xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป)ติดขอบสนาม “นิสสัน จีที อะคาเดมี” ลุ้นเด็กไทยพิชิตฝันสู่นักแข่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หลังจากที่บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำ 6 สุดยอดเกมเมอร์ ผู้ชนะเลิศโครงการ นิสสัน จีที อะคาเดมี ประเทศไทย ซีซัน 3 เดินทางไปเข้าค่ายปั้นนักแข่งรถระดับโลกหรือเรซ แคมป์ ที่สนามซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ล่าสุด การชิงความเป็นหนึ่งกับเหล่าเซียนเกมกับอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก, แอฟริกาเหนือ (ไอบีเรีย อียิปต์ โมร็อคโค) และฟิลิปปินส์ (รวมทั้งสิ้น 36 ชีวิต) เพื่อสานฝันสู่การเป็นนักแข่งรถมืออาชีพระดับโลกของทีมนิสโม เดินทางมาถึงการแข่งขันในวันที่ 6 แล้ว

โดยในแต่ละวันของการทดสอบนั้นก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป สำหรับผลการแข่งขันล่าสุดจากเรซแคมป์ที่ประเทศอังกฤษ ผู้จัดการมอเตอริ่งขออนุญาตสรุปย้อนข้อมูลคร่าวๆ ของกิจกรรมตั้งแต่วันแรก ดังนี้

วันที่หนึ่ง - อบรมการขับรถที่ Bedford Autodrome

ในวันแรกจะเป็นการวัดตัว เพื่อเตรียมชุดแข่ง และมีการให้สัมภาษณ์กับทางทีวี พร้อมกับแบ่งสีเสื้อของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยได้สีฟ้า นอกจากนี้ในแต่ละทีมจะเข้าพักบนรถบัสที่มีการจัดเตรียมไว้ให้ และในรถยังมีกล้องถ่าย activity ต่างๆ ของผู้เข้าแข่งขันด้วย



ขณะเดียวกันในวันแรกนี้จะมีการทดสอบขับรถประเภทต่างๆ อาทิ รถเคเตอร์แฮม (Caterhams), รถไฮดาวน์ฟอร์ซ (High-Downforce), รถแอเรียล สตรอม (Aerial Atoms), Le Mans และ Nissan 370Z โดยที่ไม่มีการเก็บคะแนนใดๆ อีกทั้งเป็นโอกาสแรกที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้เจอกรรมการและพี่เลี้ยงของทีม (พี่เลี้ยงทีมไทย คือ แซนดี้ สตูวิค ยอดนักแข่งรถลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ เจ้าของแชมป์ยูโรเปี้ยน ฟอร์มูล่า 3 โอเพ่น 2014 ซึ่งโค้ชแซนดี้ ยังมีประสบการณ์การเป็นโค้ชให้กับนักแข่งไทย ในการแข่งขัน จีที อะคาเดมี ซีซัน 2 มาแล้ว)



วันที่สอง - กิจกรรม SAS Fitness Challenge at Silverstone



ทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกายที่สนามซิลเวอร์สโตน เริ่มต้นด้วยการหัดขับรถแข่งด้วยเครื่อง Simulator ในเกม โดยแข่งขันกันเองภายในทีม ซึ่งกติกาในการแข่งขัน คือ แบ่งทีมออกเป็น 2 ทีม ทีมละ 3 คน โดยทีมแรกจะเป็น 3 คนที่ขับได้เร็วที่สุดในทีม และทีมที่สองเป็น 3 คนที่ขับได้ช้าสุด และนำ 2 ทีมมาแข่งกันในสนามจริง โดย 1 คนในทีมที่แพ้จะถูกตัดออกจากการแข่งขันทันที

หลังจากนั้นต่อด้วยกิจกรรมการทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกาย หรือที่เรียกว่า SAS Fitness Challenge เป็นการทดสอบความแข็งแรงและความอดทนของร่างกาย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับแรงจีในการแข่งขันจริงต่อไป โดยมีการทดสอบ วิ่ง คลาน ปีนเชือก กิจกรรมในโคลน ลงน้ำ หรือแม้กระทั่งด่านที่มีไฟเข้ามาเกี่ยวข้อง

(วันนี้ตัดออก 1 คน คือ นายเอกปริญญ์ ถาวรล้ำเลิศ หรืออาร์ท)

วันที่สาม - เดินทางด้วยรถบัสไปแข่งขันกันที่หมู่บ้าน Leicestershire ในเมือง Cottesmore

เพื่อฝึกการขับขี่ด้วยทักษะการควบคุมรถ สไตล์จิมคาน่า (Auto-Gymkhana) ซึ่งถือว่าเป็น 1 ในเอกลักษณ์ของการแข่งขัน GT Academy Race Camp และทดสอบการแข่งรถผ่าน Nissan Nismo JUKE RS เป็นรถที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนขับครั้งแรก ไม่เคยมีใครได้ขับมาก่อน เพื่อคัดผู้เข้าแข่งขัน 1 ใน 5 คนออกจากการแข่งขัน

(วันนี้ตัดออกเพิ่มอีก 1 คน คือ นายมนัฏกรณ์ เชียร์เรอร์ หรือมูหมัด)

วันที่สี่ - Pending Sands in Wales, a beach famous for land speed records Nissan GT-R racing on the beach.



เดินทางด้วยรถบัส เพื่อไปที่หาด ซึ่งห่างจาก Race Camp ประมาณ 300 กิโลเมตร โดยการแข่งขันในวันนี้จะใช้ GT-R Nismo ขับบนชายหาด ซึ่งการขับรถบนชายหาด เป็นสิ่งที่แต่ละคนไม่คุ้นเคยและแน่นอนว่าไม่มีใครเคยขับมาก่อน ปีที่แล้วขับแข่งด้วยรถบักกี้ (Sand Buggy Challenge) แต่สำหรับปีนี้จะใช้ GT-R Nismo ในการขับ โดยเป็นการขับแบบเก็บคะแนน ไม่มีการตัดตัวออก ซึ่ง 2 คนที่ขับช้าที่สุดในทีม ต้องเตรียมตัวแข่งขันกันในครั้งต่อไป

วันที่ห้า - Circuit School in London

ในวันนี้ ไม่มีการใช้รถในการทดสอบ หลังจากกลับมาจากการเดินทางที่ยาวนานที่ pendine sand เมื่อคืน ในวันนี้ให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนไปที่ Zippos Circus คณะละครสัตว์ชื่อดังในลอนดอน ที่มีการแสดงมายากล ห้อยโหน การขว้างมีด และกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยในวันนี้จะเป็นการเรียนรู้และทดสอบปฏิกิริยาระหว่าง มือและตา และปฏิกิริยาโต้ตอบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากในการเป็นนักแข่งรถที่ดี กิจกรรมที่ใช้ทดสอบ เช่น การปีนเชือกห้อยโหน โยนขวด เป็นต้น

วันที่หก - กลับมาที่ Cottesmore

การแข่งขันในวันนี้จะมีการตัดผู้เข้าแข่งขันออกจาก 2 คนที่ขับช้าที่สุด จากวันที่ 4 มาแข่งกัน โดยแข่งสไตล์จิมคาน่า (Auto-Gymkhana) ขับด้วย GT-R MY17 และทีมไทยเอง 2 คนที่ขับช้าที่สุดคือ นายดนุวัศ วรกิติไชย์ หรือนิ้งโหน่ง และนายภูรีภัทร พูนเพิ่ม หรือวี และด้วยแรงกดดัน นายภูรีภัทร ถึงขั้นขับชนแท่นแบริเออร์ในโค้งสุดท้ายอย่างแรง ทั้งที่เป็นฝ่ายนำ จึงทำให้โดนตัดออกจากการแข่งขัน

และวันนี้พิเศษสุดๆ หลังจากที่มีการตัดตัวผู้เข้าแข่งขันออกแล้ว กลับไปที่ Northampton เพื่อไปแข่ง Stock Car เป็นครั้งแรกที่ตัวแทนแต่ละประเทศจะได้เข้าแข่งขันร่วมกัน และเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ประเมินคู่ต่อสู้ได้มากขึ้น สำหรับรถ Stock Car จะใช้โครงของรถนิสสัน ไมครา หรือมาร์ช ซึ่งจะให้นักแข่งเริ่มทำความคุ้นเคยกับรถก่อนและค่อยเริ่มแข่ง โดยในการแข่งขันรถจะมีการกระทบกันตลอดเวลาเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง


ช่วงแรกของการแข่งขัน ตัวแทนจากประเทศออสเตรเลีย นำมาเป็นอันดับ 1 และในระหว่างแข่งขัน ตัวแทนจากประเทศแอฟริกาเหนือ ชนกับตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้ตัวแทนจากประเทศไทยขึ้นจากอันดับ 5 มาอยู่อันดับ 3 ขณะที่รถแข่งออสเตรเลียที่นำมาตลอด เกิดเสียตำแหน่งเนื่องจากระบบเชื้อเพลิงของรถพัง ทำให้ต้องออกไปแก้ไข แต่สุดท้ายก็ไม่ทันการณ์และต้องเลื่อนลงไปอยู่อันดับสุดท้ายในที่สุด

ผลของการแข่งขัน อันดับหนึ่ง - ประเทศเม็กซิโก, อันดับสอง - ประเทศแอฟริกาเหนือ, อันดับสาม - ประเทศไทย, อันดับสี่ - ประเทศอินโดนีเซีย, อันดับห้า - ประเทศฟิลิปปินส์ และอันดับหก - ประเทศออสเตรเลีย

ความคิดเห็นจากโค้ช แซนดี้ เคราแก้ว สตูวิค กล่าวว่า จากการแข่งขันของ 2 คนจากทีมไทย (นายภูรีภัทร และนายดนุวัศ) ถ้าหากนายภูรีภัทรชนเบาๆ จะไม่ส่งผลอะไรมาก แต่เนื่องจากมีการชนในระดับที่ค่อนข้างแรงจึงทำให้พลาดโอกาสในการแข่งต่อ แต่ขอให้ส่งกำลังใจให้นายภูรีภัทรด้วย เพราะว่าเขาทำดีที่สุดแล้ว ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีมากๆ และคนที่เหลือก็ต้องสู้ต่อไป

(วันนี้ตัดออกเพิ่มอีก 1 คน คือ นายภูรีภัทร พูนเพิ่ม หรือวี)

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เหลือผู้เข้าแข่งขัน 3 คน จากทั้งหมด 6 คนของแต่ละประเทศ โดยความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกิจกรรมนิสสัน จีที อะคาเดมี เรซ แคมป์ 2016 หรือการพิชิตฝันสู่นักแข่งที่ประเทศอังกฤษ ผู้จัดการมอเตอริ่งจะนำผลการแข่งขันมารายงานให้ทราบต่อไป





































ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ MGR Motoring

กำลังโหลดความคิดเห็น