xs
xsm
sm
md
lg

CRF250 ย้ำความสนุก ลุยฝุ่นข้ามประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดูท่าค่ายปีกนกคงจะอินกับแบรนด์แคมเปญ “ชีวิตสนุกถ้าไม่หยุดค้นหาอะไรใหม่ๆ” เสียเหลือเกิน เพราะหลังจากเคยพาคณะสื่อมวลชนร่วมค้นหาความสนุก จากการทดสอบสมรรถนะตัวลุยทางฝุ่น ซีอาร์เอฟ250 แอล(CRF250L) สำหรับทริปในประเทศจากตัวเมืองเชียงใหม่ สู่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน กันไปแล้ว

มาครั้งนี้ต่อเนื่องกับทริปค้นหาอะไรใหม่ๆ ซึ่งความใหม่ที่ว่าก็คือ การขี่ลุยทั้งทางฝุ่นและทางดำแบบข้ามประเทศกันไปเลย โดยใช้เส้นทางจากด่านคลองลึก จ.สระแก้ว มุ่งหน้าสู่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา รวมระยะทางกว่า 320 กม.

สำหรับรูปแบบการขับขี่เป็นขบวนคาราวานเช่นเคย ประกอบด้วยสื่อมวลชน 10 คัน ร้านผู้จำหน่าย 5 คัน ผู้บริหาร เอ.พี.ฮอนด้าและทีมงานเซฟตี้อีก 6 คัน รวมทั้งสิ้นจำนวน 21 คัน โดยมีความแตกต่างจากครั้งก่อนนิดหน่อย ตรงที่การเพิ่มรุ่นย่อยตัวโมตาร์ดหรือ 250 เอ็ม (250 M) มาร่วมแจมให้สื่อมวลชนได้สลับกันทดสอบสมรรถนะเป็นครั้งแรกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ในเมืองไทยได้เห็นหน้าตาตั้งแต่เปิดตัวไปแล้วช่วงต้นปี แถมครั้งนี้ยังได้สัมผัส “ซีอาร์เอฟ250 เอ็ม” กันอย่างใกล้ชิดก่อนที่จะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการเสียอีก แต่เวลาไล่เรี่ยกันในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง นักบิดแดนอาทิตย์อุทัยเพิ่งจะได้ยลโฉมตัวลุยทางเรียบรุ่นนี้เป็นครั้งแรก ในงานแสดงรถจักรยานยนต์ 2 เวทีใหญ่ปีล่าสุด สำหรับโอซาก้า มอเตอร์ไซเคิลโชว์ และโตเกียว มอเตอร์ไซเคิลโชว์

แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับตลาดในบ้านเราไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะการเปิดตัวรถใหม่หรือโกบอลโมเดลที่ผลิตเพื่อส่งออกทั่วโลก หรือแม้กระทั่งการให้สื่อมวลชนได้ทดสอบสมรรถนะก่อนใคร ต่อไปคงจะยิ่งได้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

กลับมาที่ทริปตอกย้ำความสนุก ค้นหาอะไรใหม่ๆ แบบข้ามประเทศ ในช่วงแรกเส้นทางลาดยางประมาณ 50 กม. รวมกับทางฝุ่นอีกกว่า 120 กม. ผู้เขียนเลือกใช้ซีรีส์ยางวิบากหรือตัวแอลเป็นอาชาคู่ใจ การขับขี่ไม่ต้องปรับตัวเข้าหามากนัก เพราะรู้จักและคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วจากการร่วมทริปครั้งก่อนหน้า ต้องขอยืนยันคำเดิมว่าความสูงของเบาะ 875 มม. ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับการควบคุมรถแต่อย่างใด

เมื่อผ่านครึ่งทางจากระยะทางรวมไปแล้วจะเหลือแต่ทางดำ จึงขอเปลี่ยนมาลองคร่อมตัวเอ็มที่สวมยางทางเรียบกันบ้าง ความแตกต่างที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนคือความสูงเบาะลดลง และวิ่งบนทางลาดยางรู้สึกได้ว่ามีการยึดเกาะถนนดีขึ้น อีกทั้งการเข้า-ออกโค้งทำได้มั่นใจมากกว่าเดิม ที่สำคัญในช่วงสั้นๆ มีโอกาสลองวิ่งด้วยความเร็วถึง 135 กม./ชม. แฮนด์บังคับและตัวรถไม่แสดงอาการสั่นจนน่ากลัวเหมือนรุ่นยางวิบาก

ทั้งนี้ การลองวิ่งด้วยความเร็วดังกล่าว เป็นเพียงการหาความแตกต่างระหว่างยางที่ใส่เท่านั้น อีกทั้งต้องทำความเข้าใจด้วยว่าตัวรถไม่ได้ออกแบบมาเพื่อวิ่งเร็ว แต่เน้นแรงบิดให้ขี่สนุกมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงความเร็ว 80-100 กม./ชม. ถือว่ากำลังดี บิดสนุกมือ ควบคุมเร่งแซงได้ดังใจ


โดยรวมแล้วการสัมผัสสมรรถนะ “ซีอาร์เอฟ250” โฉมโมตาร์ด ไม่ผิดคาดอย่างที่คิด เพราะออฟชันหรืออุปกรณ์ติดรถทุกอย่างยังคงเดิม ไล่มาตั้งแต่หน้าตาการออกแบบ รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกันกับโฉมวิบากทุกประการ แม้กระทั่งขุมพลังเครื่องยนต์ ปริมาตรความจุ 249.6 ซีซี. 4 จังหวะ สูบเดียว DOCH จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI ระบายความร้อนด้วยน้ำ ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ 6 สปีด ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบหัวกลับขนาด 43 มม. ด้านหลังโปร-ลิงค์ปรับระดับได้ สวิงอาร์มอลูมิเนียม ระบบเบรกใช้ดิสก์ทั้งหน้าและหลัง

หากไม่นับรวมสีสันที่ปรับเปลี่ยนในบางจุดอย่างโช้คหน้าและชุดแฟริ่ง สิ่งที่แตกต่างดูเหมือนจะมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นจริงๆ คือ ล้อทางเรียบขอบ 17 นิ้ว หน้า-หลัง ใส่แทนที่ล้อวิบากเดิม หน้าขนาด 21 นิ้ว และหลัง 18 นิ้ว

ส่วนอัตราสื้นเปลืองเชื้อเพลิง แม้ทริปนี้จะไม่ได้วัดหาค่าโดยละเอียด เพราะสลับกันขี่ไปมาทั้งรุ่นทางเรียบและทางฝุ่น แต่ก็พอคาดเดาได้ว่าคงไม่ต่างจากเดิมที่เคยทดสอบตัวแอล ซึ่งทำได้เฉลี่ยอยู่ที่ 31 กม./ลิตร

...มาถึงบทสรุปการได้ขับขี่ CRF250 ทั้งรุ่นแอลและเอ็ม ด้วยการเดินทางไกลยาวๆ แบบข้ามประเทศครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำสมรรถนะและความเหมาะสมของการใช้งานกับตัวรถได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะทางเรียบหรือทางฝุ่น เลือกที่ใช่ ใช้ให้ถูก แล้วความสนุกคงอยู่ไม่ไกล...


กำลังโหลดความคิดเห็น