xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล“บิ๊กตู่”หวังแจ้งเกิดEV-ค่ายรถลังเลรอเงื่อนไขลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รถยนต์พลังงานไฟฟ้า “อีวี” (EV - Electric Vehicle) เหมือนกำลังจะถูกปั้นให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล “บิ๊กตู่” อย่างจริงจัง หลังหลายหน่วยงานถูกสั่งให้ศึกษาแนวทางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ดังกล่าวในประเทศไทย ไม่ว่าจะพิจารณากรอบของการผลิตโดยกระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงการคลังจะต้องเปิดแต้มต่อในการเสียภาษีอีกหรือไม่ ขณะที่กระทรวงพลังงานมีหน้าที่วางแผนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกสอดคล้องกับกระทรวงคมนาคมที่ดูแลเรื่องการขับขี่บนท้องถนน ซึ่งทุกกระทรวงมีหน่วยงานย่อยที่คอยรับหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการนี้อยู่แล้ว

ล่าสุดเจ้าภาพอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม เชิญตัวแทนค่ายรถยนต์ในนามกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมให้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและความเป็นไปได้ในการแจ้งเกิดรถ EV โดยยื่นเงื่อนไขให้มีการทดลองนำเข้ามาทำตลาด โดยไม่เสียภาษีนำเข้าภายในปี 2559-2560 (1.5ปี) และจำกัดจำนวนไม่เกิน 5,000 คัน ซึ่งค่ายรถที่มีความประสงค์จะเข้าโครงการนี้ ต้องแนบแผนลงทุนเพื่อการผลิตในประเทศระยะต่อไปมาประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังการหารือประเด็นกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ผลสรุปว่ายังไม่มีการตอบสนองในเชิงบวกจากบรรดาค่ายรถยนต์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่จูงใจ ที่สำคัญการทำตลาดในรูปแบบนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน (CBU) อาจจะกะทันหันเกินไปในการเตรียมความพร้อมของดีลเลอร์ผู้จำหน่าย รวมถึงการบริการหลังการขาย และยังไม่รวมถึงการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้รองรับกับจำนวนรถยนต์

ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังอยากให้รัฐบาลกลับไปพิจารณาสิทธิพิเศษด้านการลงทุนให้มีความชัดเจน พร้อมกำหนดกรอบระยะเวลา เงินลงทุน กำลังการผลิต เช่นเดียวกับการสนับสนุนการผลิตหรือนำเข้าชิ้นส่วนเทคโนโลยีสูงที่บริษัทในประเทศยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ อย่างแบตเตอรี ชุดมอเตอร์ไฟฟ้า ที่สำคัญการผลักดันโครงการ EV นี้ ต้องไม่กระทบกับโปรดักต์ที่มีอยู่แล้วในประเทศ

ด้าน “โคจิ นาคาฮาร่า”กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กำกับดูแลงานด้านการขายในประเทศ เปิดเผยว่า ทิศทางของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ในประเทศไทย ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งมิตซูบิชิมีเทคโนโลยี มีองค์ความรู้ ทั้งยังมีรถยนต์ทำตลาดอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและยุโรป ดังนั้นถ้ารัฐบาลไทยเริ่มส่งเสริมอย่างจริงจังและมีความชัดเจน บริษัทก็พร้อมทำตลาดรถ EV แน่นอน

โดยการทำตลาดรถยนต์ EV ควรมาในรูปแบบการผลิตในประเทศ (CKD) เพื่อสามารถทำราคาขายให้จับต้องได้ ดังนั้นรัฐบาลควรสนับสนุน 3 แนวทางใหญ่ๆคือ 1.การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรีเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์จำนวนมาก 2.ตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าให้แพร่หลายและเป็นมาตรฐาน 3.สนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านราคา ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบภาษี เพื่อให้คนไทยเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น


ด้านนิสสันที่มีโปรดักต์เด่นอย่าง “ลีฟ” (Leaf) ซึ่งนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ได้นำเข้ามาทำกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ และศึกษาร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงมาสักหนึ่งระยะแล้ว

แหล่งข่าวจากนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า คงต้องรอสรุปเงื่อนไขโครงการนี้ให้ชัดเจนอีกครั้ง เพราะยังไม่รู้ว่าค่ายรถยนต์หรือผู้ซื้อจะได้รับการสนับสนุนอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง นอกเหนือจากการไม่เก็บภาษีนำเข้า แต่นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจริงจังกับรถยนต์ EV ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการทำตลาดที่เร็วขึ้น

“มีโอกาสที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้รถ EV เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่สามต่อจาก ปิกอัพ และ อีโคคาร์ ซึ่งจะช่วยดึงการลงทุนใหม่ให้เกิดขึ้น พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยียานยนต์และทักษะแรงงานให้แก่ประเทศไทย”

สำหรับนิสสันให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเต็มที่ เพราะมีความพร้อมของเทคโนโลยีและตัวรถ EV มานานแล้ว เพียงแต่อยากให้รัฐบาลพิจารณาสนับสนุนราคาให้กับผู้ซื้อ ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบภาษีหรือเงินสนับสนุน เนื่องจากรถยนต์ EV ยังมีราคาสูง ดังนั้นหลายรัฐบาลทั่วโลกก็ใช้นโยบายนี้ รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ สำหรับการใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

...นั่นเป็นสัญญาณล่าสุดจากรัฐบาลในการผลักดันรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ที่ไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ ไม่ต้องเติมน้ำมัน และปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ที่เหมือนจะมีข้อดีไปทั้งหมด เพียงแต่ว่ารถประเภทนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางการวิ่ง และราคาขายที่สูงอยู่ ขณะเดียวกันการ เพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ถือเป็นเรื่องสำคัญ พอๆกับแหล่งพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยที่ได้มาจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จะสอดคล้องกับความมั่นคงของพลังงานที่จะนำมาใช้กับรถยนต์ EV ในระยะยาวหรือไม่? ยังเป็นคำถาม

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ MGR Motoring

กำลังโหลดความคิดเห็น