xs
xsm
sm
md
lg

บทสรุปเส้นทางสู่ฝันนักขับอาชีพ "นิสสัน จีที อคาเดมี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

5 ตัวแทนจากประเทศไทย (ขาดไปคนเพราะยื่นวีซ่าไม่ผ่าน)
จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับรายการ "นิสสัน จีที อคาเดมี อินเตอร์เนชั่นแนล" กับโอกาสครั้งแรกที่เกมเมอร์ชาวไทยจะได้ไต่เต้าสู่ฝันอันสูงสุดในการเป็นนักขับอาชีพบนสนามจริง ในวันนี้เราจึงประมวลเก็บเอาภาพบรรยากาศความประทับใจ หยาดเหงื่อ และคราบน้ำตามาให้ชมกันแบบเต็มอิ่ม

"Nissan GT Academy International 2014" นั้นเป็นรายการแข่งขันที่นิสสัน มอเตอร์ จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาเซียนเกม "Gran Turismo 6" หรือ GT6 เพียงหนึ่งเดียวจาก 5 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย เม็กซิโก ตะวันออกกลาง และไทย ที่จะมาครองแชมป์และก้าวสู่การเป็นนักแข่งรถมืออาชีพระดับโลกกับทีมนิสโม (NISMO) กับโปรแกรมพัฒนานักแข่งมืออาชีพ (Driver Development Program) มุ่งประชันฝีมือเวทีแรก ณ รายการ ดูไบ 24 ชั่วโมง เดือนมกราคม 2558

สำหรับรอบคัดเลือกในบ้านเราเริ่มต้นที่การคัดเลือกผู้เล่นเกม GT6 บนเครื่องเพลย์สเตชัน 3 ชาวไทยที่ทำเวลาดีที่สุด 28 คน ผ่าน 2 ช่องทางช่องทางละ 14 คน ทั้งบนเวทีแข่งขันพิเศษที่ใช้เครื่องจำลองขับแข่งเสมือนจริง "นิสสัน GT6 ซิมูเลเตอร์" กับการแข่งออนไลน์ผ่านเครือข่ายเพลย์สเตชันเน็ตเวิร์ค โดยผู้ที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 28 คนต้องมาแข่งขันกันอีกรอบ ณ สนามพีระ อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต พัทยา เพื่อหาตัวแทนประเทศไทยเพียง 6 คนไปเข้าสู่รอบสุดท้ายที่ เพื่อวัดฝีมือกับตัวแทนจากประเทศอื่นๆกับกิจกรรม "อินเตอร์เนชันแนล เรซ แคมป์"(International Race Camp) ณ สนามซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ
ภาพและประวัติคร่าวๆของตัวแทนไทยทั้ง 5 คน
เกี่ยวกับสนามซิลเวอร์สโตน เซอร์กิต (Silverstone Circuit) สนามแข่งรถซิลเวอร์สโตน มีชื่อเสียงมายาวนานและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะศูนย์กลางแห่งวงการแข่งรถของอังกฤษ “Home of the British Motor Racing” แต่เดิม พื้นที่บริเวณสนามเคยเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศอังกฤษในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ฐานทัพอากาศที่ไม่ได้ใช้งานจึงได้รับการพัฒนาทีละเล็กละน้อยสู่การเป็นสนามแข่งรถที่มีมาตรฐานระดับโลก โดยยังคงเก็บรันเวย์ 3 เส้น ที่เคยใช้เป็นจุดขึ้น-ลงของเครื่องบินรบไว้เป็นโครงสร้างของสนามมาจนถึงปัจจุบัน

ซิลเวอร์สโตน เซอร์กิต เป็นสนามที่ใช้ในการแข่งขันบริติชกรังด์ปรีซ์เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2491 และเมื่อการแข่งขันรถสูตร 1 เปิดตัวขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2493 สนามซิลเวอร์สโตนก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันในรายการ “1950 ฟอร์มูล่าวัน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ” (1950 Formula One World Championship)

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา สนามซิลเวอร์สโตน ก็นับเป็นบ้านหลังใหญ่ที่บ่มเพาะความฝันของนักแข่งรถมืออาชีพทีม NISMO หลายคน ที่ค้นพบศักยภาพของตัวเองจากการแข่งขันโครงการ นิสสัน จีที อคาเดมี (Nissan GT Academy) และคว้าโอกาสพลิกชีวิตสู่การเป็นขักแข่งรถมืออาชีพบนเวทีโลก อาทิ “ลูคัส ออร์โดเนซ” (Lucas Ordonez) “ยานน์ มาร์เด็นโบโรห์” (Jann Mardenborough) “มิเกล เฟียสกา” (Miguel Faisca) และล่าสุด แชมป์ จีที อคาเดมี อินเตอร์เนชั่นแนล 2014 “ริคาร์โด ซานเชส” (Ricardo Sanchez) ชาวเม็กซิกัน

สำหรับการแข่งขัน จีที อคาเดมี อินเตอร์เนชั่นแนล 2014 (GT Academy International Race Camp 2014) ณ สนามซิลเวอร์สโตน เซอร์กิต ระหว่างวันที่ 9 - 14 สิงหาคม 2557 มีผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 27 คน จาก 5 ประเทศ แบ่งออกเป็นทีมสีต่างๆ ดังนี้

วันเตรียมตัว (8 สิงหาคม 2557)
ผู้เข้าแข่งขันจากแต่ละประเทศเดินทางมาถึงสนามซิลเวอร์สโตนเพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพ สอบสัมภาษณ์ และเช็คสมรรถนะความแข็งแกร่งของร่างกายก่อนเริ่มเข้าสู่โปรแกรมการแข่งขันอันทรหดเป็นเวลา 6 วัน โดยตลอดระยะเวลาการแข่งขัน ทุกคนจะพักอาศัยอยู่ใน “สนูซบ็อกซ์” (Snooze Box) ห้องนอนขนาดกะทัดรัดที่ดัดแปลงมาจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้สำหรับขนย้ายสินค้า ซึ่งตั้งอยู่ติดขอบสนามและใกล้กับแกรนด์สแตนด์จึงสามารถติดตามการแข่งขันได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีห้องนั่งเล่นซึ่งเกิดจากการตกแต่งโรงเก็บรถในบริเวณสนามสโตว์ (Stowe Circuit) ให้เป็นพื้นที่พักผ่อนส่วนกลางสำหรับผู้แข่งขันจากทุกประเทศ และติดตั้งเครื่อง GT6 ซิมูเลเตอร์ ไว้เพื่อฝึกซ้อมฝีมือ พร้อมรถแข่งนิสสัน GT-R GT3 เพื่อเป็นเป้าหมายและแรงบันดาลใจในการแข่งขัน
ขอสักแชะตามธรรมเนียมไทย
เครื่องวัดความไวในการตอบสนอง
เช็คความฟิตร่างกาย
ตรวจสุขภาพ
ท่าทางเครียดจัด

Day 1 วันแรกของการแข่งขัน (9 สิงหาคม 2557) - ผู้เข้าแข่งขัน 27 คน
การแข่งขันวันแรกเริ่มต้นขึ้นอย่างดุเดือดตั้งแต่เช้ามืดท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น ด้วยการฝ่าด่านลุยโคลนสุดโหด “มัด เมย์เฮม” (Mud Mayhem) ซึ่งวัดสมรรถนะร่างกายและความสามัคคีของแต่ละทีม โดยผู้เข้าแข่งขันทุกทีมจะต้องพิชิตเส้นทาง 2 กิโลเมตร ที่ประกอบไปด้วยอุปสรรคนานัปการ อาทิ ลุยบ่อโคลน ปีนข้ามกำแพง ลัดเลาะลวดไฟฟ้า เดินบนท่อนซุง คลานลอดลวดหนาม วิ่งตะลุยไฟ ปีนตาข่าย ว่ายน้ำในบ่อน้ำแข็ง และไต่ข้ามกำแพงที่ทาน้ำมัน ฯลฯ

กติกาการแข่งขันฝ่าด่านลุยโคลนสุดโหด “มัด เมย์เฮม” คือ สมาชิกทุกคนในทีมจะต้องพิชิตทุกด่านเข้าสู่เส้นชัยมาได้ครบทั้งทีมโดยใช้เวลาน้อยที่สุด ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมออสเตรเลีย ได้ที่ 1 ด้วยความพร้อมทางสมรรถนะร่างกายของผู้แข่งขันทุกคน ผู้คว้าชัยเป็นทีมที่ 2 คือ ทีมไทย ซึ่งแม้ผู้แข่งขันทีมไทยจะมีร่างกายขนาดเล็กกว่าชาติอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่ก็มีความสามัคคีและมีกลยุทธ์การพิชิตด่านต่างๆ ที่ไม่เป็นรองใคร ขณะที่ทีมอินเดียเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสุดท้าย จึงถูกทำโทษโดยการซักเสื้อผ้าของผู้เข้าแข่งขันทุกทีม รวม 27 ชุด

กิจกรรมที่ 2 คือการเรียนรู้เทคนิคการขับขี่โดยใช้รถแคเตอร์แฮม (Caterham) ซึ่งไม่ได้เน้นความเร็ว แต่เน้นทักษะการควบคุมรถยนต์บนพื้นผิวถนนเปียก โดยกรรรมการประจำทีมจะทำหน้าที่เป็นโค้ชที่คอยแนะนำเทคนิคการขับขี่ให้กับผู้เข้าแข่งขันในทีมของตน จากนั้น ทุกคนจึงได้ทดลองขับรถยนต์สุดเท่ Nissan GT-R บนสนามจริง โดยมีกรรมการแต่ละท่านเป็นผู้ชี้วัดความสามารถในการเรียนรู้ของสมาชิกในทีม

มร. ร็อบ บาร์ฟ (Rob Barff) หัวหน้าคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน กล่าวว่า: การแข่งขันครั้งนี้มีความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรมและคุณลักษณะของผู้เข้าแข่งขัน ด่านแรก “มัด เมย์เฮม” วัดความแข็งแกร่งของร่างกายและทีมสปิริต และทำให้เราได้เห็นว่าสมาชิกทีมออสเตรเลียนั้นมีร่างกายที่แข็งแรงมากทุกคน ขณะที่ทีมอินเดียยังต้องปรับปรุงจุดอ่อนบางอย่าง และการที่ทุกคนได้นั่งอยู่หลังพวงมาลัย Nissan GT-R เพื่อทดลองขับรถแข่งเป็นครั้งแรกในวันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ แต่เรายังต้องติดตามการแข่งขันในวันต่อๆ ไป เพราะวันนี้เร็วเกินกว่าที่จะฟันธงอะไรได้

คุณต่อ เกรฟส์ (Tor Graves) กรรมการและโค้ชประจำทีมไทย กล่าวว่า: ในช่วงแรกทีมไทยดูเหมือนจะไปได้ช้ากว่าทีมอื่นๆ แต่สมาชิกในทีมก็ช่วยเหลือกันดีมาก ทำให้ทีมไทยสามารถเข้าเส้นชัยได้เป็นที่ 2 ซึ่งดีกว่าที่ผมคาดการณ์ไว้ สะท้อนให้เห็นว่า ทีมไทยมีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีและวางแผนร่วมกันครับ
นึกว่าเขาชนไก่

สามัคคึคือพลัง


Day 2 วันที่สองของการแข่งขัน (10 สิงหาคม 2557) - ผู้เข้าแข่งขัน 27 คน
ในวันที่ 2 ของการแข่งขัน เนื่องจากฝนตกหนักตั้งแต่เช้า จึงต้องปรับกิจกรรมการแข่งขันให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ มองอีกแง่หนึ่งก็ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้เข้าแข่งขันที่จะได้เรียนรู้ขั้นตอนสำคัญของการเป็นนักแข่งรถมืออาชีพผ่านสื่อวิดีโอของสมาคมโรงเรียนสอนขับรถแข่ง (Association of Racing Drivers Schools: ARDS) และสอบข้อเขียน ซึ่งผู้สอบใบอนุญาตขับแข่ง (Competition License) ทุกคนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้

ทีเด็ดของวันนี้มี 3 กิจกรรม ได้แก่ การขับแข่งและเร่งแซงให้ได้อย่างปลอดภัย “ทราฟฟิก ชาเลนจ์” (Traffic Challenge) ในสนามสโตว์ (Stowe Circuit) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการขับรถแข่งระดับมืออาชีพ ตามด้วยการโชว์ดริฟต์ขั้นเทพ โดยดริฟต์มาสเตอร์ “ดาโด้” มร. อับโด เฟกาลิ (Abdo Feghali) ซึ่งเป็นกรรมการและโค้ชประจำทีมตะวันออกกลาง และกิจกรรม “เลเซอร์ ชาเลนจ์” (Laser Challenge) ซึ่งผู้แข่งขันทุกคนจะต้องถือพวงมาลัยให้อยู่ในระดับที่กำหนดให้ได้นานที่สุด เป็นการวัดทั้งความแข็งแกร่งของร่างกาย สมาธิ และความอดทน ซึ่งล้วนเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของนักกีฬามอเตอร์สปอร์ต ซึ่งทีมออสเตรเลียและอินเดียแข่งขันกันดุเดือดมาก ขณะที่ทีมไทยชิงแพ้ “เลเซอร์ ชาเลนจ์” ก่อนใคร จึงถูกทำโทษโดยนอนในเต็นท์กลางสนามท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ

เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน แต่ละทีมจะต้องคัดผู้แข่งขันออกให้เหลือเพียงทีมละ 4 คน ผู้แข่งขันที่คัดออกในวันที่ 2 ได้แก่
ทีมออสเตรเลีย: ลูคา จิอาโคมิน (Luca Giacomin) และ ปีเตอร์ รี้ด (Peter Read)
ทีมอินเดีย: อบินาฟ บัทธ์ (Abhinav Bhatt)
ทีมเม็กซิโก: ริคกี้ รินคอน (Ricky Rincon) และ ฟรานซิสโก เฟอร์นันเดซ (Francisco Fernandez)
ทีมตะวันออกกลาง: โมฮัมเมด จามาล (Mohammed Jamal) จากบาห์เรน
ทีมไทย: เกรียงไกร โชติมา

ติวเข้มก่อนขับ




Day 3 วันที่สามของการแข่งขัน (11 สิงหาคม 2557) - ผู้เข้าแข่งขัน 20 คน
สุดยอดไฮไลท์ของการแข่งขันวันที่ 3 คือ กิจกรรมจิมคาน่า (Gymkhana) เพื่อคัดผู้แข่งขันออกทีมละ 1 คน โดยให้ขับรถฝ่าอุปสรรคต่างๆ ทั้งสิ่งกีดขวางและพื้นผิวถนนที่ลื่นและอันตรายกว่าปกติ อาทิ พื้นถนนเต็มไปด้วยน้ำแข็ง ดริฟต์รถเป็นวงกลมเพื่อเจาะลูกโป่งที่ใส่น้ำไว้ให้แตก และขับรถผ่านช่องกำแพงที่เจาะเป็นรูปรถไว้โดยไม่ชนกำแพง ทั้งหมดนี้เป็นการวัดสมาธิอันแน่วแน่ของนักขับเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์กะทันหันต่างๆ เนื่องจากในการแข่งขันจริงนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ และนักแข่งจะต้องมีสมาธิอันแน่วแน่ คุมสติให้มั่น และทำการแข่งขันต่อให้จบ

เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันจิมคาน่า แต่ละทีมได้คัดผู้แข่งขันออกทีมละ 1 คน ดังนี้
ทีมออสเตรเลีย: ดิแลน กัลซัน (Dylan Gulson)
ทีมอินเดีย: เกล็น สุจิตธา (Glen Suchitha)
ทีมเม็กซิโก: ฮอร์เฮ่ โซลอร์ซาโน (Jorge Solorzano)
ทีมตะวันออกกลาง: ยัสเซอร์ มานซาวร์ อัลมานซาวร์ (Yasser Mansour AlMansour) จากซาอุดิอาระเบีย
ทีมไทย: จักรพันธ์ ด๊ะวี

ในช่วงบ่ายของวันที่ 3 เป็นกิจกรรมการแข่งขัน “สต็อกคาร์” (Stock Cars) โดยใช้รถยนต์นิสสัน ไมครา ซึ่งก็คือรถยนต์นิสสัน มาร์ช ในประเทศไทย ซึ่งแต่ละทีมจะมีรถ 2 คัน โดย 1 คันใช้สำหรับขับแข่ง ขณะที่อีก 1 คันจะนำมาใช้ต่อเมื่อรถคันที่ใช้ขับแข่งอยู่เกิดข้อขัดข้องทางเทคนิคหรือกลไกเครื่องยนต์เท่านั้น ถ้าหากรถที่ใช้ขับแข่งเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหายจนไม่สามารถขับต่อไปได้ ก็จะไม่อนุญาตให้นำรถสำรองมาใช้ขับแข่ง ส่งผลให้ทีมนั้นต้องแพ้ไป ไม่สามารถแข่งต่อได้อีก

สิ่งสำคัญในการขับแข่ง “สต็อกคาร์” จึงเป็นการเรียนรู้จังหวะและทำงานเป็นทีม เนื่องจากสมาชิกทั้ง 3 คน ของทุกทีมจะต้องได้ขับแข่งโดยเปลี่ยนตัวนักขับในพิท ซึ่งพิทจะรองรับรถยนต์ได้เต็มที่เพียง 3 คัน ขณะที่มีทีมแข่งขันทั้งหมด 5 ทีม ดังนั้น นักแข่งทุกคนจะต้องสื่อสารกับโค้ชและหัวหน้าทีมของตนให้ดีว่าเมื่อใดควรเข้าพิทเพื่อเปลี่ยนตัวนักขับ และใครจะขับก่อน-หลัง ในช่วง30 นาทีของการแข่งขัน เพราะกติกาการเฟ้นหาทีมที่ชนะ คือ ภายในเวลา 20 นาที ทีมใดวิ่งวนรอบสนามได้หลายรอบมากที่สุดโดยเปลี่ยนตัวนักขับครบทั้ง 3 คน จะเป็นผู้ชนะ

ผลการแข่งขัน “สต็อกคาร์” ปรากฏว่า นายศักเกษม เจริญ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่แขนทั้ง 2 ข้างอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขัน และทีมไทยแพ้การแข่งขันจึงถูกทำโทษโดยการให้เสิร์ฟอาหารเช้าให้กับเพื่อนนักแข่งจากทุกประเทศในวันรุ่งขึ้น

คุณต่อ เกรฟส์ (Tor Graves) กรรมการและโค้ชประจำทีมไทย กล่าวว่า: มาถึงวันที่ 3 ของการแข่งขันแล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นความกระหายชัยชนะของทีมไทย ซึ่งดูเหมือนจะเพิ่งคิดได้ว่าถ้าไม่เอาจริงก็คงจะต้องกลับบ้านมือเปล่า มาวันนี้ทุกคนจึงพยายามอย่างเต็มที่ ผมหวังว่าทีมไทยจะตั้งใจทำเต็มที่อย่างนี้ต่อไป สงสัยว่าเมื่อคืนก่อนที่ต้องโดนลงโทษนอนเต็นท์ที่สนามนั้นจะทำให้ฮึดสู้ขึ้นมาล่ะมั้ง

ชลธวัช มีภาษณี “อั้ม” หนึ่งในนักแข่งจากประเทศไทย กล่าวว่า: ผมประทับใจการแข่งขันจิมคาน่ามากๆ เพราะการขับรถบนพื้นน้ำแข็งที่ลื่นสุดๆ นั้นไม่ง่ายเลย แต่ก็สนุกมาก โดยเฉพาะเมื่อรถที่ใช้ขับเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ในวันนี้ผมคิดว่าผมทำได้ดี และเพื่อนๆ ในทีมก็ทำได้ดีทุกคน สรุปก็คือว่า ผมยังต้องพัฒนาอีกเยอะเพื่อให้ตัวเองคว้าชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้มาให้ได้

เปียกแค่ไหนก็เอาอยู่




Day 4 วันที่สี่ของการแข่งขัน (12 สิงหาคม 2557) - ผู้เข้าแข่งขัน 15 คน
วันนี้นับเป็นอีกวันหนึ่งที่การแข่งขันมีสีสันน่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุด เริ่มต้นด้วยการขับแข่งรถซิงเกิ้ลซีท (Single Seaters) หรือรถล้อเปิด ระหว่างทีมออสเตรเลีย ทีมตะวันออกกลาง และทีมเม็กซิโก ณ สนามสโตว์ ซึ่งรถประเภทนี้แตกต่างจากรถอื่นๆ ทั้งในเรื่องอัตราส่วนกำลังต่อน้ำหนัก (Power-to-Weight Ratio) ความไวต่อการขับขี่ควบคุมบังคับรถ (Handling Sensitivity) และแรงกด (Downforce) การขับแข่งรถซิงเกิ้ลซีทจึงสะท้อนให้เห็นพรสวรรค์ที่แท้จริงในตัวนักแข่งแต่ละคน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันให้อยู่ต่อ หรือต้องตกรอบไป

ก่อนเริ่มการแข่งขัน ทุกคนได้รับการฝึกสอนวิธีขับรถซิงเกิ้ลซีทโดยนักแข่งรถมืออาชีพ มร. ยานน์ มาร์เด็นโบโรห์ (Jann Mardenborough) วัย 22 ปี แชมป์ GT Academy Europe 2011 ซึ่งลงแข่งเวทีระดับโลกมาหลายรายการ ล่าสุดเขาเพิ่งคว้าชัยในการแข่งขัน GP3 มร. ยานน์ จึงนับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของผู้เข้าแข่งขันทุกคนในครั้งนี้ โดยเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่เด่นชัดว่าความชำนาญในการขับรถเสมือนจริงในจอนั้นสามารถพัฒนาและต่อยอดสู่การเป็นนักขับรถแข่งมืออาชีพบนสนามจริงได้ ตามแนวคิด From Virtual to Reality ของโครงการนิสสัน จีที อคาเดมี

ขณะเดียวกัน ทีมไทยและทีมอินเดียก็เริ่มต้นเช้าวันใหม่อย่างดุเดือดกับการขับรถยนต์นิสสัน Juke NISMO คลุกฝุ่นฝ่าดงรถถัง ลูกเทนนิสที่ยิงจากปืนบาซูก้า และกระสุนเพ้นท์บอลที่บรรดาครูฝึกพร้อมใจกันยิงออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน ในกิจกรรม “แท๊งส์ อะ ลอท” (Tanks a Lot) ซึ่งผู้ชนะของแต่ละทีม ซึ่งก็คือผู้ที่ฝ่าวงล้อมได้ครบ 3 รอบ โดยใช้เวลาน้อยที่สุด จะได้รับอนุญาตให้ขับรถถังถล่มรถจริง นับเป็นรางวัลอันน่าตื่นเต้นและเป็นประสบการณ์สุดประทับใจที่สร้างรอยยิ้มให้กับปรากาช แนร์ (Prakash Nair) จากอินเดีย และฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ หรือ “เบ๊บ” จากไทย

ช่วงบ่ายเป็นการสลับกิจกรรมระหว่าง 2 กลุ่ม และเมื่อสิ้นสุดการแข่งขันวันที่ 4 แต่ละทีมได้คัดผู้แข่งขันออก ทีมละ 1 คน ดังนี้
ทีมออสเตรเลีย: เบนจามิน สมิธ (Benjamin Smith)
ทีมอินเดีย: คาร์ล พาเทล (Karl Patel)
ทีมเม็กซิโก: แอรอน มิแรนดา (Aaron Miranda)
ทีมตะวันออกกลาง: วาลีด อับดุลลา อัลคามดิ (Waleed Abdulla Alghamdi) จากซาอุดิอาระเบีย
ทีมไทย: ศักเกษม เจริญ

มร. ร็อบ บาร์ฟ (Rob Barff) หัวหน้าคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน กล่าวว่า: กว่าจะมาถึงวันนี้ เราคัดผู้แข่งขันออกไปเกือบครึ่งแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะมีหลายอย่างที่เราต้องชั่งน้ำหนักและทุกคนก็มีความสามารถ สิ่งที่ผมทึ่งมากๆ ก็คือ มีผู้เข้าแข่งขันหลายคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนแต่เรียนรู้ได้รวดเร็วมาก และก้าวทันคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์มากกว่าได้อย่างไม่น้อยหน้า GT Academy จึงเป็นการแข่งขันที่เข้มข้นมาก

คุณต่อ เกรฟส์ (Tor Graves) กรรมการและโค้ชประจำทีมไทย กล่าวว่า: ผมรู้สึกภูมิใจมากเพราะในวันนี้ทีมไทยทุกคนแสดงความพยายามอย่างเต็มที่ ไม่มีท่าทีย่อท้อ จนทำให้ผมประทับใจมากๆ


รถถังของจริงก็มีให้ขับ

Day 5 วันที่ห้าของการแข่งขัน (13 สิงหาคม 2557) - ผู้เข้าแข่งขัน 10 คน
เช้าวันฝนปรอยเริ่มต้นขึ้นด้วยการขับแข่งรถออฟโรดบักกี้ (Off-Road Buggies) เพื่อกำหนดตำแหน่งสตาร์ทของแต่ละทีมในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันถัดไป โดยทีมที่เข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 จะได้เริ่มที่ลำดับแรกสุด (Pole Position) และทีมที่เข้าเส้นชัยเป็นลำดับต่อมาก็จะไล่เรียงตำแหน่งสตาร์ทกันไป การขับแข่งรถบักกี้ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่ทดสอบทีมเวิร์คและสมาธิของผู้แข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อโอกาสที่จะคว้าแชมป์ GT Academy International 2014 และคว้าโอกาสพลิกชีวิตสู่เส้นทางนักแข่งมืออาชีพระดับโลกอีกด้วย

ผลการขับแข่งรถบักกี้ ปรากฏว่า ทีมออสเตรเลียซึ่งเต็งหนึ่งมาตลอดรายการ ถูกทีมไทย โดยฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ ไล่จี้ชนิดตามมาติดๆ ในรอบสุดท้ายของการแข่งขัน ส่งผลให้มาเชลโล ริเวอร่า (Marcello Rivera) จากทีมออสเตรเลียรู้สึกกดดันและเกิดพลาดท่า รถบักกี้พลิกคว่ำก่อนที่จะถึงเส้นชัยเพียงนิดเดียว ทีมไทยจึงลอยลำเข้าสู่เส้นชัย ตามด้วยทีมตะวันออกกลาง เม็กซิโก และอินเดีย ก่อนที่ทีมออสเตรเลียจะได้รับความช่วยเหลือให้ขับต่อได้และเคลื่อนรถเข้าสู่เส้นชัยเป็นอันดับสุดท้าย

ในช่วงบ่าย การแข่งขันก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อแต่ละทีมจะต้องขับเคี่ยวกันเองเพื่อชิงตำแหน่งตัวแทนหนึ่งเดียวจากแต่ละประเทศที่จะเข้าแข่งขันรอบสุดท้าย โดยการแข่งขันตัดเชือกแบบตัวต่อตัวในรอบ “ด็อกไฟท์” (Dogfight) นี้ ใช้รถยนต์นิสสัน 370Z ขับแข่งในสนามสโตว์และจับเวลาหาผู้ที่ทำเวลาได้ดีกว่า ซึ่งจะเข้าแข่งขันในฐานะแชมป์จากแต่ละประเทศ (Regional Champion) เตรียมตัวภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อคว้าโอกาสเดียวที่จะพลิกชีวิตสู่เส้นทางนักขับรถแข่งมืออาชีพระดับโลก

เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันวันที่ 5 แต่ละทีมได้คัดผู้แข่งขันออก ทีมละ 1 คน ดังนี้
ทีมออสเตรเลีย: มาเชลโล ริเวอร่า (Marcello Rivera)
ทีมอินเดีย: ปรากาช แนร์ (Prakash Nair)
ทีมเม็กซิโก: เจค วิตเต้ พรีคอพ (Jake Vite Prekop)
ทีมตะวันออกกลาง: ฮาดิ อับเดล ฮาดิ (Hadi Abdel Hadi) จากเลบานอน
ทีมไทย: ชลธวัช มีภาษณี

คุณต่อ เกรฟส์ (Tor Graves) กรรมการและโค้ชประจำทีมไทย กล่าวว่า: วันนี้เป็นอีกครั้งที่ทีมไทยทำได้ดีมากทั้งชลธวัชและฐนโรจน์ก็ได้แสดงฝีมือเต็มที่ในการขับแข่งรถบักกี้ เดิมทีมไทยเป็นที่ 2 ในสนาม แต่ก็ไล่จี้รถคันหน้าอย่างไม่ลดละ จนทีมออสเตรเลียซึ่งนำอยู่เกิดพลาดท่าพลิกคว่ำไป ส่วนการแข่งขันรอบสุดท้ายของวันนี้ “ด็อกไฟท์” ทั้ง 2 คนก็มีผลงานที่ดีมาก ผมรู้สึกภูมิใจในนักแข่งไทยครับ


จัมพ์เนินสวยๆ
ไทยเข้าวินเป็นอันดับหนึ่ง
เจ เจตริน (ซ้าย) และคุณต่อ เกรฟส์ (ขวา) ร่วมแสดงความยินดีกับสองนักขับไทย
Day 6 วันสุดท้ายของการแข่งขัน (14 สิงหาคม 2557) - ผู้เข้าแข่งขัน 5 คน
ในช่วงเช้าเป็นเวลาอุ่นเครื่องของแชมป์จากแต่ละประเทศโดยการขับแข่งด้วยรถยนต์นิสสัน 370Z บนสนามจริง ก่อนที่จะถึงการแข่งขันรอบสุดท้าย (Final Race) ในเวลา 13:30 น. BST ซึ่งเป็นการขับแข่งในสนามเนชั่นแนล เซอร์กิต (National Circuit) จำนวน 8 รอบ ทั้งนี้ การแข่งขันรอบสุดท้าย เป็นหนึ่งในองค์ประกอบการคัดเลือกผู้ชนะรายการ GT Academy International 2014 เท่านั้น ผู้ชนะการแข่งขัน Final Race จึงอาจไม่ใช่แชมป์ GT Academy International 2014 ถ้าหากมีผู้เข้าแข่งขันคนอื่นที่มีทักษะความพร้อมเหมาะสมรอบด้านมากกว่า

แชมป์ GT Academy จากแต่ละประเทศ ที่เข้าแข่งขันรอบสุดท้าย Final Race มีดังนี้ (เรียงตามลำดับการสตาร์ท)
แชมป์ GT Academy ประเทศไทย ฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ เริ่มที่ Pole Position
แชมป์ GT Academy ตะวันออกกลาง อาห์เมด บิน-คาเน็น (Ahmed Bin-Khanen) จากซาอุดิอาระเบีย
แชมป์ GT Academy เม็กซิโก ริคาร์โด ซานเชส (Ricardo Sanchez)
แชมป์ GT Academy อินเดีย อบิเนย์ บิกกานิ (Abhinay Bikkani)
แชมป์ GT Academy ออสเตรเลีย จอช มักเกิลตัน (Josh Muggleton)

เมื่อการแข่งขันรอบสุดท้าย Final Race เปิดฉากขึ้น อาห์เมด บิน-คาเน็น (Ahmed Bin-Khanen) จากตะวันออกกลาง ก็แซงขึ้นนำ ฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ จากประเทศไทย ได้ในเวลาอันสั้น ฐนโรจน์ซึ่งออกสตาร์ทช้าไปเพียงเสี้ยววินาทีก็ตกไปอยู่ลำดับที่ 4 นำหน้า อบิเนย์ บิกกานิ (Abhinay Bikkani) จากอินเดีย อยู่เพียงเล็กน้อย ขณะที่ จอช มักเกิลตัน (Josh Muggleton) จากออสเตรเลีย ถึงแม้ว่าจะออกสตาร์ทในลำดับสุดท้าย แต่กลับตีตื้นขึ้นมาเป็นลำดับที่ 2 เมื่อเริ่มขับแข่งไปเพียงไม่กี่รอบ เรียกได้ว่าหายใจรดต้นคอ ริคาร์โด ซานเชส (Ricardo Sanchez) จากเม็กซิโก ซึ่งนำโด่งมาเป็นที่ 1 อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจอชเป็นผู้ที่ทำเวลาต่อรอบได้รวดเร็วที่สุด ก่อนที่ริคาร์โดจะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยเป็นคนแรก ตามด้วยจอช ด้วยระยะเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 6/10 วินาที

ผลการแข่งขัน ปรากฏว่า ริคาร์โด ซานเชส (Ricardo Sanchez) วัย 24 ปี จากเมืองโทลูคา ประเทศเม็กซิโก คว้าแชมป์รายการ GT Academy International 2014 โดยจะเข้าร่วมโครงการพัฒนานักแข่งมืออาชีพทีม NISMO เป็นระยะเวลา 4 เดือน ก่อนร่วมลงแข่งรายการ ดูไบ 24 ชั่วโมง ในเดือนมกราคม 2558

"ผมไม่รู้ว่าจะคิดยังไงดี ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก และก็ไม่รู้ว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ชีวิตจะเป็นอย่างไร รู้เพียงว่าผมจะทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ พัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุดกับโครงการพัฒนานักแข่งมืออาชีพทีม NISMO และสู้สุดฝีมือเพื่อชิงชัยรายการดูไบ 24 ชั่วโมง เพื่อพิสูจน์ว่าผมคือคนที่เหมาะสมที่จะเป็นนักแข่งมืออาชีพทีม NISMO ส่วนความใฝ่ฝันของผมในตอนนี้ คือ ร่วมทีมนิสสัน และคว้าชัยในรายการเลอมังส์ และนูร์เบิร์กริง 24 ชั่วโมงให้ได้ ผมจะทำให้ดีที่สุด!" ริคาร์โด ซานเชส (Ricardo Sanchez) แชมป์ GT Academy International 2014 กล่าว

"ผมภูมิใจกับผู้เข้าแข่งขันทุกคน เพราะทุกคนทำเต็มที่ เรียนรู้เร็ว และมีพัฒนาการที่ดี โดยเฉพาะแชมป์จากประเทศไทย ออสเตรเลีย และเม็กซิโก นั้นมีฝีมือสูสีกันมาก ขับเคี่ยวกันมาตลอด ผู้ที่ชนะ Final Race จึงมีแต้มต่อที่เหนือกว่า ข้อแนะนำที่ผมมีให้กับริคาร์โด ก็คือ ต้องฟังคำแนะนำของโค้ช ขับรถให้เร็ว และอย่าชน!" มร. ร็อบ บาร์ฟ (Rob Barff) หัวหน้าคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน กล่าวด้วยรอยยิ้ม
สองพริตตี้ประจำการแข่ง
เอ๊ะ หรือมองน้องนางจนลืมแข่ง
สีหน้าดูกังวล
วอร์มอัพอยู่หัวแถว
แต่ไหงไปอยู่โน่น

พิธีรับถ้วย


"ริคาร์โด ซานเชส" แชมป์ นิสสัน จีที อคาเดมี อินเตอร์เนชั่นแนล 2014


น้ำใจนักกีฬา


"เบ๊บ" ฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ ยกมือขอโทษขอโพยต่อชาวไทยทั้งประเทศ

แม้ทีมไทยจะพลาดท่าชวดโอกาสไปต่ออย่างน่าเสียดาย แต่ก็ได้ทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์แล้วถึงความสามารถของคนไทยที่มีดีไม่แพ้ต่างชาติ ซึ่งหากปีหน้าฟ้าใหม่มีรายการแข่งขันแบบนี้จัดขึ้นอีกเชื่อว่าเด็กหนุ่มจากบ้านเราจะสามารถหอบถ้วยรางวัลเกียรติยศติดไม้ติดมือกลับมาฝากชาวสยามให้ชื่นใจได้อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระแสตอบรับของคนในประเทศด้วย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับชมการแข่งขัน "Nissan GT Academy International 2014" ที่เตรียมออกอากาศแบบเรียลลิตี้โชว์ผ่านทางช่อง True Sport HD 1, True Sport 3, True Asian HD และ True4U ได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป



*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*


กำลังโหลดความคิดเห็น