ เพื่อเอาใจสาว ตามประสาของคนซึ่งมีทุกอย่างอยู่ในมือ แต่อีกฝ่ายกลับค่อยๆ ใช้ “หัวใจ” และความดีงามในการพิชิตใจสาว (ถึงแม้เราจะรู้อยู่แล้วล่ะว่านวลนั้นชอบสิน แต่ฉากนี้ก็วิพากษ์ถึงความแตกต่างระหว่างคนสองชนชั้นได้แหลมคม)

ปกติที่ผ่านมา คนส่วนมากมักมองภาพยนตร์ของท่านมุ้ยที่อยู่ในกลุ่ม “ภาพยนตร์แห่งสยามประเทศ” ว่าเป็นหนังที่ปลุกกระแสความรักชาติ แต่สำหรับพันท้ายนรสิงห์ มันข้ามพ้นไปจากจุดนั้น และมองกันและกันในฐานะมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในจุดสูงสุดหรือต่ำสุด แม้แต่กษัตริย์ที่เราจะได้เห็นในหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็คือสมเด็จพระเจ้าเสือ ก็เป็นกษัตริย์ที่ดูแตกต่างไปจากหนังเรื่องก่อนๆ เราอาจรู้สึกรักพันท้ายฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวละครแห่งราชาอย่างเช่นพระเจ้าเสือ ก็น่าเอาใจช่วยเช่นเดียวกัน อันที่จริง เรื่องของพระเจ้าเสือนั้นแตกต่างจากกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ในหนังของท่านมุ้ยอยู่สูงมาก ถ้าไม่นับรวมบุคลิกของพระองค์ที่มีเสน่ห์ แม้จะเป็นกษัตริย์ แต่อัธยาสัยส่วนพระองค์นั้นดูไม่ต่างจากไอ้หนุ่มชาวบ้าน ห้าวหาญอย่างเสือสมพระนามและเปี่ยมด้วยความเมตตา (แถมมีอารมณ์ขัน) หากแต่อีกส่วนหนึ่ง เรื่องราวของพระองค์ยังเกี่ยวโยงมาถึงยุคปัจจุบันที่เราๆ ท่านๆ สังกัดอยู่อย่างเทียบเคียงได้ ในยุคสมัยที่ใครต่อใครสามารถจะใช้สื่อในการป้ายสีหรือวาดภาพปีศาจให้ใครอีกคนอย่างเช่นทุกวันนี้ อันที่จริงก็คงไม่ต่างไปจากยุคของพระเจ้าเสือที่วาดภาพ “เสือ” ให้กลายเป็น “ปีศาจ” ไปได้

หลากหลายมิติ หลากรสอารมณ์ครับ สำหรับเวลาร่วมๆ สามชั่วโมงของหนังพันท้ายนรสิงห์ ดารานักแสดงทุกคนก็สวมบทได้ดีจริงๆ ชนิดที่ว่า “ยากจะเชื่อ” (คำนี้เป็นคำที่ได้ยินบ่อยครั้งมากในหนัง) ก่อนหน้านั้น ฟังว่าบทพันท้ายฯ จะเป็นของคุณป๋อ-ณัฐวุฒิ สะกิดใจ แต่สุดท้ายมาลงเอยที่คุณเต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์ ซึ่งก็ไม่จุดด่างพร้อยอันใดให้ต้องกล่าวถึงในแง่การแสดง ขณะที่คุณมัดหมี่-พิมดาว พานิชสมัย ก็เป็น “นวล” ที่นวลตานวลใจสมบทบาท และคนที่ถ้าไม่พูดถึง จะพลาดอย่างแรงก็คือ “ผู้พันเบิร์ด-พ.ท.วันชนะ สวัสดี” ในบทของพระเจ้าเสือ คือที่ผ่านๆ มา เรามักได้เห็นผู้พันเบิร์ดในบทบาทกษัตริย์ผู้เครียดขรึมเคร่งครัด แต่พอมาเป็นกษัตริย์แบบพระเจ้าเสือ “ผู้พันเบิร์ด” ก็ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าเขาก็สามารถเล่นบทแนวอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะการมีอารมณ์ขันแบบผู้ใหญ่ นี่ถือเป็นการคลี่คลายของนักแสดงสายเลือดทหารผู้นี้

กล่าวอย่างถึงที่สุด เราอาจเคยดู “พันท้ายนรสิงห์” กันมาแล้วหลายเวอร์ชั่น แต่เวอร์ชั่นนี้ก็ยังเป็นอีกเวอร์ชั่นที่ควรค่าแก่การรับชม ผมคิดว่า สาเหตุหนึ่งคือเราผ่านยุคสมัยกันมาพอสมควร ผ่านการทำหนัง-การดูหนังมาแล้วมากหลาย พันท้ายนรสิงห์เวอร์ชั่นนี้มีความเป็นสมัยใหม่ที่คนรุ่นใหม่รับได้ ตรรกะหรือมิติของตัวละครอะไรต่างๆ มีความสลับซับซ้อนและทำให้หนังดูสนุก

อยากเชียร์ให้คนไทยได้ดูกันเยอะๆ ครับ มันไม่ใช่แค่หนังสนุกสนานบันเทิงมากๆ เรื่องหนึ่ง หากแต่เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ยังอาจสะท้อนย้อนกลับมาให้เรา “มองดูตัวเอง” และสังคมปัจจุบันได้ด้วยทางหนึ่ง เพราะเอาเข้าจริง คนแบบพันท้ายนรสิงห์ นี่ยิ่งดูไป ยิ่งคล้ายหายาก ยิ่งขึ้นทุกที หรือใครว่าไม่จริง?










ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น