xs
xsm
sm
md
lg

“มิว-เอ็กซ์” หัวใจเล็กพริกขี้หนู เปิดความเผ็ดฟัดคู่แข่งรถพีพีวี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การผงาดขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในตลาดปิกอัพของ “อีซูซุ ดี-แมคซ์ บลูเพาเวอร์” ย่อมยืนยันความสำเร็จในการปรับโฉมครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงการไมเนอร์เชนจ์ ขณะที่คู่แข่งสำคัญล้วนเพิ่งโมเดลเชนจ์ทั้งรูปลักษณ์และขุมพลังไปไม่นาน เหตุนี้ยิ่งต้องจับตารถอเนกประสงค์แบบพีพีวีรุ่น “มิว-เอ็กซ์” เพราะอีซูซุเพิ่งปรับโฉมลงสู่ตลาดเมื่อเดือนที่ผ่านมา ด้วยจุดขายขุมพลัง “บลูเพาเวอร์” เหมือนกับปิกอัพดี-แมคซ์ ส่วนจะเด่นแค่ไหน? เทียบข้อมูลเทคนิคกับคู่แข่งเป็นอย่างไร? ไปดูกันชัดๆ...

รูปลักษณ์ไม่เน้นขายความสด-ชูขุมพลังใหม่สู้ศึก!

การไมเนอร์เชนจ์ของ “อีซูซุ มิว-เอ็กซ์” (Isuzu MU-X) แทบจะไม่เน้นไปที่เรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก เพราะไม่มีการปรับเปลี่ยนที่เห็นชัดเจนเลย ซึ่งใครที่วาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้คงต้องผิดหวังไปตามๆ กัน ส่วนผู้ที่พอใจอยู่แล้วเรื่องนี้ย่อมไม่ใช่ปัญหา

แน่นอนหากพูดถึงเรื่องความสดใหม่ของรูปลักษณ์หน้าตา คงเสียเปรียบคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น “โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์”, “มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต” และ “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” ที่พากันปรับโฉมแบบโมเดลเชนจ์ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียง “เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์” ที่ยังไม่มีการขยับเหมือนกับคู่แข่ง แต่อีกไม่นานภายในช่วงกลางปีนี้น่าจะเห็นการปรับโฉมของเทรลเบลเซอร์ ตามปิกอัพเชฟโรเลต โคโลราโด ที่เตรียมจะไมเนอร์เชนจ์สู่ตลาดเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตามเรื่องรูปลักษณ์แม้จะมาในแบบเก่าๆ หรือปรับใหม่ทั้งหมด อาจจะยังถูกใจบางคน แต่ก็ใช่ว่าจะโดนใจอีกคน เพราะเป็นความชื่นชอบส่วนบุคคล และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะสามารถพิชิตใจลูกค้าได้เช่นกัน...

ทั้งนี้การที่มิว-เอ็กซ์ บลูเพาเวอร์ ไม่ใช่การปรับโฉมแบบโมเดลเชนจ์ ทำให้มิติตัวถังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่หากเทียบกับคู่แข่งที่เพิ่งโมเดลเชนจ์ไป นับว่าไม่ได้เล็กกว่าแต่อย่างใด และยังมีช่วงระยะฐานล้อยาวที่สุด ส่งผลต่อความกว้างขวางของห้องโดยสาร(ดูตารางข้อมูลเทคนิครถพีพีวีประกอบ)

จุดสำคัญในการไมเนอร์เชนจ์ของ อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ ใหม่ จึงอยู่ที่เรื่องการปรับเปลี่ยนขุมพลังใหม่ “บลูเพาเวอร์” ที่ถอดเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรในรุ่นเดิมออก และวางเครื่องยนต์บลูเพาเวอร์รหัส RZ4E-TC ขนาด 1.9 ลิตรแทน เพื่อสู้กับคู่แข่งสำคัญที่ส่วนใหญ่วางขุมพลังใหม่เช่นกัน

เหตุนี้ในบทความนี้จึงเน้นไปรถพีพีวีที่มีขนาดเครื่องยนต์ใกล้เคียงกัน หรือราคาไม่เกิน 1.4 ล้านบาท และติดตั้งเกียร์อัตโนมัติที่เป็นตลาดหลักของรถประเภทพีพีวี...

เครื่องเล็กแรงขึ้น! แต่เด่นสุดเรื่องประหยัดน้ำมัน

เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลใหม่ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์(1.9 Ddi Blue Power) ของอีซูซุ นับว่าสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการปิกอัพในโลก เพราะนี่เป็นการวางเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2,000 ซีซีครั้งแรก จึงถือเป็นการพัฒนาขุมพลังปิกอัพในแนวทางการ Downsizing อย่างชัดเจนที่สุด!

ขณะที่คู่แข่งในกลุ่มแม้จะมีบล็อกเล็กมาทำตลาด แต่ก็ยังมีขนาดมากกว่า 2,000 ซีซี ไม่ว่าจะเป็นขุมพลังใหม่ของเจ้าตลาดรถพีพีวี โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ที่วางเครื่องดีเซลคอมมอนเรล 2GD-FTV ขนาด 2.4 ลิตร เช่นเดียวกับบล็อก 4N15 ขนาด 2.4 ลิตร ของมิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต หรือในส่วนรุ่นเอเวอเรสต์ที่เป็นบล็อก P4A4 ขนาด 2.2 ลิตร เช่นเดียวกับปิกอัพเรนเจอร์ และรุ่นเทรลเบลเซอร์ที่วางเครื่องยนต์ Duramax2.5 (มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา) และ 2.8 ลิตร (ดูตารางข้อมูลเทคนิคเปรียบเทียบ)

แม้ขุมพลังของมิว-เอ็กซ์ บลูเพาเวอร์ จะเล็กที่สุดแต่ไม่ได้ด้อยกว่าฟอร์จูนเนอร์เจ้าตลาดรถพีพีวี โดยมีกำลังเท่ากันที่ 150 แรงม้า อาจจะมีแรงบิดสูงสุดด้อยกว่า แต่สมรรถนะรวมๆ กับการทำงานของระบบส่งกำลังใหม่เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด(เหมือนกับคู่แข่งรายอื่นๆ ยกเว้นปาเจโร่ สปอร์ต) รวมถึงน้ำหนักรถที่เบากว่าคู่แข่งในตลาด ย่อมส่งผลดีต่อสมรรถนะการขับขี่ และที่สำคัญทำให้มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเฉลี่ยเพียง 14.3 กม./ลิตร (ตามข้อมูลป้ายอีโค สติ๊กเกอร์ ที่แจ้งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม) นับว่าต่ำสุดในกลุ่มด้วย (ดูอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเปรียบเทียบ)

โดยในกลุ่มระดับราคาเดียวกัน รถที่มีกำลังสูงสุดเห็นจะเป็นเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ที่ให้กำลังถึง 200 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 500 นิวตัน-เมตร แต่นั่นย่อมแลกกับอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันสูงสุด 10.9 กม./ลิตร ส่วนค่ายที่โดดเด่นเรื่องสมรรถนะกำลัง และอัตราการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง เห็นจะเป็นมิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร MIVEC VG Turbo ที่ให้กำลัง 181 แรงม้า และมีตัวเลขสิ้นเปลืองน้ำมันเฉลี่ย 13.5 กม./ลิตร

อเนกประสงค์เด่น-อุปกรณ์-ระบบปลอดภัยเป็นรอง

ในส่วนของความอเนกประสงค์ ที่เป็นจุดประสงค์หลักอีกอย่างของรถพีพีวี โดยทั้งหมดเป็นแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง เพื่อรองรับเรื่องจำนวนผู้โดยสารหรือการบรรทุกสิ่งของ การออกแบบจึงต้องให้ปรับเบาะใช้งานได้หลากหลาย...

เรื่องนี้มิว-เอ็กซ์ นับว่าโดดเด่นกับเบาะแถว 2 และ 3 เช่นเดียวกับฟอร์ด เอเวอเรสต์ และเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ซึ่งปรับพับราบได้เต็มพื้นที่ ส่วนมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต สามารถปรับเบาะแถว 2 ให้ดีดพับขึ้นติดเบาะแถวหน้า ส่งผลให้พื้นราบเรียบเนียนตากว่า แต่พื้นที่ใช้สอยโดยรวมอาจจะเล็กกว่านิดหน่อย ขณะที่โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ เบาะแถว 3 ยังคงเอกลัษณ์ยกพับขึ้นด้านข้าง ทำให้ลดพื้นโดยรวมของการจุสิ่งของพอสมควร

รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ นับว่าเสียเปรียบคู่แข่งที่ปรับโฉมใหม่ เกี่ยวกับเรื่องของอุปกรณ์และระบบความปลอดภัย แต่ในรุ่นใหม่นี้ได้มีการพยายามเพิ่มเติมอุปกรณ์บางอย่าง โดยเฉพาะระบบความปลอดภัยเข้ามา ที่มีเพิ่มมากหน่อยจะเป็นในรุ่น 3.0 ลิตร แต่ในรุ่น 1.9 ลิตร ที่ติดตั้งเพิ่มให้เหมือนกับคู่แข่งจะเป็นระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน แต่ภาพรวมๆ ยังด้อยกว่าคู่แข่งในระดับราคาเดียวกันอยู่บ้าง ยกเว้นเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์(ดูตารางอุปกรณ์ติดตั้งจากโรงงานประกอบ)

สรุป... ราคาและความเหมาะสมคุ้มค่า

หากพิจารณาจากราคา สมรรถนะเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ต่างๆ ในกลุ่มรถพีพีวีระบบส่งกำลังเกียร์อัตโนมัติ ราคาไม่เกิน 1.4 ล้านบาท นับว่า “อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ บลูเพาเวอร์ 1.9 ดีดีไอ” มีตัวเลือกหลากหลาย 3 รุ่นย่อย และราคารุ่นเริ่มต้นถือว่าต่ำสุด แต่หากเทียบกับรถที่เป็นคู่แข่งสำคัญและปรับโฉมใหม่ (ดูช่วงราคาแต่ละยี่ห้อจากตารางข้อมูลเทคนิคประกอบ) ถือว่ามีราคาค่อนข้างต่ำที่เป็นจุดดึงดูดใจทีเดียว...

ประกอบกับจุดเด่นในเรื่องสมรรถนะของ มิว-เอ็กซ์ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาวเวอร์ ดีกว่ารุ่นเดิม 2.5 ลิตรชัดเจน และยังประหยัดน้ำมันสูงสุดในกลุ่มรถพีพีวี รวมถึงรองรับการใช้งานอเนกประสงค์ได้ดี ตลอดจนชื่อชั้นของแบรนด์ จับตา! มิว-เอ็กซ์ ใหม่จะผงาดในตลาดรถพีพีวีเหมือนปิกอัพได้หรือใหม่?

ขณะที่เจ้าตลาด “โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” มีตัวเลือกเดียวในกลุ่มตามเงื่อนไขของบทความนี้ ซึ่งโดดเด่นในเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งมา ราคาหากเทียบกับคู่แข่งสูงกว่า แต่ยังต่ำกว่า “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” ที่มีเครื่องยนต์บล็อกเล็ก 2.2 ลิตร วางจำหน่ายรุ่นเดียวเช่นกัน ซึ่งราคาสูงสุดของเอเวอเรสต์นั้นแลกมากับเทคโนโลยีระบบความปลอดภัยที่เหนือกว่านิดๆ

ส่วน “มิตซูบิชิป ปาเจโร่ สปอร์ต” มีความโดดเด่นทั้งเรื่องของราคา สมรรถนะ และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีความปลอดภัย โดยมีให้เลือก 2 รุ่นย่อย เช่นเดียวกับ “เทรลเบลเซอร์” แต่เนื่องจากพีพีวีของเชฟโรเลตเข้าสู่ปลายโมเดลใกล้จะไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ แถมราคาก็ไม่ได้ดึงดูดใจมากนัก จึงย่อมเสียเปรียบคู่แข่งแน่นอน

นี่คือข้อมูลเทคนิคพื้นฐานของรถในกลุ่มพีพีวี เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเบื้องต้น (อ่านเปรียบเทียบข้อมูลเทคนิคภาพรวมรถพีพีวีทุกรุ่น {มิว-เอ็กซ์ ยังเป็นเวอร์ชั่นเก่าปี 2015} ที่ http://astv.mobi/AHqTQLu) แต่สิ่งสำคัญก่อนซื้อควรจะไปทดลองขับ เพราะรถแต่ละรุ่นข้อมูลในกระดาษอาจจะดูดี แต่ไม่เหมาะกับบุคลิคการขับของแต่ละคนรวมถึงเงื่อนไขการขายต่างๆ และบริการหลังการขาย ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถเช่นกัน...


กำลังโหลดความคิดเห็น