xs
xsm
sm
md
lg

‘โมบิลิโอ’เมดอินไทยแลนด์-เทียบหมัดคู่แข่งเอ็มพีวีเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดรถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก หรือมินิเอ็มพีวี แม้จะมียอดขายเพียงปีละกว่าหมื่นคัน แต่มีหลายรายทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า อแวนซ่า, ฮอนด้า ฟรีด, เชฟโรเลต สปิน, ซูซูกิ เออร์ติกา และนิสสัน ลิวิน่า หรือโปรตอน เอ็กโซร่า ที่มีราคาอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ล่าสุดมีการประเมินตลาดใหม่ น่าจะพุ่งเป็นปีละกว่า 2 หมื่นคัน จากการเปิดตัวของ “ฮอนด้า โมบิลิโอ” (Honda Mobilio) ทำให้เอ็มพีวีเล็กรุ่นใหม่นี้น่าสนใจ ว่ามีหมัดเด็ดอะไร? เมื่อเทียบกับคู่แข่ง จึงทำฮอนด้าถึงมั่นใจเช่นนี้
ฮอนด้า โมบิลิโอ

รถเอ็มพีวีเล็กเดิมฮอนด้ามีรุ่น “ฟรีด” (Freed) ทำตลาด แต่ด้วยการวางตำแหน่งสินค้าให้อยู่ตลาดบน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบรูปลักษณ์ หรือราคาที่มากกว่า 8 แสนบาท ทำให้ฮอนด้าไม่ถือว่าฟรีดเป็นคู่แข่งกับรถรุ่นอื่นๆ ในตลาด ยิ่งเมื่อมีการพัฒนารถรุ่นใหม่ “ฮอนด้า โมบิลิโอ” ที่ใช้พื้นฐานตัวถังของอีโคคาร์ “ฮอนด้า บริโอ้” แต่ขยายฐานล้อให้ยาวขึ้น พร้อมกับวางเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร และวางราคาไม่เกิน 8 แสนบาท นี่แหละจึงเป็นรถที่ลงมาเปิดศึกในตลาดเอ็มพีวีเล็กโดยตรง

อย่างที่ทราบกันรถเอ็มพีวีเล็กที่ทำตลาดในไทย ทั้งหมดนำเข้ามาจากโรงงานในอินโดนีเซีย ในฐานะที่เป็นฐานผลิตรถอเนกประสงค์ของภูมิภาคนี้ ยกเว้นโปรตอน เอ็กโซรา ที่เป็นแบรนด์รถแห่งชาติของมาเลเซีย แต่ฮอนด้า โมบิลิโอ นับเป็นเอ็มพีวีเล็กรุ่นแรกที่ผลิตในประเทศไทย แม้เบื้องต้นรถรุ่นนี้จะถูกพัฒนาและผลิต รวมถึงกำหนดให้วางตลาดในอินโดนีเซีย รวมถึงตลาดใหญ่อย่างอินเดียเป็นหลักก็ตาม นี่จึงเป็นอีกจุดขายของโมบิลิโอ ที่จะดึงลูกค้าที่เชื่อมั่นในรถยนต์เมดอินไทยแลนด์ได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่าการเป็นรถอเนกประสงค์เพื่อครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นโมบิลิโอหรือคู่แข่งในรุ่นอื่นๆ รถประเภทนี้ทุกรุ่นจึงออกแบบให้สามารถปรับพับเบาะได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อรองรับการใช้งานอเนกประสงค์ โดยจำนวนเบาะนั่งเป็นแบบ 3 แถว หรือ 7 ที่นั่ง จะมีเพียง “นิสสัน ลิวิน่า” ที่ตัดสินใจทำตลาดกับเบาะ 2 แถว 5 ที่นั่ง ทั้งที่ในอินโดนีเซียมีรุ่น 7 ที่นั่งก็ตาม นั่นอาจเป็นเพราะการพยายามฉีกตลาด วางให้เป็นรถอเนกประสงค์แบบกึ่งเอสยูวี ตามที่ผู้บริหารต้องการก็ได้

ในส่วนของมิติตัวถัง แม้ฮอนด้า โมบิลิโอ จะมีพื้นโครงสร้างมาจากอีโคคาร์รุ่นบริโอ้ แต่ได้มีการขยายฐานล้อยาวเป็น 2,652 มม. (บริโอ้ = 2,345) ทำให้ความยาวของรถทั้งหมดเป็น 4,386 และ 4,398 มม.แล้วแต่รุ่น รวมถึงมิติตัวถังอื่นๆ ก็ขยายตามไปด้วย และหากเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน นับว่ามีความยาวกว่าทุกรุ่นอีก ยกเว้นเจ้ายักษ์โปรตอน เอ็กโซราเท่านั้น เพราะรุ่นนี้มีระดับใกล้เคียงกับ “โตโยต้า อินโนวา” เลยทีเดียว (ดูตารางเปรียบเทียบประกอบ)


ขณะที่ฐานล้อของโมบิลิโอเหนือกว่ารุ่นลิวิน่า และสปิน อาจจะสั้นกว่ารุ่นเออร์ติกาและอแวนซานิดหน่อย รวมถึงความกว้างและสูงที่มีมิติเล็กกว่าคู่แข่ง โดยรวมๆ นับว่าโมบิลิโอมีห้องโดยสารที่ไม่ด้อยกว่าคู่แข่งเลย แต่กลับทำน้ำหนักรถได้ดีทีเดียว 1,173-1,223 กก. (แล้วแต่รุ่น) ขณะที่อแวนซ่าหนัก 1,150-1,175 กก., รุ่นลิวิน่า 1,130-1,175 กก., รุ่นเออร์ติกา 1,255-1,265 กก., รุ่นสปิน 1,277 กก. และหนักสุดต้องเป็นเอ็กโซรา 1,400-1,433 กก. (เอ็กโซร่า เทอร์โบ ไม่นำมาเปรียบเทียบ เพราะราคามากกว่า 8 แสนบาท)

อุปกรณ์ความบันเทิงของโมบิลิโอในรุ่นท็อป นับว่าโดดเด่นกับระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว และยังมีสวิตช์ควบคุมบนพวงมาลัย ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย (Bluetooth) และรองรับการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน เช่นเดียวกับโตโยต้า อแวนซ่า ทัวริ่ง ที่เพิ่งเข้ามาเสริมทัพ (ไม่รองรับ Bluetooth) และมีนิสสัน ลิวิน่า รุ่นท็อป ที่ติดตั้งเครื่องเล่น DVD และจอ Touch Screen 6.1 นิ้ว รวมถึงระบบเชื่อมต่อต่างๆ ขณะที่รุ่นอื่นๆ จะมีเพียงเครื่องเล่น CD ทั่วไป แต่มีช่องเชื่อมต่อ USB และ AUX ไว้ต่อพ่วงอุปกรณ์รองรับความบันเทิงต่างๆ ได้ รวมถึงรุ่นรองท็อปลงมาของโมบิลิโอด้วย

ฮอนด้า โมบิลิโอ วางเครื่องยนต์บล็อกเดียวกันกับรุ่นแจ๊ซและซิตี้ รวมถึงเกียร์ CVT ใหม่ เทคโนโลยี Earth Dreams แต่เนื่องจากตัวถังที่ใหญ่และน้ำหนักมากขึ้น จึงปรับขุมพลังเพิ่มเป็น 120 แรงม้า (แจ๊ซ-ซิตี้ 117 แรงม้า) ซึ่งนับว่ามีม้าในคอกมากกว่าคู่แข่ง ที่วางเครื่องยนต์เบนซินขนาดเดียวกัน 1,500 ซีซี และยังมีมากกว่านิสสัน ลิวิน่า ที่วางเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี 114 แรงม้า เพียงแต่โมบิลิโออาจจะแบกน้ำหนักมากกว่านิดหน่อย

ขณะที่เจ้ายักษ์ เอ็กโซรา ที่วางเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี รีดกำลังได้มากถึง 125 แรงม้า แต่คงต้องรับภาระน้ำหนักเกือบๆ 1,500 กก. ส่วนกำลังต่ำสุดในกลุ่มเห็นจะเป็น ซูซูกิ เออร์ติกา ด้วยขนาดเครื่องยนต์ที่เล็กกว่ารุ่นอื่นๆ จึงเป็นธรรมดาที่ย่อมต้องมีม้าในคอกน้อยกว่า
โปรตอน เอ็กโซร่า-โตโยต้า อแวนซ่า
(บน)นิสสัน ลิวิน่า (ล่างซ้าย)เชฟโรเลต สปิน (ล่างขวา) ซูซูกิ เออร์ติกา
สำหรับระบบความปลอดภัยหลักๆ ในรุ่นกลางจนถึงท็อปของแต่ละโมเดลจะมาครบ อย่างระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ระบบป้องกันล้อล็อก ABS ขณะที่ระบบกระจายแรงเบรก หรือ EBD มากันครบทุกยี่ห้อ จะมีก็เพียงเชฟโรเลต สปิน ที่ให้มาเพียง ABS และนิสสัน ลิวิน่า ยังได้เพิ่มระบบเสริมแรงเบรก BA ให้ด้วย ขณะที่รุ่นท็อปของโมบิลิโอติดตั้งกล้องส่องภาพด้านหลังมาแบบหรูๆ เพิ่มเช่นกัน โดยเบรกของทุกโมเดลด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก และหลังดรัมเบรก

โมบิลิโอเปิดตัวทำตลาด 4 รุ่นย่อย แยกเป็นรุ่น S เกียร์ธรรมดาราคา 5.97 แสนบาท รุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT 6.42 แสนบาท และยังมีรุ่น V เกียร์ CVT ราคา 6.82 แสนบาท และรุ่น RS เกียร์ CVT ราคา 7.39 แสนบาท นับว่าเป็นราคาที่ชนกับคู่แข่งส่วนใหญ่ และหากดูรุ่นท็อปด้วยกันถือว่าโมบิลิโอน่าสนใจมากทีเดียว

สรุป... ด้วยชื่อชั้นแบรนด์ “ฮอนด้า” แถมยังมีจุดขายเป็นรถประกอบจากโรงงานในไทย ซึ่งหลายคนค่อนข้างเชื่อมั่นมากกว่า และที่สำคัญสมรรถนะของเครื่องยนต์ รวมถึงอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ ที่ให้มา นับว่ามีความโดดเด่นทีเดียว จึงไม่แปลกที่ฮอนด้าจะตั้งเป้ายอดขาย 10,000 คัน ภายในเวลา 1 ปี หรือมากกว่าตลาดรวมเอ็มพีวีเล็กที่ผ่านมาทั้งปีเสียอีก

กำลังโหลดความคิดเห็น