พูดไปใครจะเชื่อว่าจากเด็กเนิร์ดที่ติดเกมจะกลายเป็นนักแข่งรถมืออาชีพได้ นี่ไม่ใช่ความฝัน แต่คือเรื่องจริงและเกิดขึ้นแล้ว ภายใต้โครงการ “นิสสัน จีที อคาเดมี” กิจกรรมเฟ้นหาสุดยอดนักซิ่งจากโลกออนไลน์สู่นักขับระดับโลกกับทีมนิสโม พร้อมโอกาสเข้าเรซแคมป์เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บและปลูกฝังสัญชาติญาณนักแข่งนานกว่า 4 เดือน ก่อนประเดิมลงแข่งเวทีแรกรายการ ดูไบ 24 ชั่วโมง ในเดือนมกราคมปีหน้า
ปฏิบัติการล่าฝันปั้นนักแข่ง
“ผู้คนพากันคิดว่านิสสันบ้าที่นำเอาคนเล่นเกมบนเครื่องเพลย์สเตชันมาฝึกเป็นนักแข่งรถอาชีพ แต่เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าคนเหล่านี้มีศักภาพ เฉพาะแค่ปีที่แล้วนักแข่งที่ชนะเลิศในกิจกรรมนี้สามารถขึ้นไปยืนบนโพเดียมได้ถึง 41 ครั้งจากการแข่งขันทั่วโลก” เป็นคำกล่าวของ ดาร์เรน ค็อกซ์ ผู้อำนวยการ นิสสัน โกลบอล มอเตอร์สปอร์ต บริษัท นิสสัน มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ครั้งเดินทางมาเปิดตัวโครงการจีที อคาเดมี (GT Academy) ในประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
อธิบายให้เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็คือ การคัดเลือกผู้ที่ทำผลงานได้ดีจากการเล่นเกมแข่งรถแกรนทัวริสโม 6 (Gran Turismo 6) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “จีที6” บนเครื่องเกมเพลย์สเตชัน 3 (PlayStation 3) มาฝึกฝนต่อยอดพัฒนาให้เป็นนักแข่งรถมืออาชีพกับทีมนิสโม (Nismo)
อาจฟังดูเหลือเชื่อแต่ประสบความสำเร็จผ่านการจัดแข่งขันมาแล้วหลายประเทศ เริ่มจากในยุโรป รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้ โดยผลผลิตจากโครงการดังกล่าว แสดงฝีมือให้ประจักษ์แก่สายตาแฟนกีฬามอเตอร์สปอร์ตในรายการใหญ่ต่างๆ อาทิ Le Mans 24 Hours, Dubai 24 Hours และ Blancpain Championship
5 หนุ่มไทยพร้อมชิงชัยในอังกฤษ
ครั้งนี้นับเป็นปีที่ 6 ของการเฟ้นหานักแข่ง ซึ่งขยายมาสู่ดินแดนสยามเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายต้องการคัดเลือกผู้ชนะเพื่อเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ไปเข้าเรซแคมป์(Race Camp) ชิงชัยกันต่อกับตัวแทนจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย เม็กซิโก และตะวันออกกลาง ที่สนามซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ
ด้านผลการแข่งขันหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมรอบคัดเลือกทั้งการเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ และการเดินสายจัดแข่งผ่านเครื่องซิมูเลเตอร์หรือการจำลองสภาพการขับขี่เสมือนจริง ก่อนมาถึงรอบตัดสินที่เหล่านักซิ่งในเกมจะได้สัมผัสการขับรถยนต์คันจริงที่สนามพัทยาเซอร์กิต รวมแล้วใช้ระยะเวลาในการแข่งขันนานเกือบ 4 เดือน ตั้งแต่เปิดโครงการถึงเดือนมิถุนายน
ท้ายที่สุดได้ผู้ชนะ 5 คน หอบหิ้วความฝันทำหน้าที่เป็นตัวแทนจากประเทศไทย นำโดย นุ๊ป-เกรียงไกร โชติมา, อีฟ-จักรพันธ์ ด๊ะวี, อั้ม-ชลธวัช มีภาษณี, เบ๊บ-ฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ และ เอ็ม-ศักเกษม เจริญ
ทั้งนี้ เหตุผลที่นิสสันเลือกใช้สนามซิลเวอร์สโตนเป็นสังเวียนชิงแชมป์ แน่นอนว่านอกจากชื่อเสียงของการเป็นศูนย์กลางแห่งวงการแข่งรถของเมืองผู้ดี รวมถึงใช้เป็นสนามแข่งขันรถสูตร 1 หรือฟอร์มูล่าวันด้วยแล้ว เหนืออื่นใดสนามแห่งนี้คล้ายบ้านหลังที่สองของนักแข่งหน้าใหม่สังกัดทีมนิสโม ที่เคยผ่านการค้นพบศักยภาพของตัวเอง และสามารถคว้าโอกาสพลิกชีวิตสู่การเป็นนักแข่งรถมืออาชีพจากโครงการนี้มาแล้วอย่าง “ลูคัส ออร์โดเนซ” (Lucas Ordoñez) และ “ยานน์ มาร์เด็นโบโรห์” (Jann Mardenborough)
เรซแคมป์ค่ายลับนักแข่ง
หลังจากได้ผู้เข้าแข่งขันครบทั้ง 5 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 27 คน (บางประเทศมีตัวแทน 6 คน) ค่ายลับคมเขี้ยวเล็บและปลูกฝังสัญชาติญาณนักแข่งจึงเริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่วันที่ 9-14 สิงหาคม ภายใต้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ “จีที อคาเดมี อินเตอร์เนชันแนล เรซแคมป์ ปี 2014” (GT Academy International Race Camp 2014)
โดยตลอดระยะเวลาการแข่งขัน ทุกคนจะพักอาศัยอยู่ในห้องนอนติดขอบสนามเรียกว่า “สนูซบ็อกซ์” (Snooze Box) และต้องพร้อมเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางจนมืดค่ำท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น ทั้งการทดสอบสมรรถนะทางร่างกาย อาทิ ลุยฝ่าด่านบ่อโคลน คลานลอดลวดไฟฟ้า วิ่งตะลุยไฟ ว่ายน้ำในบ่อน้ำแข็ง
แม้สรีระของนักแข่งไทยดูจะเป็นรองคู่แข่ง แต่หากวัดกันที่ความมุ่งมั่นบวกกับความสามัคคีซึ่งมีไม่น้อยกว่าทีมใด และชัดเจนถึงขนาดทางคณะกรรมการต้องเอ่ยคำชม ทำให้ผลการแข่งขันที่ออกมาจึงดีเกินคาด สามารถเข้าวินมาเป็นอันดับที่สอง ทำเวลาช้ากว่าทีมออสเตรเลียเพียงนิดเดียวเท่านั้น
ขณะที่อีกหนึ่งความสำคัญหรืออาจต้องยกให้เป็นหัวใจหลักของคุณสมบัตินักแข่งที่ดีก็คือ ทักษะด้านการควบคุมรถประเภทต่างๆ ที่มาพร้อมอุปสรรคและสถานการณ์อันหลากหลาย เริ่มจากรถแคเตอร์แฮม (Caterham) รถซิงเกิ้ลซีท (Single Seaters) หรือรถล้อเปิด รถบักกี้ (Buggy) รวมถึงรถยนต์ที่กำลังได้รับความสนใจในบ้านเราเวอร์ชันแต่งซิ่งอย่างนิสสัน จู๊ค นิสโม (Nissan Juke NISMO) กระทั่งได้สัมผัสความแรงของซูเปอร์คาร์ตัวเด่นประจำค่ายอย่าง GT-R และ 370Z บนสนามแข่งขันจริง
อย่างไรก็ตาม ด้านเกณฑ์การคัดตัวนักแข่งของคณะกรรมการ ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายเหลือทีมละ 1 คน บางสถานีวัดผลผ่านคะแนนหรืออันดับที่ทำได้ ขณะที่บางด่านทดสอบไม่ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดมากนัก แต่สำหรับผลที่แจ้งประกาศออกมา สมาชิกในแต่ละทีมล้วนเข้าใจและยอมรับกับคำตัดสิน
บทสรุปแชมป์นักซิ่งหน้าใหม่
สำหรับการชิงชัยในรอบสุดท้าย (Final Race) จะเป็นการขับรถแข่งขันกันในสนามเนชั่นแนล เซอร์กิต (National Circuit) ซึ่งมีตำแหน่งแชมป์นักซิ่งหน้าใหม่เป็นเดิมพัน โดยตัวแทนจากไทยที่ได้ลุ้นคือ เบ๊บ-ฐนโรจน์ หนุ่มน้อยวัย 18 ปี สามารถคว้าตำแหน่งโพลโพสิชัน ยึดกริดสตาร์ทได้ในอันดับแรก กุมความได้เปรียบเหนือกว่านักแข่งอีก 4 ประเทศ ทว่าช่วงออกตัวทำพลาดปล่อยให้คู่แข่งแซงขึ้นหน้าไปจนตัวเองตกมาอยู่อับดับที่ 4 ขณะที่รถใช้แข่งเป็นรุ่น 370Z เหมือนกันทุกคัน และวิ่งเพียง 8 รอบสนามเท่านั้น ดังนั้น การจะเร่งไต่อันดับกลับคืนมาจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก
โดยผลการแข่งขันปรากฏว่า ริคาร์โด ซานเชส (Ricardo Sanchez) วัย 24 ปี จากเมืองโทลูคา ประเทศเม็กซิโก สามารถคว้าแชมป์สุดยอดนักซิ่งไปครองได้สำเร็จ
ท้ายที่สุดแม้การขับเคี่ยวชิงตำแหน่งแชมป์โลก “นิสสัน จีที อคาเดมี อินเตอร์เนชันแนล” ประจำปี 2014 ที่สนามซิลเวอร์สโตนจะจบลงไปแล้ว แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงปฐมบทหรือจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะปฏิบัติการปั้นเด็กเนิร์ดสู่เส้นทางนักขับอาชีพ ผู้ชนะจะต้องติวเข้มเข้าคอร์สกับทีมพัฒนานักแข่งของนิสสันที่เข้มข้นขึ้นอีกเป็นระยะเวลานานกว่า 4 เดือน เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเองอีกครั้ง ก่อนจะมีโอกาสได้โชว์ฝีมือประเดิมลงแข่งสนามแรกในรายการ ดูไบ 24 ชั่วโมง ช่วงเดือนมกราคม 2558
ส่วนจะแจ้งเกิดคว้าโอกาสพลิกชีวิตได้หรือไม่นั้น ผลงานในสนามคือคำตอบ...
หมายเหตุ-สำหรับแฟนกีฬามอเตอร์สปอร์ตที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศของบททดสอบต่างๆ ภายในเรซแคมป์ สามารถติดตามสารคดีชีวิตของ 5 ตัวแทนจากประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการแบบเรียลลิตี้โชว์ เสมือนได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมล่าฝันของเหล่านักแข่งที่ช่อง True Sport HD1/True Asian HD/True Sport3 และ True4u โดยจะเริ่มออกอากาศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ ASTVผู้จัดการ Motoring