xs
xsm
sm
md
lg

บุกบ้าน“กัลลิเวอร์”ยักษ์ใหญ่ยูสคาร์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังประกาศอย่างมั่นใจในงานแถลงเปิดตัวธุรกิจอย่างเป็นทางการว่า “วี-กัลลิเวอร์” (กัลลิเวอร์ ประเทศญี่ปุ่นร่วมทุนกับ วี กรุ๊ป หรือกลุ่มวิริยะของไทยถือหุ้นในสัดส่วน 49:51 เปอร์เซ็นต์) จะเข้ามาพลิกโฉมวงการรถยนต์มือสองในไทย และภายใน 3 ปีต้องขึ้นแท่นเป็นเจ้าตลาดทั้งจำนวนสาขาและปริมาณการขายต่อปี

แม้ตอนนี้จะยังไม่เห็นหน้าเห็นหลัง เพราะอยู่ในช่วงวางรากฐาน ที่สำคัญโมเดลธุรกิจในไทยยังเน้นไปที่การหาคู่ค้ามาเป็นแฟรนไชส์ มากกว่าการลงทุนโดยตรงจากบริษัทแม่ ยิ่งในยุคที่ตลาดรถยนต์มือสองกำลังป่วนหนัก บวกกับสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงน่าสนใจว่าเป้าหมายที่เจ้าพ่อรถยนต์มือสองจากญี่ปุ่นวางไว้จะทำได้จริงหรือไม่?
คัทซึชิ โนมูระ กับ พุฒิพันธุ์ ธรรมวิชัย สองผู้บริหารใหญ่ วี-กัลลิเวอร์
ท่านประธาน เคนอินชิ ฮาโตริ มาต้อนรับพร้อมโชว์มายากลจากนิทานกัลลิเวอร์
ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าและลูกค้าในเมืองไทย พร้อมสร้างการรับรู้ของแบรนด์ให้มากขึ้น เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา “คัทซึชิ โนมูระ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี-กัลลิเวอร์ จำกัด ได้เชิญผู้สื่อข่าวหลายสำนักให้ไปดูกิจการต้นตำหรับ “กัลลิเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล” ถึงประเทศญี่ปุ่น

- รู้จักยักษ์ใหญ่“กัลลิเวอร์”

บริษัท กัลลิเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจรถมือสองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ก่อตั้งในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1994 โดย “เคนอินชิ ฮาโตริ” ซึ่งชื่อของ “กัลลิเวอร์” มาจากยักษ์ในนวนิยาย/นิทาน ชื่อดังของอังกฤษ

ทั้งนี้จากการสำรวจของกัลลิเวอร์พบว่าคนญี่ปุ่น 98% รู้จักและคุ้นเคยกับแบรนด์ของกัลลิเวอร์ ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจซื้อและขายรถมือสอง พร้อมสาขา 430 แห่งทั่วประเทศ

ในส่วนการจัดซื้อรถจะดำเนินการผ่านเครือข่ายที่กระจายทั่วประเทศญี่ปุ่น ในแต่ละปี กัลลิเวอร์จะซื้อรถมือสองมากถึงปีละ 200,000 คัน ส่วนการขายรถออกนั้นจะขายไปยังตลาดประมูลรถมากถึง 140,000 คัน ที่เหลือ 60,000 คันเป็นการขายผ่านโชว์รูม
ทีมงาน Call Center รับทุกเรื่อง ประสานทุกความต้องการ
โชว์รูมของกัลลิเวอร์ขนาดไม่ใหญ่ ส่วนรูปล่างซ้ายเจ้าหน้าที่กำลังเก็บข้อมูลต่างๆของรถผ่านไอแพด

PSA - Dolphinet ระบบบริหารจัดการสุดล้ำ

ด้วยความคับแค้นใจของท่านประธาน(ผู้ก่อตั้ง) “เคนอินชิ ฮาโตริ” ที่รถโตโยต้าของเขาโดนกดราคารับเข้าจากเต็นท์รถเหลือเพียง 5 แสนเยน ซึ่งน้อยกว่าราคาที่เขาประเมินว่าจะได้คือ 1 ล้านเยน
เหตุนี้ “เคนอินชิ ฮาโตริ” จึงต้องการสร้างธุรกิจรถยนต์มือสองให้เป็นระบบ ระเบียบ และยุติธรรม ให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ก็เลยตัดสินใจตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมา

กัลลิเวอร์ ภายใต้การนำของ“เคนอินชิ ฮาโตริ” สร้างระบบการซื้อ-ขายรถมือสองที่เรียกว่า PSA - Purchases and Sales Assessment System หมายความว่าเมื่อมีรถวิ่งเข้ามาเพื่อให้กัลลิเวอร์ประเมินราคา เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบรายละเอียดเช่นรุ่นของรถ อายุของรถ ระยะทางที่รถคันดังกล่าวถูกใช้งานไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถและรายละเอียดภายในตัวรถ เพื่อส่งข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบ PSA ซึ่งในระบบ PSA จะทำการประเมินราคาที่มีมาตรฐานและสามารถอ้างอิงได้กลับไปยังลูกค้า และหากลูกค้ายอมรับในราคา การซื้อและการขายก็จะจบลงด้วยระบบ PSA

นอกจากนี้กัลลิเวอร์ยังมีสต๊อกรถยนต์ออนไลน์ที่เรียกว่า Dolphinet (เริ่มปี 1998) ซึ่งมีรถให้เลือกมากกว่า 20,000 คัน สะดวกทั้งตัวลูกค้าที่จะมีรถยนต์ให้เลือกหลากหลายรุ่นตามความต้องการ(แต่ต้องมาเลือกที่โชว์รูมเท่านั้น และมีเจ้าหน้าที่รอให้คำปรึกษา) ขณะที่โชว์รูมหรือสาขาของกัลลิเวอร์เอง ก็ไม่ต้องแบกสต๊อกเยอะหรือจำเป็นต้องมีรถจอดหน้าร้านจำนวนมากๆ เพราะมีรถรอให้ขายอีกกกว่า 20,000 คันใน Dolphinet
รถในสต๊อก Dolphinet
เจ้าหน้าที่ Pricing Team
- Pricing Team ทีมงานอัจฉริยะ

Pricing Team ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของกัลลิเวอร์ และระบบ PSA มี 3 หน้าที่หลัก คือ 1. ซื้อรถเข้า 2. ดูว่าจะส่งรถไปประมูลที่ไหน 3. ขายออก  สำหรับหน้าที่ในการซื้อรถเข้า อันเป็นธุรกิจหลักของกัลลิเวอร์ประเทศญี่ปุ่น หลังจากพนักงานที่โชว์รูมตรวจสอบรถ และกรอกข้อมูลต่างๆ อาทิ ยี่ห้อ รุ่น สี ปี เลขไมล์ ออปชัน ตำหนิ ลงในไอแพด เพื่อส่งข้อมูลมายัง Pricing Team (เป็นทีมงานนั่งโต๊ะ ประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ใจกลางโตเกียว)

จากนั้น Pricing Team จะประเมินราคารับเข้าที่กัลลิเวอร์อยากได้ และส่งกลับไปยัง พนักงานที่โชว์รูม โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1-2 นาที เท่านั้น (ส่วนจะปิดการขายได้หรือไม่หรือจะต่อรองกันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง)

อย่างไรก็ตามสถิติในปีที่ 2013 Pricing Teamมีการประเมินราคารถยนต์ แล้วส่งกลับไปที่โชว์รูมรวมทั่วประเทศถึง 6.3 แสนรายการเลยทีเดียว

...นั่นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแห่งความสำเร็จ กับการบริหารจัดการ“คน ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์” ที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยระยะเวลา20 ปีจากประเทศญี่ปุ่น สำหรับเมืองไทยด้วยรูปแบบของตลาดและพฤติกรรมการใช้รถที่ต่างออกไป ระบบต่างๆและวิธีคิดคงต้องนำมาปรับใช้ให้สะเด็ดน้ำ แต่เชื่อว่าไม่นาน ยักษ์จากญี่ปุ่นตนนี้จะยืนหยัดได้อย่างน่าเกรงขาม
 
*************************************************************************************************************

*** WOW TOWN คอนเซปต์สโตร์

จุดแข็งของกัลลิเวอร์ในญี่ปุ่นอยู่ที่เครือข่าย ช่องทางการขายที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยแบ่งโชว์รูมเป็นหลายรูปแบบ ไล่ตั้งแต่รูปแบบมาตรฐาน และแบบที่ขายรถเล็ก“เค-คาร์”เป็นหลัก(เรียกว่า Minicle) แบบที่เน้นขายรถบ้านๆทั่วไป(เรียกว่า Snap House) ไปจนถึงรถหรู-ซูเปอร์คาร์(เรียกว่า Liberala) รวมถึงคอนเซปต์สโตร์รูปแบบใหม่ WOW TOWN

WOW TOWN เป็นโปรเจกต์สุดบรรเจิดของกัลลิเวอร์ในการเปิดประสบการณ์การซื้อ-ขายรถยนต์มือสองรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด Enjoy smart car life ปัจจุบันมีอยู่ 4 แห่งในประเทศญี่ปุ่น แต่ละแห่งมีรถจอดอยู่เต็มลานประมาณ 200-300 คัน พร้อมแบ่งรถเป็น5 ประเภทให้ลูกค้าได้เลือก คือ 1.Family (รถครอบครัว) 2.Active (รถอเนกประสงค์พร้อมลุยกิจกรรมต่างๆ) 3.Fashion (รถแบบแฟชั่นรูปลักษณ์โดดเด่น) 4.Eco&Eco (รถประหยัดพลังงานและราคาประหยัด) 5.Driving pleasure (รถสปอร์ตเร้าใจ)

นอกจากการออกแบบโชว์รูมที่โดดเด่นแล้ว วิธีการนำเสนอการขายรถยนต์มือสองต่อลูกค้ายังแปลกใหม่อีกด้วย แรกเริ่มเมื่อเข้าไปใน WOW TOWN ลูกค้าจะต้องเข้าไปดูพรีเซนเทชันประมาณ 5 นาที จากนั้นพนักงานจะให้ไอแพดแก่ลูกค้า เพื่อตอบแบบสอบถามถึงพฤติกรรรมการใช้รถ

เมื่อตอบคำถามทุกข้อเสร็จ (ใช้เวลา2-3นาที) ระบบจะประมวลผลออกมาว่ารถประเภทไหน (Family,Active ,Fashion ,Eco&Eco,Driving pleasure) ที่เหมาะกับตัวลูกค้า หรือเป็นรถที่ลูกค้ากำลังมองหา เพื่อจะได้เดินออกไปตามโซนรถยนต์ประเภทต่างๆที่แบ่งไว้

ขณะที่กำลังเพลินในลานโชว์รถ (ในโซนที่ไอแพดชี้นำ หรืออยากจะเดินไปโซนไหนก็ได้) ลูกค้าสามารถนำไอแพดไปแตะ QR โค้ดที่กระจกรถยนต์คันที่หมายตา อาจจะ 4-5 รุ่น หรือมากกว่านั้นก็สุดแล้วแต่ สุดท้ายเมื่อกลับมาภายในอาคาร พนักงานจะนำรายละเอียดลงคอมพิวเตอร์ ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลของรถยนต์มือสองที่ลูกค้าอยากได้ เตรียมนำเสนอไว้แล้ว

...ถ้าลูกค้าตั้งใจทำตามขั้นตอนได้ขนาดนี้ ส่วนมากเสียเงินแทบทั้งนั้น เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่าจะซื้อรถที่จอดอยู่ในลานเห็นๆ หรือจะเลือกซื้อรถในสต๊อก Dolphinet เท่านั้น
คัทซึชิ โนมูระ โชว์ไอแพดที่ลูกค้าต้องใช้ใน WOW TOWN
*** สนใจเป็นแฟรนไชส์?

ในเมืองไทย วี-กัลลิเวอร์ ตั้งเป้าหมายเปิดสาขาให้ครบ 10 แห่งภายในปีนี้ (ปัจจุบันมี ศรีนครินทร์ นครสวรรค์ และกำลังจะเปิดที่สมุทรปราการและเชียงใหม่ เร็วๆนี้) จากนั้นจะขยายให้ถึง 300 แห่งภายใน 3 ปี และประเมินว่าในอนาคตแต่ละสาขาต้องขายได้ถึง 50 คันต่อเดือน

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจเป็นแฟรนไชส์ของกัลลิเวอร์อยู่หลายสิบราย ทั้ง เต็นท์รถเดิม ผู้ประกอบการรถใหม่ บริษัทประมูล บริษัทรถเช่า โดยผู้ที่ผ่านการพิจารณาจะได้รับการฝึกอบรมแนวทางการดำเนินธุรกิจรถมือสอง รวมถึงการสนับสนุนระบบของกัลลิเวอร์อย่าง PSA กับ Dolphinet เป็นต้น ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 25 ล้านบาท แบ่งค่าก่อสร้างมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท(ไม่รวมที่ดิน) และที่เหลือจะเป็นในส่วนของสต๊อครถและค่าดำเนินการ หากขายได้ 25คันต่อเดือน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 2.5-3 ปี



กำลังโหลดความคิดเห็น