ระยะ 7-8 วันที่ผ่านมา ราคาทองคำกลับมาอยู่ในช่วง “ขาลง” โดยราคาทองในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,293.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศอยู่ระหว่าง 19,550-19,950 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ขณะที่ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 31.83-32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ราคาทองคำในตลาดโลกระยะนี้เริ่มปรับตัวลดลงตามสถานการณ์ในยูเครนที่ผ่อนคลายลง ประกอบกับราคาหุ้นในตลาดนิวยอร์ก ปรับตัวสูงขึ้น และมีหลายบริษัทจดทะเบียนที่แสดงผลประกอบการดี ดึงดูดให้นักลงทุนย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดทอง เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนประเภทกองทุนที่พร้อมที่จะโยกย้ายเงินเข้าไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด สาเหตุสำคัญอีกประการที่ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านรับทราบ คือ ปริมาณการบริโภคทองคำของจีนตลอดครึ่งปี 2557 ที่ผ่านมา ปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ทำให้คาดการณ์ว่า ระยะสั้น ราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,287-1,325.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 18,700-20,200 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท
ในช่วงนี้ปริมาณการบริโภคทองคำในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทองรูปพรรณ และทองคำแท่งปรับลดลงประมาณ 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากความสามารถในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง เห็นได้จากปริมาณหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประกอบกับการลงทุนในตลาดโกลด์ ฟิวเจอร์ส ก็ไม่สามารถดึงดูดให้นักลงทุนหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังได้ เพราะบริษัท ห้างร้านทอง ต่างดำเนินงานกันโดยไม่มีแบบแผน โดยเฉพาะ Gold Online ที่ซื้อขายทองคำด้วยราคาตลาดต่างประเทศในช่วงเวลากลางคืน และไม่มีการส่งมอบทองคำแก่กัน ทั้งนี้ หากมองดูรูปแบบการลงทุน นักลงทุนจะ “สั่งซื้อ” เมื่อราคาอ่อนตัวลง และ “สั่งขาย” เมื่อราคาปรับขึ้นในระดับที่พอใจ รูปแบบการเปิดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนก็ง่าย ร้านทองขนาดเล็กตามปริมณฑลโดยรอบพื้นที่กรุงเทพฯ มีการประกาศเชิญชวนให้นประชานเข้ามาลงทุนอย่างชัดแจ้ง จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบทั้งร้านทอง และใน www.noline ที่เปิดดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง ว่า เป็นการกระทำเข้าข่าย “การพนัน” หรือไม่ ซึ่งหากไม่ดำเนินการควบคุมอย่างเข็มข้นตั้งแต่เนิ่นๆ พอสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนรากหญ้า กว่าจะเข้ามาเยียวยาแก้ไขน่าจะไม่ทันการ
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่ภาวะ “สั่นสะเทือน” กันอีกครั้ง เมื่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ไตรมาส 2/14 ของเยอรมนี ติดลบถึง 0.2% ตามมาด้วย GDP ไตรมาส 2/14 ของฝรั่งเศส เติบโต 0% ติดต่อกัน 2 ไตรมาสแล้ว ปิดท้ายกันที่ GDP ของอิตาลี ติดลบ 0.3% เห็นได้ว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 1-3 ของยูโรโซนไม่มีการเติบโตเลย ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งยูโรโซนมีแนวโน้มถดถอย และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” เห็นได้จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องจน ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.4% ห่างไกลความคาดหวังที่ 2.0% เป็อย่างมาก ทั่วโลกกำลังจับตาว่า ธนาคารกลางยุโรป จะมีท่าทีอย่างไรต่อการกดดันให้ปรับดลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอย่างต่อเนื่อง จน ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.15% ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุด ประกอบกับโดยภาพรวมแล้วยูโรโซนยังไม่ฟื้นตัวจาก “วิกฤตหนี้” ทำให้ผู้บริโภคยังคงระวังการใช้จ่าย
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดปริมาณเงินอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (มาตรการ QE) ลงจนเหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ปัจจุบัน และจะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2557 นี้ ส่งผลให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโลกลดลง แม้จะมีหลายประเทศที่ยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการดำเนินการมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานาน ส่งผลให้นักลงทุนหันไปเก็งกำไรกันในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จนอาจจะเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกระลอกหนึ่ง
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กลายเป็นแหล่งลงทุนที่นักลงทุนจากทั่วโลกโยกย้ายเงินเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐิจภายในของแต่ละประเทศ และเท่าที่สังเกต การออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนในเอเชียเองก็ขยายตัวสูงมาก โดยสูงกว่าปี 2008 ถึง 5 เท่า สูงเกินกว่าการเจริญเติบโตของเศรฐษกิจที่แท้จริง ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2018 เอเชียจะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 31 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าที่เกินความต้องการของสินเชื่อทั้งโลก อีกทั้งภาวะหนี้ครัวเรือนที่ทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำใหเกิดความเสี่ยงต่อการผิดชำระหนี้จำนวนมหาศาลแฝงอยู่อย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเงินของกลุ่มประเทศเศรฐษกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียปรับตัวแข็งค่าขึ้นในอัตราสูงสุดในรอบ 4 เดือน เป็นผลมาจากที่มีเงินต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในระยะ 5 วันที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยน/ญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ค่าเงินวอน/เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 1.5% ค่าเงินริงกิต/มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 0.3% ค่าเงินหยวน/จีน เพิ่มขึ้น 0.08% ค่าเงินรูเปีย/อินโดนิเซีย เพิ่มขึ้น 0.7% ค่าเงินดอลลาร์/ไต้หวัน เพิ่มขึ้น 0.3% ค่าเงินเปโซ/ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 1% ค่าเงินรูปี/อินเดีย เพิ่มขึ้น 0.6% ค่าเงินด่อง/เวียดนาม เพิ่มขึ้น 0.1% สำหรับค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้น 0.7% มาอยู่ที่ 31.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสาเหตุสำคัญที่เม็ดเงินลงทุนยังคงหลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง คือ การที่นักลงทุนยังไม่มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และมีความคาดหวังว่า ธนาคารกลางในแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศด้วย
ปิดท้ายกันที่การเมือง ฉบับนี้ขอสรุปภาพความเสียหายของภาค “ธนาคาร” ภายใต้การบริหารงานแบบ “ประชานิยม” ของคณะรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จนทำให้ธนาคารรัฐบาล 2 แห่งแบกรับภาระ “หนี้เสีย” มูลค่ามหาศาลจนไม่สามารถดำเนินกิจการด้วยตนเองต่อได้ ต้องมีการ “ควบรวม” โดยให้ธนาคารออมสิน เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา มาดูธนาคารแรก ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Bank การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น คือ ยุบรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ธ.ออมสิน โดยนำทรัพย์สินมาควบรวม นำหนี้ที่มีหลักประกันมูลค่า 14,000 ล้านบาท มาบริหาร และขายหนี้เสียมูลค่า 20,000 ล้านบาท ออกไป ขณะที่ธนาคารอิสลาม หรือ “ไอแบงก์” จนถึง ณ เวลานี้ยังไม่สามารถรวมรวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดได้ จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้สถาบันการเงินต้องเข้ามาตรวจสอบ “เครดิตบูโร” บัญชีลูกค้าเพื่อเป็นฐานข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อทุกประเภทเป็นการป้องกันไม่ให้ “หนี้เสีย” เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
หันกลับมามองตัว ธ.ออมสินเอง ก็ไม่ได้มีการแสดงฐานะที่ชัดเจน เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถนำหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ตั้งแต่ครั้งถูกสั่งให้ทำหน้าที่ “ธนาคารประชาชน” ปล่อยกู้พ่อค้าแม่ค้าแผงลอยรายละ 2-3 หมื่นบาท เรี่อยมา จนถึงการปล่อยกู้ช่วงน้ำท่วมใหญ่ให้ประชาชนนำเงินไปซ่อมบ้าน ซึ่งไม่สามารถเรียกเก็บหนี้เป็นจำนวนมาก และ ธ.ออมสิน ก็ไม่สามารถชี้แจง NPL ทั้งหมดโดยละเอียดได้ รวมถึงไม่สามารถตัด NPL เป็น “หนี้สูญ” และธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบมูลหนี้ดังกล่าวโดยละเอียดได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ธ.ออมสิน เป็นธนาคารที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ดังนั้น ผู้ที่สามารถตรวจสอบได้คือ ก.คลัง จุดนี้ผู้เขียนมีความกังวล ด้วยเกรงว่าจะสร้างความตระหนกตกใจให้แก่บรรดาลูกค้าที่ฝากเงินไว้กับ ธ.ออมสิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน และผู้สูงอายุ
การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของผู้นำประเทศ ส่งผลเสียกระจายเข้าไปทุกภาคส่วน กระทั่งอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรถยนต์คันแรก ที่ปรากฏออกมาว่า ประชาชนไม่สามารถถือครองรถยนต์ได้ครบกำหนด 5 ปี ตามที่โครงการกำหนดไว้ ทำให้มีรถทะลักเข้ามาตลาดรถยนต์มือสองเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคนไทยทั้งประเทศเสียภาษี “สูญเปล่า” ถึง 80,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกรมสรรพสามิต สูญภาษีไปสูงกว่า 28,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง)
เมื่อพิจารณายอด “หนี้ครัวเรือน” ณ ปัจจุบัน ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่า ณ ขณะนี้ตัวเลข NPL จะยังคงทรงตัว โดย NPL ภาคธุรกิจอยู่ที่ 2.2% และ NPL ด้านการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 2.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2556 และสินเชื่อคงค้าง 1 เดือนไม่เกิน 3 เดือน มียอดคงค้างอยู่ที่ 2.982 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% ของสินเชื่อรวม หรือเพิ่มขึ้น 9,600 ล้านบาท ทำให้ไตรมาส 2/57 ธนาคารพาณิชย์ ต้องตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มอีก 8,600 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนสำรองหนี้เสียภาคธนาคาเรพิ่มขึ้นเป็น 169.2%