xs
xsm
sm
md
lg

ควบ "มาสด้า 2 ใหม่ อีโคคาร์"…ครบเครื่อง ความสนุก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาสด้า2 สกายแอคทีฟ ที่เป็นรถ Pre Production  ซึ่งผลิตจากโรงงานในประเทศไทย
“รถยนต์ที่เน้นขับสนุก ให้ความรู้สึกอยากจะขับขี่ทุกวัน อยากจะขับไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดหมายยังอยากจะขับต่อไปอีก”…

นั่นเป็นปรัชญาของ “มาสด้า” ซึ่งทีมวิศวกรได้พยายามถ่ายทอดมาไว้ในรถทุกรุ่น รวมถึง “มาสด้า2” (Mazda 2) โฉมใหม่ ที่เร็วๆ นี้จะเข้ามาบุกตลาดรถยนต์ไทย ภายใต้โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะ 2 หรืออีโคคาร์ เฟส2 (Eco Car Phase2)

สร้างแนวคิดให้เป็นจริง!
แม้มาสด้าจะสื่อถึงปรัชญาดังกล่าว ผ่านคำที่เข้าใจและจดจำได้ง่ายๆ… “Zoom Zoom” ซึ่งเป็นเสียงเครื่องยนต์ครางกระหึ่ม แต่เมื่อได้สัมผัสรถตลาดหลายๆ รุ่นของมาสด้าในช่วงที่ผ่านมา ที่พอตรงกับคอนเซ็ปต์มากสุด น่าจะเป็นเรื่องการออกแบบรูปลักษณ์และช่วงล่าง ขณะที่เรื่องอื่นๆ ยังไม่ถือว่าใช่มากนัก?!


จนกระทั้งมาสด้าได้ปฎิวัติรถยนต์ใหม่ทั้งคัน ภายใต้เทคโนโลยี “สกายแอคทีฟ” (Skyactiv) เริ่มจากโฉมใหม่ล่าสุดของ “มาสด้า6” (Mazda 6) ตามมาด้วย “มาสด้า ซีเอ็กซ์-5” (Mazda CX-5) และ “มาสด้า3” (Mazda 3) ปรัชญาดังกล่าวจึงเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น จนมาสู่รุ่นล่าสุด “มาสด้า 2” (Mazda 2) พร้อมกับเพิ่มคุณค่าที่เหนือกว่า นอกจากเรื่องความแรงแล้ว ยังประสบความสำเร็จในการใส่ความประหยัดเชื้อเพลิงเข้าไปด้วย…

ดังนั้นเพื่อสัมผัสความรู้สึกตามปรัชญาดังกล่าว มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย จึงได้จัดทริปทดสอบ “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ” โฉมใหม่ ตัวถังแบบแฮทช์แบ็ก หรือรุ่น 5 ประตู ภายใต้เทคโนโลยีสกายแอคทีฟทั้งคัน ให้กับสื่อมวลชนไทยได้ลองขับไกลถึงในประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่ที่เมืองฮิโรชิมาบ้านของมาสด้า ครั้งนี้ได้โยกไปขับยังสนามของศูนย์ขับขี่ Cycle Center แถบใกล้ๆ โตเกียวเมืองหลวงของญี่ปุ่น ซึ่งหลักๆ สนามนี้จะรองรับการขับขี่จักรยาน แต่ต้องบอกว่าความกว้างของถนนที่ลัดเลาะไปตามเขาระยะทาง 3.5 กิโลเมตร มีสภาพดีไม่ต่างจากถนนหลวงของไทย และกว้างพอที่รถยนต์วิ่งสวนกันได้สบายๆ

อีโคคาร์หรือซับคอมแพ็กต์?
แต่ก่อนที่จะสัมผัสกับสมรรถนะของ “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ” ใหม่ มาทำความรู้จักกับรถรุ่นนี้กันเสียก่อน ว่าในตลาดไทยมันได้เปลี่ยนแปลงการทำตลาด หรือกลุ่มเป้าหมายหรือไม่? เพราะคงทราบกันดีแล้วว่า “มาสด้า2” โฉมใหม่ ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการอีโคคาร์ เฟส2 ทำให้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับรถในกลุ่มอีโคคาร์ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ถูกหากจะมองอย่างนั้น…


เพราะด้วยเงื่อนไขเครื่องยนต์ เรื่องความปลอดภัย และมาตรฐานมลพิษ ถูกกำหนดให้แตกต่างจากค่านิยมเก๋งซับคอมแพ็กต์ หรือบี-คาร์ (B-Car) ในไทยปัจจุบัน แต่หากจะพูดเรื่องของมิติตัวถังที่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ แทบไม่มีความต่าง หรือบางรุ่นอีโคคาร์อาจจะใหญ่กว่าอีก จึงไม่แปลกหากเมื่ออีโคคาร์ในไทย ถูกส่งไปขายในต่างประเทศจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มซับคอมแพ็กต์ หรืออีโคคาร์บางรุ่นในไทยบางรุ่น เดิมมันเป็นซับคอมแพ็กต์ที่ขายในต่างประเทศมาก่อน

จะว่าไปจากเงื่อนไขข้อกำหนดของรัฐบาลไทย จริงๆ เป้าหมายของโครงการอีโคคาร์เป็น Ecology Car แต่การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี (เฟสแรกภาษีสรรพสามิต 17% และเก๋งอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในโครงการเริ่มต้น 25%) ส่งผลต่อราคาให้ต่ำลง เพื่อให้สามารถวางจำหน่ายได้ง่าย และดึงดูดให้บริษัทลงทุนในโครงการดังกล่าว ทำให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็น “รถราคาประหยัด” หรือ Economy Car ไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของภาครัฐยังคงมุ่ง Ecology Car ดังนั้นเมื่อเปิดโครงการอีโคคาร์ เฟส2 และเพื่อไม่ให้รถยนต์ที่เข้าร่วมตั้งแต่เฟสแรกเสียเปรียบ จึงได้เพิ่มความเข้มข้นเงื่อนไขกำหนดอีโคคาร์ 2 เห็นได้จากมาตรฐานมลพิษระดับ Euro5 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลมเตร (เฟสแรก 120) หรืออัตราสิ้นเปลืองน้ำมันต้องไม่ต่ำกว่า 4.3 ลิตร / 100 กิโลเมตร (เฟสแรก 5 ลิตร) นอกจากนี้ยังเพิ่มขนาดเครื่องยนต์ดีเซล 1.4 ลิตร เป็นขนาดไม่เกิน 1.5 ลิตร แต่ในส่วนของเครื่องยนต์เบนซินยังคงเดิมไม่เกิน 1.3 ลิตร

แน่นอนการเพิ่มข้อกำหนดเรื่องของมาตรฐานมลพิษ และความปลอดภัย ย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของอีโคคาร์ 2 ซึ่งจะว่าไปค่ามาตรฐานดังกล่าวแทบไม่ต่างจากรถยนต์ไฮบริด ขณะที่มีอัตราภาษีสรรพสามิตสูงกว่า และที่สำคัญข้อกำหนดของอีโคคาร์มีความเข้มงวด ในด้านมาตรฐานความปลอดภัยและมลพิษสูงกว่ารถซับคอมแพ็กต์มาก


นั่นย่อมส่งผลต่อเรื่องของต้นทุนอย่างชัดเจน สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอีโคคาร์ 2 จึงไม่น่าจะใช้รถยนต์ราคาประหยัด ตามที่เข้าใจในอีโคคาร์เฟสแรกอีกต่อไป…

ยิ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่า “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ” ที่จะทำตลาดภายใต้โครงการอีโคคาร์ จะเปิดตัวรุ่นแรกกับเครื่องยนต์ดีเซล Skyactiv D 1.5 ลิตร ถือเป็นการฉีกตลาดรายแรก ที่บุกตลาดเก๋งเล็กกับเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามีราคาแพงกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างอีโคคาร์และซับคอมแพ็กต์หดแคบลงไป จนแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย

อย่าคาดหวังราคาอีโคคาร์?!
เหตุนี้จึงมีเสียงคาดคะเนต่างๆ ว่าราคาของอีโคคาร์ “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ” อาจจะโดดไปกว่า 6 แสนบาท ไปจนถึงสูงสุดกว่า 7 แสนบาท นั่นก็ไม่แปลกหากจะมองความเป็นเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร ที่สำคัญยังเป็นบล็อกดีเซลอีก และมิติตัวถังที่ไม่แตกต่างจากรุ่นเดิมนัก ยังไม่นับรวมค่ามาตรฐานและเทคโนโลยีที่โดดเด่นกว่า

หากตัดคำว่าเป็นรถยนต์ภายใต้โครงการ “อีโคคาร์” ออกไป… “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ” มันก็คือซับคอมแพ็กต์ หรือเก๋งกลุ่มบี-คาร์ (B-Car) ดีๆ นี่เอง?!!

นี่จึงเป็นโจทย์ท้าทายของ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ที่จะตั้งราคาของ “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ” อย่างไร? ให้ผู้บริโภคยอมรับได้…

เมื่อ “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” พยายามสอบถาม “สุรีทิพย์ ละองทอง โฉมทองดี” รองประธานบริหารของมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ว่าจะตั้งราคาค่อมระหว่างอีโคคาร์ และซับคอมแพ็กต์ใช่หรือไม่?...

คำตอบไม่ได้รับการอธิบาย เพียงแต่บอกว่า… “เป็นราคาที่เซอร์ไพร์สแน่นอน…”
มาสด้า2 Skyactiv D 1.5 ลิตร ที่ใช้ทดสอบเป็นเวอร์ชั่นจำหน่ายในญี่ปุ่น

ฉะนั้นเรื่องราคา ณ ปัจจุบัน จึงคงได้แต่คาดเดากันต่อไป จนกว่าจะมีการเปิดตัวจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า 2558 โดยในการเผยโฉมในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2014 ซึ่งจะเป็นเวทีเปิดตัวรุ่น “ซีดาน” ของมาสด้า2 สกายแอคทีฟครั้งแรกในโลกด้วย จะยังไม่เปิดราคาเป็นทางการ อาจจะเผยช่วงราคาคร่าวๆ เพื่อรับจองคิวเท่านั้น ส่วนรุ่นเบนซิน Skyactiv G 1.3 ลิตร กำลังตรวจสอบมาตรฐานกำหนด คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ(BOI) และทำตลาดในปีหน้า

ความเหมือนดีไซน์ที่แตกต่าง
ทีนี้มาว่าเรื่องของการสัมผัสสมรรถนะอีโคคาร์ เฟส2 รุ่นแรก “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ” ปะพบหน้าความรู้สึกแรกมันเหมือนกับการย่อส่วนมาจากรุ่นพี่ “มาสด้า3 สกายแอคทีฟ” แต่จะว่าไปมันมีรายละเอียดที่แตกต่างกันพอสมควร ยิ่งเมื่อได้ฟังจากหัวหน้าทีมออกแบบ “เรียว ยานากิซาวา” โดยเฉพาะในทางด้านวิศวกรรมการออกแบบ

“มาสด้า 2 เป็นอีกรุ่นที่ได้ออกแบบภายใต้แนวคิด Kodo Design เช่นเดียวกับมาสด้า 6 และรุ่น 3 ก่อนหน้านี้ แต่การนำเอารถใหญ่มาย่อส่วนให้เป็นรถเล็ก จะทำให้ไม่สวยงามลงตัว และดูเป็นรถที่น่าเกลียด เราจึงทำการออกแบบใหม่เพื่อให้เกิดความแตกต่าง โดยมาสด้า6 ดูปราดเปรียว แต่มาสด้า3 จะเป็นรถที่แข็งแรง และมาสด้า 2 เหมือนจะกระโจนออกไป ซึ่งทั้งหมดยังคงแนวทางโคโดะดีไซน์เอาไว้ และขณะที่รถทั่วไปจะเน้นใช้งานอเนกประสงค์ แต่มาสด้า2 มุ่งให้ความรู้สึกรวดเร็วและพร้อมเคลื่อนไหว”


ภายใต้อิทธิพลการออกแบบดังกล่าว เมื่อมองผิวเผินจะเห็น Signature Wing กรอบกระจังหน้าหน้าห้าเหลี่ยมเอกลักษณ์ของรถมาสด้าเจนเอนเรชั่นที่ 6 ที่เหมือนกันทุกรุ่น รวมถึงเส้นสายของตัวถังรถที่ยึดแนวของโคโดะ ดีไซน์ ซึ่งถ่ายทอดมาจากจากโครงร่างของเสือชีต้า แต่หากพิจารณาดีๆ จะเห็นความแตกต่างในส่วนรายละเอียดกระจังหน้า มาสด้า2 สกายแอคทีฟจะมีแถบสีคาดกลาง เพิ่มความสปอร์ตโฉบเฉี่ยว และในส่วนของกรอบไฟหน้า ชายกันชนและไฟตัดหมอกมีความแตกต่างชัดเจน

ทั้งนี้รถที่ทดสอบเป็นเวอร์ชั่นจำหน่ายในญี่ปุ่น และมีรถคันสีแดงและน้ำเงินมาโชว์ เนื่องจากเป็น Pre Production จากโรงงานในไทย จึงยังไม่เสร็จสมบูรณ์อาจจะมีเปลี่ยนแปลงบางจุดในเวอร์ชั่นจำหน่ายจริง ซึ่งในส่วนของไฟหน้าถูกออกแบบให้เหมือนกับดวงตาอสูร (Eyes of a Beast) โดยในไทยน่าจะเป็นไฟฮาโลเจน ขณะที่ด้านท้ายและชุดไฟท้ายอาจจะดูไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย เรื่องนี้หัวหน้าทีมออกแบบระบุว่าเป็นความตั้งใจ เพราะจากการสำรวจผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้คำชม และยังคงชอบการออกแบบบั้นท้ายนี้อยู่

มาสด้า2 สกายแอคทีฟ ดูจะเหมือนเล็กแต่หากเทียบกับรุ่นเดิม ตัวถังใหญ่กว่าเดิมในทุกมิติ มีเพียงความกว้างที่ยังคงเท่าเดิม เมื่อบวกกับการออกแบบภายในให้ดูโปร่งโล่ง ทำให้ห้องโดยสารไม่รู้สึกเล็กมากนัก ยิ่งเมื่อผสานกับความกล้าตามคอนเซ็ปต์ของมาสด้าที่ไม่ยอมประณีประนอมกับการออกแบบ ด้วยการใส่ช่องแอร์ทรงกลมบนคอนโซลหน้าเพียง 3 ช่อง จากทั่วไปจะต้องใช้ 4 ช่อง แต่ได้ซ่อนช่องแอร์อีกอันไว้บนแถบคาดแผงคอนโซลอย่างกลมกลืน จึงไม่ต้องห่วงเรื่องความเย็น และยังรู้สึกถึงความโปร่งโล่งของห้องโดยสาร ถึงอย่างนั้นห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายยังคงเล็กอยู่พอสมควร

นั่นก็ดูจะไม่ใช่สิ่งที่มาสด้าให้ความสนใจมากนัก เพราะชัดเจนว่าต้องการสร้างรถที่ให้ความรู้สึก ถึงความรวดเร็วและสนุกในการขับขี่มากกว่า จะใช้งานอเนกประสงค์เหมือนรถแฮทช์แบ็กทั่วๆ ไป…


สปอร์ตผสานความทันสมัย
ถึงอย่างนั้นมาสด้ายังคงคอนเซปต์ความเร้าใจ ดึงนั้นจึงออกแบบห้องโดยสารด้านหน้าแบบ Driver-Symmetrical Cockpit ทำให้เมื่อเข้ามานั่งแล้วรู้สึกพร้อมอยากจะขับ และเพิ่มความสปอร์ตโฉบเฉี่ยวด้วยการตัดตะเข็บแดง บนเบาะนั่งที่มีปีกข้างโอบกระชับคนนั่ง ในส่วนของพวงมาลัยเหมือนกับ “มาสด้า3” เช่นเดียวกับชุดมาตรวัด อาจจะแตกต่างที่รายละเอียดภายใน บนกระจังหน้าคนขับจะมีจอภาพสะท้อนแจ้งความเร็ว Active Driving Display เช่นเดียวกับมาสด้า 3 และข้างพวงมาลัยด้านซ้ายจะมีปุ่ม Start/Stop พร้อมระบบ i-Stop ช่วยในการประหยัดน้ำมัน

มาสด้า2 สกายแอคทีฟ ติดตั้งระบบ MZD Connect ทำงานผสานกับสมาร์ทโฟน เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และเข้าถึงการติดต่อสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรับคลื่นวิทยุ เล่นซีดี และเครื่องเล่นแบบพกพา รองรับการใช้งานโทรศัพท์แบบไร้สาย แสดงข้อความสั้น (Text Massege) และเมื่อใช้งานกับ Aha โดยฮาร์มาน (Harman) ระบบสามารถอ่านข้อความล่าสุดบน Twitter และ Facebook และสามารถโพสต์ข้อความเสียงได้เช่นกัน ตลอดจนระบบปฎิบัติการที่สั่งการด้วยเสียง Voice Commander ที่ผู้ขับขี่สามารถสั่งและควบคุมการทำงานต่างๆ ได้ด้วยเสียงเพื่อเปลี่ยนเมนูต่างๆ และยังมีปุ่มควบคุม Center Commander วางในตำแหน่งข้างเบรกมือใต้แป้นเกียร์ เป็นศูนย์กลางของการควบคุมทั้งหมด โดยจะแสดงบนจอข้อมูลขนาด 7 นิ้วบนคอนโซลหน้าตรงกลาง เพื่อไม่ต้องละสายตาขณะขับขี่ หรือจะควบคุมสวิตช์บนก้านพวงมาลัย ซึ่งทั้งหมดยกมาจากมาสด้า3 กันเลย และค่อนข้างแน่นอนจะถูกนำมาใส่กับรุ่นจำหน่ายในไทยด้วย
เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล Skyactiv D 1.5L
แสดงขนาดและรูปแบบของอินเตอร์คูลเลอร์ ในเครื่องยนต์ Skyactiv D 2.2L ในมาสด้า ซีเอ็กซ์-5 (บน) เปรียบเทียบกับ Skyactiv D 1.5L ของมาสด้า2
เครื่องยนต์ดีเซลรูปแบบใหม่
ขุมพลังของมาสด้า 2 สกายแอคทีฟ ที่ทางมาสด้านำมาให้สื่อมวลชนไทยทดสอบ เป็นเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี เทอร์โบชาร์จเจอร์แบบ Variable Turbine Geometry แปรผันตามความเร็วรอบ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งออกแบบให้มีขนาดเล็กเป็นพิเศษและซ่อนอยู่ในกล่องท่อร่วมไอดี เป็นลิขสิทธิ์โดยเฉพาะของมาสด้า นับเป็นอีกจุดเด่นของการพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก โดยที่เครื่องยนต์ยังทำงานสมบูรณ์สามารถจุดระเบิดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

กำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ Skyactiv D 1.5 ลิตร 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที โดยให้แรงบิดสูงสุด 250 นิวตัน-เมตร เทียบเท่ากับเครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร โดยมีอัตราส่วนกำลังอัด 14.8 : 1 ซึ่งเครื่องยนต์ Skyactiv D ได้ออกแบบพิเศษให้มีพื้นที่บนหน้าลูกสูบรองรับประสิทธิภาพในการจุดระเบิด ขณะลูกสูบเคลื่อนที่ใกล้ศูนย์ตายบน(Top Dead Center : TDC) หรือเข้าใกล้ฝาสูบ โดยไม่ต้องรอจังหวะให้ลดลงเพื่อมีพื้นที่จุดระเบิดเหมือนทั่วๆ ไป

นอกจากเทอร์โบชาร์จเจอร์ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลช่วยให้เครื่องยนต์ Skyactiv D มีแรงบิดสูงตั้งแต่รอบต่ำ ซึ่งในเครื่องยนต์ดีเซลมาสด้า2 สกายแอคคทีฟ มาตั้งแต่ 1,500 - 2,500 รอบต่อนาที และช่วงเวลาเผาไหม้ที่เหมาะสมยังส่งผลให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เปรียบเทียบเทอร์โบชาร์จเจอร์ของซีเอ็กซ์-5 และมาสด้า2
เปรียบเทียบแรงบิดสูงของเครื่องยนต์ Skyactiv D 1.5L
ตอบโจทย์ความแรงแต่ประหยัด!
สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้จากเมื่อเคลื่อนมาสด้า2 สกายแอคทีฟออกจากจุดสตาร์ท และเข้าสู่เส้นทางทดสอบหลักก็เข้าโค้งขึ้นเขาลาดชันทันที ขุมกำลังของเครื่องยนต์ดีเซล Skyactiv D 1.5 ลิตร 105 แรงม้า ที่มากับแรงบิดสูงในรอบต่ำแสดงให้เห็นสมรรถนะทันที โดยสามารถตอบสนองการขับขี่ได้อย่างฉับไว ไม่จำเป็นต้องเติมคันเร่งมากมายนัก และยิ่งเส้นทางลัดเลาะคดโค้งไปมาบนเขา ทั้งแบบโค้งรูปตัว S, ตัว U และโค้งหักศอก เพียงเติมเล็กน้อยก็พุ่งทะยานออกจากปลายโค้งได้อย่างทันใจ

การทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด Skyactiv - Drive ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ทำงานผสานกันอย่างลงตัว ราบเรียบและนุ่มนวล แต่ก็พร้อมตอบสนองอย่างฉับไวในยามต้องการอัตราเร่ง โดยความเร็วสูงสุดทรงตรงก่อนเข้าโค้งขึ้นเขาทำได้ที่ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากเทียบกับรถยนต์มาสด้าในรุ่นก่อนๆ นับว่าสามารถทำความเร็วๆ ปลายได้ดีกว่า ทำให้คำนินทาเดิมๆ “ดีเฉพาะตีนต้น” น่าจะลดลงไปพอสมควร กับรถยนต์มาสด้าเทคโนโลยีสกายแอคทีฟ

ในส่วนของอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ในการทดสอบทริปนี้ไม่ได้มุ่งเรื่องดังกล่าวนัก แต่ด้วยเงื่อนไขของรถในโครงการอีโคคาร์ต้องไม่ต่ำกว่า 23 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งจากข้อมูลการทดสอบของเวอร์ชั่นญี่ปุ่นตามมาตรฐาน JC08 มาสด้า2 Skyactiv D 1.5 ลิตร เกียร์อัตโนมัติมีอัตราสิ้นเปลือง 26.4 กิโลเมตรต่อลิตร แม้ในการใช้งานจริงจะลดลงบ้างก็ตาม ถึงอย่างนั้นน่าจะดีกว่าอีโคคาร์เครื่องยนต์เบนซินที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยี Skyactiv D ที่มีช่วงเวลาเผาไหม้ที่เหมาะสม ยังทำให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บวกกับการลดน้ำหนักและความเสียดทานในเครื่องยนต์ ผสานกับการทำงานของเกียร์ใหม่ ย่อมส่งต่ออัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเอาไว้เมื่อมีการทดสอบเวอร์ชั่นในไทยจะรายงานในเรื่องนี้อีกครั้ง
เปรียบเทียบอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กเครื่องยนต์ดีเซล

อีกจุดที่ได้รับความสนใจเห็นจะเป็นเรื่องเสียงเครื่องยนต์ดีเซล Skyactiv D เทคโนโลยีใหม่นี้ได้ช่วยอย่างมาก เมื่อฟังเสียงครั้งแรกในสภาพพื้นที่เปิดปกติ ถึงกับอึ้งและสงสัย… นี่เครื่องยนต์ดีเซลจริงหรือ? และในวันทดสอบบนสนามปิดและอยู่บนเขาค่อนข้างเงียบ ขณะรอบเดินเบารู้สึกถึงเสียงของเครื่องยนต์ดีเซลบ้าง แต่ยังดีกว่ารถเครื่องยนต์ดีเซลทีมีอยู่ส่วนใหญ่ปัจจุบันมาก ยิ่งการเก็บเสียงเวลาอยู่ในห้องโดยสารแทบจะไม่ได้ยินเลย จนเมื่อเติมคันเร่งรอบสูงๆ จึงมีเสียงให้ได้ยินเป็นธรรมดา แต่ไม่ถึงกับดังและมีอาการสั่นเหมือนทั่วๆ ไปนัก

ช่วงล่างไม่ผิดหวังมีแต่จะดีขึ้น
สิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของมาสด้าอีกอย่าง คือการควบคุมรถในยามขับขี่ มาสด้า2 สกายแอคทีฟยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดเจน พวงมาลัยตอบสนองได้เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก หรือความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว อาจจะรู้สึกไม่ชอบตรงที่พวงมาลัยใหญ่ไป เหมือนยกมาจากมาสด้า3 เลย ยิ่งเจอสภาพถนนคดโค้งตลอดเวลา ทำให้เกะกะไปหน่อย

ช่วงล่างของมาสด้า2 สกายแอคทีฟ ด้านหน้าแม้จะเป็นแบบเมคเฟอร์สันสตรัท และหลังแบบทอร์ชันบีม แต่ได้มีการพัฒนาใหม่ในเรื่องน้ำหนักเบา กระทัดรัด และมีประสิทธิภาพ โดยมีการออกแบบระยะแขนและมุมแคสเตอร์ ตลอดจนตำแหน่งจุดยืดต่างๆ ใหม่ การใช้ตัวดูดซับการสะเทือนควบคุมแรงเสียดทานในการทำงานอย่างเหมาะสม รวมถึงอัตราทดพวงมาลัยที่รวดเร็วขึ้น ตอบสนองการบังคับเลี้ยวได้ดี

ดังนั้นในการทดสอบบนสภาพถนนคดโค้งบนเขา จึงให้ความรู้สึกแน่น หนึบ และถึงจะเข้าโค้งแรงๆ แทบจะไม่มีอาการโยนให้สัมผัสได้มากนัก จึงเป็นอีกจุดที่ต้องยกนิ้วให้กับการพัฒนามาสด้า2 สกายแอคทีฟ ขณะที่เบรกรุ่นที่ขับเป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ ตอบสนองได้อย่างแม่นยำในทุกสภาพการขับขี่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความปลอดภัยและสนุกในทุกการขับขี่มากขึ้น

สรุป… อีโคคาร์ “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ” ใหม่ ตัวถังแฮทช์แบ็ก นับเป็นรถโดดเด่นที่สุด ในกลุ่มอีโคคาร์และซับคอมแพ็กต์ปัจจุบัน เพราะครบเครื่องของรถขับสนุกอย่างแท้จริง ตรงกับปรัชญามาสด้าที่มุ่งสร้างรถให้รู้สึก… “อยากจะขับทุกวัน และขับต่อไปเรื่อยๆ” ที่สำคัญยังประหยัดเชื้อเพลิง แต่หากต้องการความอเนกประสงค์คงต้องพิจารณายี่ห้ออื่นแล้วล่ะ!!



กำลังโหลดความคิดเห็น