xs
xsm
sm
md
lg

‘ฟอร์ด’นำเทคโนโลยีพ่นสี 3-Wet ใช้ทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เพิ่มศักยภาพการผลิตอีก 50% กับกระบวนการพ่นสีอันทันสมัยแบบ 3-Wet ช่วยลดเวลาทำงานลงสูงสุด 25% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้ในโรงงานอีก 4 แห่ง จากปัจจุบันใช้อยู่ 12 ประเทศทั่วโลก รวมถึงโรงงานในประเทศไทย

ฟอร์ดเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีการทำสีแบบใหม่ ที่มีเนื้อสีเข้มข้นสูงและมีสารทำละลาย สามารถพ่นทับกัน 3 ชั้น และอบสีเพียงครั้งเดียว (High-solids solvent-borne 3-Wet technology) หรือเรียกกระบวนการพ่นสีแบบ 3 Wet มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 ปัจจุบันฟอร์ดมีโรงงาน 8 แห่ง ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงโรงงานฟอร์ดในประเทศไทย ที่ใช้กระบวนการอันทันสมัยนี้ในการพ่นสีรถยนต์

เทคโนโลยีการพ่นสีแบบใหม่ที่มีเนื้อสีเข้มข้นสูง(High-solids solvent-borne technology)หมายถึงสูตรผสมสีที่ลดการใช้ตัวทำละลาย เพื่อทำให้เนื้อสีมีความเข้มข้นมากขึ้น จึงช่วยลดปริมาณการปล่อยสารอินทรีย์ไอระเหย (Volatile Organic Compound - VOC) ฟอร์ดจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ในโรงงานรวมทั้งหมด 12 แห่ง ในปีพ.ศ. 2556 นี้ หรือเพิ่มศักยภาพการผลิตได้อีก 50% จากการนำเทคโนโลยีพ่นสีแบบ 3-Wet มาใช้อีก 4 แห่ง ในปีนี้ โดยตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐ 2 แห่ง รวมถึงในประเทศจีน 1 แห่ง และสเปน 1 แห่ง โดยโรงงานของฟอร์ดอื่นๆ ทั่วโลก จะนำมาใช้ภายใน 4 ปีข้างหน้า

“กระบวนการพ่นสีแบบ 3-Wet มีความทันสมัยกว่าเทคโนโลยีการพ่นสีแบบดั้งเดิม เราจึงพ่นสีที่มีความทนทานให้แก่รถได้ ด้วยกระบวนการทำงานที่มีคุณภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ต้นทุนที่เหมาะสม” บรูซ เฮทเทิล ผู้อำนวยการด้านวิศวกรรมการผลิตของฟอร์ดกล่าว

กระบวนการพ่นสีแบบ 3-Wet เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อสื่อถึงการพ่นสีทับกันทีละชั้นจำนวน 3 ชั้น โดยไม่จำเป็นต้องอบฟิล์มสีที่ยังไม่แห้งระหว่างชั้น กระบวนการดังกล่าวยังช่วยตัดการพ่นและอบสีรองพื้น ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำงานแยกต่างหาก ในกระบวนการพ่นสีแบบดั้งเดิมออกไป นอกจากนี้ส่วนผสมทางเคมีอันทันสมัยซึ่งใช้ในการผลิตสีเพื่อใช้ในกระบวนการพ่นสีแบบ 3-Wet ยังช่วยให้พ่นสีแบบเปียกซ้อนทับกันได้ถึง 3 ชั้น คือชั้นรองพื้น สีพื้น และเคลือบใสได้ในขณะที่สีชั้นก่อนหน้ายังไม่แห้ง

เทคโนโลยีแบบ 3-Wet จึงช่วยรักษาคุณภาพสูงสุดในการพ่นสีรถฟอร์ดเอาไว้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ และยังมอบความทนทานในระยะยาว รวมทั้งป้องกันการกระเทาะและรอยขีดข่วนต่างๆ อีกด้วย

สำหรับโรงงานต่างๆ ที่ฟอร์ดจะติดตั้งกระบวนการพ่นสีแบบ 3-Wet ในปีพ.ศ. 2556 ได้แก่
-โรงงานประกอบรถยนต์แฟลตร็อค ในเมืองแฟลตร็อค รัฐมิชิแกน
-โรงงานประกอบรถยนต์แคนซัส ซิตี้ ในเมืองเคลย์โคโม รัฐมิซซูรี
-โรงงานเจียงหลิง มอเตอร์ส โค ในเมืองหนานฉาง มณฑลเจียงซี ประเทศจีน
-โรงงานประกอบรถยนต์บาเลนเซีย ในเมืองบาเลนเซีย ประเทศสเปน

โรงงานในทวีปอเมริกาเหนือที่ผลิตรถยนต์ด้วยเทคโนโลยี 3-Wet ในปัจจุบัน ได้แก่
-โรงงานประกอบรถยนต์โอไฮโอ ในเมืองเอวอน เลค รัฐโอไฮโอ
-โรงงานประกอบรถยนต์กัวทิตลัน ในเมืองกัวทิตลัน ประเทศเม็กซิโก
-โรงงานประกอบรถยนต์มิชิแกน ในเมืองเวย์น รัฐมิชิแกน
-โรงงานประกอบรถยนต์หลุยส์วิลล์ ในเมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนตักกี้

โรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ผลิตรถยนต์ด้วยเทคโนโลยี 3-Wet ในปัจจุบัน ได้แก่
-โรงงานประกอบรถยนต์เชนไน ในรัฐทมิฬนาฑู
-โรงงานฉางอัน ฟอร์ด 2 ในประเทศจีน
-โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จังหวัดระยอง ประเทศไทย

โรงงานในทวีปยุโรปที่ผลิตรถยนต์ด้วยเทคโนโลยี 3-Wet ในปัจจุบัน ได้แก่
-โรงงานประกอบรถยนต์ไครโอวา ในเมืองไครโอวา ประเทศโรมาเนีย

ทำได้อย่างไร...
การจะนำเทคโนโลยีการพ่นสีแบบใหม่ ที่มีเนื้อสีเข้มข้นสูงและมีสารทำละลายในตัวมาใช้ได้นั้น เกิดจากความร่วมมือกันของฟอร์ดและผู้ผลิตวัตถุดิบของบริษัท ที่ได้ร่วมกันคิดค้นพัฒนา ทั้งกระบวนการทำงานและผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้

ระบบที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้ นอกจากจะช่วยลดเวลาในการทำงานลงได้ 20-25% การตัดขั้นตอนการพ่นและอบสีรองพื้น ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำงานแยกต่างหาก ในกระบวนการพ่นสีแบบดั้งเดิมออกไป ยังช่วยลดพื้นที่ทำงาน และช่วยให้ฟอร์ดลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเครื่องเป่าลม ซึ่งทำหน้าที่เป่าลมแรงๆ ผ่านห้องพ่นสี อีกทั้งยังลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อทำความร้อนในอากาศและในเครื่องอบ

กระบวนการนี้จึงช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างมาก และยังลดปริมาณการปล่อยสารอินทรีย์ไอระเหยลงเมื่อเทียบกับสีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีเนื้อสีเข้มข้นปานกลางและทำละลายในตัวทำละลาย (Medium-solids and solvent-borne paints)

นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนำร่องดังกล่าว ในโรงงานประกอบรถยนต์โอไฮโ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว กระบวนการพ่นสีระดับโลกแบบ 3-Wet ของฟอร์ดช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 15-25% และลดปริมาณสารอินทรีย์ไอระเหยลงได้ 10% เทียบกับการใช้ระบบดั้งเดิมทั้งแบบที่ใช้เนื้อสีที่มีความเข้มข้นสูง ทำละลายในตัวทำลาย หรือทำละลายในน้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น