xs
xsm
sm
md
lg

มิตซูบิชิจัดหลังบ้านใหม่ ปรับรุ่นย่อย-หวังเพิ่มแชร์9%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มิตซูบิชิ” มั่นใจสถานการณ์ของบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นยังสดใสหลังนิสสันเข้ามาถือหุ้น ยันไม่กระทบต่อการดำเนินงานในไทย พร้อมพลิกข้อจำกัดทางธุรกิจให้เป็นโอกาส แม้โปรดักต์ในมือมีเพียง 4 โมเดล แต่เน้นจัดไลน์อัพรุ่นย่อย ปรับออปชัน-ราคาใหม่ ชูความคุ้มค่า ปลื้มยอดขายดีวันดีคืน สวนทางตลาดรถยนต์ที่หดตัว ทั้ง “ปาเจโร สปอร์ต” “ไทรทัน” และกลุ่ม “อีโคคาร์” หวังช่วยกันผลักดันส่วนแบ่งการตลาดในปีนี้ให้เพิ่มเป็น 9%

ถือเป็นค่ายรถยนต์ขนาดกลางที่ผ่านมรสุมมาโชกโชนในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมาสำหรับ “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” ทว่าการทำธุรกิจในไทยที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ ยังเดินหน้าลุยพร้อมปรับกระบวนทัพให้รับกับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังลงตัวกับจังหวะเปิดตัวโปรดักต์ใหม่อย่างปิกอัพ “ไทรทัน” และพีพีวี “ปาเจโร สปอร์ต” ที่สามารถสร้างยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ ส่งผลให้มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กลับมาอยู่ในเส้นทางที่ควรจะเป็นอีกครั้ง

ส่วนความท้าทายหลัง “บิ๊กดีล” ที่นิสสันเข้ามาถือหุ้นกว่า 30% ในมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น ยังน่าสนใจว่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของมิตซูบิชิหรือไม่? บนความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ตลาดในประเทศไทยที่อึมครึม

ในประเด็นบิ๊กดีล จากทิศทางข่าวและถ้อยแถลงของสองค่ายรถยนต์นี้ต่างยืนยันว่า เป็นข้อตกลงธุรกิจแบบ “วิน วิน” สมประโยชน์ร่วมกันในการเป็นมหามิตรอันแน่นแฟ้น ซึ่งทั้งสองบริษัทจะได้เปรียบจากการแบ่งปันเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์จากโรงงานผลิต พร้อมพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆในอนาคต

ทั้งนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ยังสำทับในประเด็นดังกล่าวว่า ไม่มีผลต่อการบริหารงาน กลยุทธ์ และแผนการตลาดในไทยอย่างแน่นอน ขอให้ลูกค้ามิตซูบิชิมั่นในการเป็นพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้ เพราะจะมีแต่เรื่องดีๆตามมา
อย่างไรก็ตาม สำหรับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เตรียมแผนขยับปรับทัพทางธุรกิจเอาไว้ก่อนหน้าแล้ว (ไม่เกี่ยวกับบิ๊กดีลที่เกิดขึ้น) ทั้งการย้ายสำนักงานใหญ่จากคลองหลวง ปทุมธานี มายังตึก FYI คลองเตย กรุงเทพฯ ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ความคล่องตัวในการบริหารงาน ทั้งยังมีผลต่อการบริหารทรัพยากรบุคล การสรรหาคนรุ่นใหม่ๆเข้ามาทำงานเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้กระชับกระเฉงมากขึ้น
  โคจิ นาคาฮาร่า
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมหนีไม่พ้นการเข้ามาของคนหน้าใหม่ และการจากไปของคนเก่า โดยที่ลาออกแน่นอนแล้วคือ “ศุภศักดิ์ ดุละลัมพะ” ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมการตลาด และยังมีกระแสข่าวว่า “วราทิตย์ อิทธิสารรณชัย” ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานขาย และการตลาด ก็เตรียมโบกมือลาเช่นกัน

ส่วนที่ไม่ย้ายไปไหนแถมถูกโปรโมทเป็น"กรรมการรองผู้จัดการใหญ่" คือ “อัสนีย์ กุลโกวิท” ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ สายงานวิศวกรรมการผลิต และ “เอกอธิ รัตนอารี” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ สายงานนวัตกรรมการปฏิบัติงาน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

...เรียกว่า มิตซูบิชิพยายามจัดหลังบ้านให้แน่น ทั้งในส่วนสนับสนุนการผลิต และพัฒนาทรัพยากรบุคคล พร้อมปรับกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ข้ามมาที่ฝั่งการขายที่ช่วงนี้มีโปรดักต์สดใหม่ครบมือ ทั้ง พีพีวี “ปาเจโร สปอร์ต” ปิกอัพ “ไทรทัน” รวมถึงอีโคคาร์ “มิราจ” “แอททราจ” แต่กระนั้นยังมีคำถามว่า มิตซูบิชิมีรถยนต์ที่ทำตลาดในเมืองไทยเพียง 4 รุ่น น้อยเกินไปหรือเปล่า?

โคจิ นาคาฮาร่า กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ดูแลงานการขายในประเทศ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ถึงแม้โปรดักต์มิตซูบิชิจะน้อย แต่ใช่ว่าจะทำให้การขายลำบาก หรือดูตัวอย่างได้จากอีซูซุที่มีเพียงปิกอัพ(และพีพีวี) ยังทำยอดขายได้มากมาย

“สุดท้ายลูกค้าก็เลือกรถยนต์เพียงคันเดียวเท่านั้น อย่างมิตซูบิชิ มีรถยนต์ทำตลาด 4 โมเดล แต่บริษัทสามารถแตกรุ่นย่อยให้รองรับกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ซึ่งรถยนต์มิตซูบิชิทุกรุ่น ทุกเซกเมนต์ เมื่อเทียบสเปกกับคู่แข่งในระดับเดียวกันแล้วให้ความคุ้มค่ากว่า”

ขณะที่ปิกอัพ “ไทรทัน” ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับไลน์อัพการขายใหม่จากเดิมที่เปิดตัวมี 24 รุ่นย่อย ปัจจุบันลดเหลือเพียง 16 รุ่นย่อย เพื่อความชัดเจนและลูกค้าก็เลือกซื้อได้ง่าย

“ถือเป็นการปรับตำแหน่งโปรดักต์ ด้วยราคาและออปชันใหม่ ลดความสับสนในการขายและการเลือกซื้อของลูกค้า ซึ่งถึงวันนี้ต้องบอกว่ายอดขายไทรทันดีขึ้น และดีลเลอร์ก็มีความสุข” นาย นาคาฮาร่า กล่าว

เหนืออื่นใด ขุนพลใหญ่ด้านการขายของมิตซูบิชิยังประกาศลุยงานปีนี้เต็มที่ ด้วยการชูโปรดักต์ที่มีความคุ้มค่า พร้อมกิจกรรมการตลาดรูปแบบใหม่ เน้นไปที่การสื่อสารออนไลน์ กีฬา และทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง หวังให้แบรนด์มิตซูบิชิเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคชาวไทยมากขึ้น

“ปีนี้เราตั้งเป้าหมายการขายให้เติบโตในทุกเซกเมนต์ หลังจาก 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.2559) ขายได้กว่า 24,000 คัน เติบโต 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว”

โดยบริษัทเชื่อว่า ยอดขายครึ่งปีหลังจะต้องมากกว่าครึ่งปีแรก ด้วยปัจจัยส่งเสริม ทั้ง เงินลงทุนในโปรเจกต์รัฐบาลที่เข้าสู่ระบบ รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งก็คลี่คลาย ผลผลิตทางการเกษตรดี และถ้า GDP โตได้ถึง 3% ตามการคาดการของรัฐบาล น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ด้านภาพรวมของตลาดรถยนต์ บริษัทยังไม่ได้สรุปตัวเลขแต่คาดยอดขายอาจจะลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ในส่วนของมิตซูบิชิจะสวนทางด้วยยอดขายที่เติบโต ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 (เม.ย.2559-มี.ค.2560) ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้ถึง 9% หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2558 และ 2557 ที่มีอยู่ 8.7% และ 7.3% ตามลำดับ(ไม่รวมรถบัส รถบรรทุกและรถยนต์ยุโรปบางแบรนด์)

...นั่นเป็นทิศทางล่าสุดของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทุกๆด้าน พร้อมสร้างความแข็งแกร่งในทุกมิติ ส่วนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ต้องคอยติดตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น