xs
xsm
sm
md
lg

“โตโยต้า” พาเยาวชนเยือนญี่ปุ่น ต่อยอดองค์ความรู้สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ โตโยต้าและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมทำโครงการ “ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการคือ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและโรงเรียนได้ริเริ่มสร้างสรรค์วิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นรูปธรรม, เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและโรงเรียนให้สามารถเป็นต้นแบบในการทำกิจกรรม หรือปรับกิจกรรมภายในชุมชนและโรงเรียนที่เอื้อต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนและโรงเรียนคาร์บอนต่ำในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครู และนักเรียนในการดำเนินงานเพื่อร่วมลดภาวะโลกร้อน

ดังนั้นในแต่ละปีจะมีชุมชนและโรงเรียนทั่วประเทศที่มีใจรักที่จะปกป้องโลกเข้าร่วมโครงการผ่านการนำเสนอโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี ซึ่ง 9 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการ 181 เทศบาล 80 ชุมชน และ 230 โรงเรียนใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศไทย


ในปีที่ 10 เพื่อเป็นการตอบแทนสำหรับความมุ่งมั่นของ ครู เยาวชน และตัวแทนชุมชน โตโยต้ามอบรางวัลทัศนศึกษาและอบรมด้านสิ่งแวดล้อมแก่ โครงการดีเด่น 3 อันดับ ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมและอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ณ สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้า ชิราคาวาโก ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการในอนาคต

สำหรับโรงเรียนที่ผลงานดีเด่นประจำปีนี้ รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง เป็นของโรงเรียนควนโดนวิทยา อ.ควนโดน จ.สตูล จากการดำเนินกิจกรรม “ร่วมพลัง สู่ความหวังสังคมคาร์บอนต่ำ” รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เป็นโรงเรียนหนองจอกพิทยานุสสรณ์มัธยม เขตหนองจอก กรุงเทพฯ จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเราชาว น.พ.ม.” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง เป็นของโรงเรียนจุนวิทยาคม อ.จุน จ.พะเยา จากการดำเนินกิจการโครงการ “C.W.K. The Green School “Against Pollution”


ประเภทชุมชน รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ ชุมชนแพะป่าห้า เทศบาลเมืองแม่โจ้ อ. สันทราย จ.เชียงใหม่ จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการแพะป่าห้าร่วมใจลดพลังงาน ลดเมืองร้อน” รางวัลรองชนะเลศอันดับหนึ่ง ชุมชนบ้านหนองแล้ง เทศบาลตำบลขุนหาญ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการหนองแล้งร่วมใจ ลดเมืองร้อน” รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ชุมชนบ้านลองลือบุญ หมู่ที่ 6 เทศบาลตำบลสอง อ.สอง จ.แพร่ จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการ ชุมชนต้นคิด รักษ์สิ่งแวดล้อม”

ภารกิจแรกของการเดินทางเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของเยาวชนและชุมชน เริ่มจากการเข้าเยี่ยมชมศูนย์การกำจัดการขยะของเมืองโตเกียว (Tokyo Metropolitant Landfill site) เพื่อให้รู้และเข้าใจถึงกระบวนการทำงานในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ และการนำขยะที่เหลือใช้ไปก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายถึงวิธีการคัดแยกขยะ ระเบียบของการเก็บขยะทั้งในสวนภาครัฐและเอกชน เทคโนโลยีการกำจัดขยะทั้งในรูปแบบของการเผาไหม้ และการฝังกลบ

ภารกิจที่สอง ของวันถัดมา ทั้งคณะได้ไปเยี่ยมชม เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Kawasaki Ecotown) ซึ่งที่นี้จะได้เห็นแนวคิดการดำเนินธุรกิจของเมืองอุตสาหกรรมที่มีรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างโรงงานในพื้นที่กับระบบนิเวศท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมโดยรวม พร้อมทั้งมีโอกาสเยี่ยมชมและศึกษาถึงกระบวนการผลิตของโรงงานที่สามารถนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ทั้ง 100 %

ภาคบ่ายได้เข้าไปชม โชว์รูมโตโยต้าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น (Mega Web) ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์คลาสสิก,รถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดและรถยนต์ในอนาคตของโตโยต้า และรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรถไฮบริด ระบบเซลเชื้อเพลิง, มีสนามให้เด็กขับรถคาร์แบบไฮริดในสนามความยาวประมาณ 150 เมตร, มีมุมแสดงเทคโนโลยีการออกแบบรถยนต์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด และวันถัดไป ได้พาไปชมพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีโตโยต้า ที่นี่เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานและประวัติความเป็นมาของโตโยต้าที่เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมสิ่งทอจนมาถึงรถยนต์


ก่อนจะเดินทางกลับคณะยังได้ไปเยือน ชุมชนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมโตโยต้า (Toyota Ecoful Town) ภาพเมืองจำลองที่ผสานการใช้พลังงานระหว่างรถยนต์ คน และที่อยู่อาศัยอย่างกลมกลืนภายใต้แนวคิดสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมทั้งเยี่ยมชมบ้านอัจฉริยะ (Toyota Smart Town) ที่มีระบบการประหยัดพลังงาน โดยถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้าในจุดที่ไม่จำเป็น จัดลำดับความสำคัญในการใช้ไฟฟ้าก่อนหลังและแสดรายละเอียดคำนวณกาใช้ฟ้าในบ้านแต่ละวัน

สำหรับไฮไลท์ของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่ “สถาบันสิ่งแวดล้อม โตโยต้า ชิราคาวาโก” สถาบันแห่งนี้จัดขึ้นเพื่อให้เป็นโรงเรียนธรรมชาติ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านชิราคาวาโก ที่งดงามที่สุดในประเทศตะวันออกเฉียงเหนือสุดของเขตปกครองจังหวัดไจฟู (Gifu) ที่สำคัญที่นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 1995 มีบ้านแบบกัสโชสึคุริ (Gassho-zukuri) เป็นบ้านชาวนาโบราณที่มีอายุมากกว่า 250 ปี ดังนั้นเมื่อเด็ก ๆ มาถึงต่างตื่นเต้นกับบรรยากาศรอบๆ ตัว บวกกับช่วงที่คณะเราไป มีหิมะปกคลุมไปทั่วบริเวณนั้น รวมถึงกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ต้อนรับตั้งแต่วินาทีแรกเมื่อมาเยือน


โปรแกรมที่คณะได้เรียนรู้คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ คือทดลองผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำด้วยกังหันน้ำ ให้รู้ว่าจำเป็นต้องประหยัดพลังงานในฤดูนี้เป็นช่วงที่น้ำเย็นเพราะหิมะละลายไหลลงแม่น้ำโดยจะให้ลงไปในธารน้ำทดลองให้กังหันน้ำสามารหมุนได้เอง

กิจกรรมที่สองเป็นการเดินสำรวจป่าในตอนกลางคืน กิจกรรมนี้สอนให้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการใช้ชีวิตกับธรรมชาติให้อยู่อย่างกลมกลืน พอเพียง เมื่อก่อนเราไม่มีไฟฟ้าแต่มีเพียงเทียนไขเล่มเดียว เราก็สามารถอยู่ในป่าได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้พวกเราทดลองปิดตาหนึ่งข้างแล้วมองที่แสงไฟจากเทียนไขสักครู่จากนั้นให้เปิดตาทั้ง 2 ข้าง ดูว่าความชัดเจนในการมองเห็นเป็นอย่างไร ซึ่งตาที่เราไมได้ปิดนั้นจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าเพราะธรรมชาติของมนุษย์จะสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้



ก่อนเดินทางกลับเช้าของวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่นำคณะออกเดินทางเข้าป่าอีกครั้งเพื่อเรียนรู้การดูแลรักษาป่า เนื่องจากในญี่ปุ่นจะมีป่าไม้มากกว่าประเทศไทยและก็ไม่มีคนทำลายป่าเพราะผลิตภัณฑ์จากป่าไม่ค่อยมีราคา ปัญหาคือทำให้ต้นไม้ในป่าเติบโตได้ไม่เต็มที่ กิจกรรมนี้สอนให้นักเรียนรู้จักการดูแลป่าไม้ โดยต้นไม้ที่จะสามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์นั้นจะต้องมีพื้นที่อย่างเพียงพอสำหรับราก ลำต้น กิ่งก้านสาขา และได้รับแสงแดดเพียงพอในการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ หากป่าไม่ได้รับการดูแลรักษาต้นไม้ขึ้นเบียดเสียดกันมากเกินไปไม้แต่ละต้นก็จะไม่แข็งแรง ความสามารถในการกักเก็บน้ำ หรือเกาะยึดผิวดินก็จะไม่ดีเท่าที่ควร การดูแลป่าของคนญี่ปุ่นคือเลือกตัดต้นไม้บางต้นเพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างต้นให้ต้นไม้เติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาได้อย่างเต็มที่และช่วยเร่งการเติบโตขึ้นมาเพื่อรับแสงแดด

การเดินทางทัศนศึกษาในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชน และชุมชนต่างๆ ได้มาเปิดประสบการณ์ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ ตลอดจนนำความรู้ได้ที่ได้รับจากการอบรบแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ มาต่อยอดกิจกรรมในชุมชนของตน ได้ไม่มากก็น้อย

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ ASTVผู้จัดการ Motoring

กำลังโหลดความคิดเห็น