บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด พาคณะสื่อมวลชนกว่า 20 สื่อ เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบรถ ฮอนด้า แอคคอร์ด ใหม่ หรือ เจเนอเรชันที่ 9 ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่เตรียมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยราววันที่ 11 มีนาคม 2556 นี้
แต่ก่อนที่จะรายงานการทดสอบรถ แอคคอร์ด ใหม่ เรามาทำความรู้จักกับ แอคคอร์ด ในอดีตทั้ง 8 เจเนอเรชัน กันก่อนว่าแต่ละรุ่นมีที่มา-ที่ไป อย่างไร
รุ่นที่ 1 : เปิดตัวในปี 1978 และทำตลาดจนถึงปี 1981 โดยการเปิดตัวในญี่ปุ่นจะเริ่มกับตัวถังแบบแฮตช์แบ็ก 3 ประตู ก่อนที่จะมีรุ่น 4 ประตู ที่มีขนาดความยาว 4.43 เมตร ตามออกมาในภายหลัง โดยเลย์เอาต์ในการจัดวางเครื่องยนต์เป็นแบบเครื่องยนต์วางด้านหน้าตามขวางและขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งฮอนด้าเปิดตัวแอคคอร์ดออกมาเพื่อแข่งกับคู่ปรับในตลาดอย่างโตโยต้า โคโรน่า, มิตซูบิชิ กาแลนท์ และมาสด้า 626
เครื่องยนต์ที่ทำตลาดเป็นแบบ 4 สูบเรียง มีทั้งแบบ 1,600 และ 1,800 ซีซี ซึ่งมีกำลังขับเคลื่อนระหว่าง 68-72 แรงม้า และระบบส่งกำลังมีทั้งแบบอัตโนมัติ 2 และ 3 จังหวะ รวมถึงเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
รุ่นที่ 2 : เปิดตัวทำตลาดในระหว่าง 1982-1985 และเป็นรถยนต์ที่คนไทยรู้จักดี เพราะเป็นรถยนต์รุ่นแรกๆ ของฮอนด้าที่นำเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทย รุ่นนี้มีอายุตลาดที่สั้นมาก เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น และมีตัวถังทำตลาดด้วยกัน 2 แบบเหมือนกับรุ่นแรก ซึ่งตัวถังแบบแฮตช์แบ็ก 3 ประตูมีขายในยุโรปโดยใช้ชื่อว่าแอคคอร์ด คูเป้ ส่วนรุ่นซีดานมีความยาวในระดับ 4.41 เมตร ซึ่งสั้นกว่ารุ่นเดิม แต่ทว่ากลับออกแบบให้มีมิติและมุมมองในเชิงสายตาที่ใหญ่ขึ้นในทุกสัดส่วน
เครื่องยนต์ที่ทำตลาดในรุ่นนี้มีให้เลือกหลากหลายทั้ง 1,600 และ 1,800 ซีซี ซึ่งขยับกำลังขับเคลื่อนขึ้นมาอยู่ในระดับ 86-110 แรงม้า และมีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะหรืออัตโนมัติ 4 จังหวะ โดยในรุ่นนี้ มีการผลิตขายเป็นเวอร์ชันสปอร์ตสำหรับตลาดญี่ปุ่นโดยใช้ชื่อว่า วิเกอร์ อีกด้วย
รุ่นที่ 3 : เปิดตัวในญี่ปุ่นปี 1986 และสำหรับตลาดเมืองไทยน่าจะเป็นรุ่นแจ้งเกิดของแอคคอร์ด เพราเป็นรุ่นที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดโลกฮอนด้ามีการผลิตตัวถังของแอคคอร์ดรุ่นนี้ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งตัวถังมาตรฐานอย่างซีดาน แฮตช์แบ็ก ตามด้วยคูเป้ และสเตชันแวกอนแบบ 3 ประตูที่เรียกว่า Aerodeck นอกจากนั้นในตลาดญี่ปุ่น ฮอนด้ายังผลิตแอคคอร์ดตัวถังนี้ในอีกเวอร์ชัน โดยมีหน้าตาที่แตกต่างจากรุ่นมาตรฐาน เพื่อส่งขายผ่านทางตัวแทนจำหน่ายของฮอนด้าที่ชื่อว่า Verno อีกด้วย
แอคคอร์ดรุ่นนี้ถือเป็นรถยนต์รุ่นแรกๆ ของฮอนด้าที่มีการใช้ระบบช่วงล่างแบบปีกนก 2 ชั้น ทั้งด้านหน้า และหลัง ก่อนที่จะมีการนำมาใช้กับรถยนต์รุ่นอื่นๆ อย่างซีวิค, อินเทกรา และพรีลูด ในเวลาต่อมา ส่วนเครื่องยนต์ที่ทำตลาดมีทั้งแบบ 1,600 ซีซี 88 แรงม้า ตามด้วย 1,800 ซีซี 100-110 แรงม้า และ 2,000 ซีซี 98-160 แรงม้าขึ้นอยู่กับตลาดที่วางขาย โดยการทำตลาดมีขึ้นจนกระทั่งถึงปี 1989 จึงมีการเปลี่ยนโฉม
รุ่นที่ 4 : รุ่นที่ 4 ของแอคคอร์ด ซึ่งใช้รหัสตัวถัง CB และในบ้านเรารู้จักกันในชื่อแอคคอร์ด ตาเพชร อันเนื่องมาจากไฟหน้าแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์ นอกจากนั้นในรุ่นนี้ยังมีการติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย อย่างในตลาดสหรัฐอเมริกา จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์อะลูมินัมทั้งบล็อก หรือระบบเลี้ยว 4 ล้อ 4- Wheel Steering ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น
ตัวถังที่วางขายมีแค่ 3 แบบ คือ คูเป้, ซีดาน และสเตชันแวกอน โดยตัวถังแฮตช์แบ็กได้ถูกถอดออกไป ขณะที่กลุ่มเครื่องยนต์ก็มีการอัปตลาดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อขยายตลาดของแอคคอร์ดขึ้นสู่ด้านบน โดยถอดเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี ออกไป และแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ 1,800 และ 2,000 ซีซี รวมถึงรุ่นใหญ่ในรหัส H22A อย่าง 2,200 ซีซีในบางกลุ่มตลาด โดยรุ่นนี้มีอายุการทำตลาดระหว่างปี 1989-1993
รุ่นที่ 5 : นอกจากการอัปเกรดสู่ตลาดรถยนต์ที่สูงขึ้นในกลุ่ม Midsize แล้ว ในแอคคอร์ดรุ่นนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่ฮอนด้าแยกการพัฒนาระหว่างแอคคอร์ดที่ขายในยุโรป กับตลาดญี่ปุ่น-โลกออกจากกัน ทำให้ทั้งตัวถังและหน้าตาของแอคคอร์ดที่ขายในตลาดเหล่านี้มีความแตกต่างกันแม้ว่าจะใช้ชื่อรุ่นเดียวกันก็ตาม อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่มีการส่งรถยนต์ไปทำตลาดร่วมกับโรเวอร์ กรุ๊ป ซึ่งโรเวอร์รับแอคคอร์ดไปขายในชื่อ 600 ซีรีส์ และเลเจนด์ในชื่อ 800 ซีรีส์ ส่วนฮอนด้าก็รับเอาดิสคัฟเวอร์ของค่ายแลนด์โรเวอร์มารีแบรนด์ขายในตลาดญี่ปุ่น และทางอีซูซุก็รับไปขายในตลาดญี่ปุ่นโดยใช้ชื่ออีซูซุ อัสก้าอีกด้วย
รุ่นนี้มีการใช้รหัสตัวถัง CD ที่ไล่เรียงรหัสจาก 3-6 มีตัวถังขาย 3 แบบด้วยกัน คือ คูเป้ ซีดาน และแวกอน ซึ่งในบ้านเรามีขายในช่วงแรกกับการนำเข้า หรือ CBU ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมาก เพราะมีซันรูฟมาให้จากโรงงานสำหรับรุ่นท็อป ส่วนเครื่องยนต์ที่ทำตลาดก็มีทั้ง 1,800 จนถึง 2,200 ซีซี ซึ่งแอคคอร์ดรุ่นนี้อยู่ในตลาดตั้งแต่ปี 1993-1997
รุ่นที่ 6 : เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้งในเรื่องของการพัฒนาเพราะคราวนี้มีการแยกพัฒนาออกเป็น 3 เวอร์ชัน คือ ยุโรป, ญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ ซึ่งในบ้านเราตรงนี้ถือเป็นครั้งแรกที่แอคคอร์ดไม่ได้อิงกับเวอร์ชันญี่ปุ่น แต่มีการนำเวอร์ชันอเมริกันเข้ามาขายเพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงในด้านขนาดตัวถังของคู่แข่งอย่างโตโยต้า คัมรี่ และนิสสัน เซฟิโร
นอกจากนั้นในญี่ปุ่น ยังมีขายด้วย 2 ชื่อ คือ แอคคอร์ด และทอร์นีโอ โดยที่ผลิตรุ่นหลังออกมาก็เพื่อส่งให้กับเครือข่ายจำหน่ายบางแห่งที่ไม่ได้มีสิทธิขายแอคคอร์ด โดยเวอร์ชันญี่ปุ่นจะมีตัวถังซีดาน และแวกอน เช่นเดียวกับยุโรป ส่วนสหรัฐอเมริกาจะมีตัวถังซีดานและคูเป้ โดยถือเป็นอีกครั้งที่แอคคอร์ดขยับเครื่องยนต์ขึ้น โดยมีทั้งรุ่น 2,000 ซีซี 2,300 ซีซี และท็อปสุด วี6 3,000 ซีซี และทำตลาดระหว่างปี 1997-2002
รุ่นที่ 7 : ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเวอร์ชันสำหรับขายในตลาดยังเกิดขึ้นอีก คราวนี้ฮอนด้าทำการจัดกลุ่มใหม่ โดยแบ่งเป็นญี่ปุ่น-ยุโรป และอเมริกัน-ตลาดโลก โดยทั้ง 2 เวอร์ชันจะต่างกันตรงที่หน้าตา เครื่องยนต์ และรูปแบบตัวถัง ซึ่งเวอร์ชันแรกเป็นซีดาน-แวกอน ส่วนเวอร์ชันหลังเป็นคูเป้-ซีดาน
อย่างไรก็ตาม ก็มีการส่งข้ามตลาดมาขายเพื่อสร้างโอกาสแข่งขันในตลาด โดยในญี่ปุ่นมีการนำแอคคอร์ด เวอร์ชันอเมริกันเครื่องยนต์วี6 เข้ามาขายในบ้านตัวเองโดยใช้ชื่ออินสไปร์ ขณะที่ในอเมริกาเหนือ ฮอนด้านำซีดานของแอคคอร์ด ญี่ปุ่นมาขายโดยใช้ชื่อ TSX ส่วนในบ้านเราก็ยังยึดรูปโฉมของแอคคอร์ด อเมริกันเป็นหลัก โดยที่เครื่องยนต์มีทั้ง 4 สูบ 2,400 ซีซี และวี6 3,000 ซีซี รุ่นนี้วางขายอยู่ในตลาดระหว่างปี 2003-2007
รุ่นที่ 8 : ยังอิงรูปแบบเดิมในการพัฒนา คือ มี 2 เวอร์ชันหลัก พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในด้านงานออกแบบจากเดิมที่เน้นความโค้งมนของตัวถังมาสู่การใช้สันเหลี่ยมรอบคันเพื่อเพิ่มความสปอร์ต และก็เช่นเดียวกัน ฮอนด้าอิมพอร์ตเวอร์ชันอเมริกันเครื่องยนต์วี6 เข้าไปขายในบ้านตัวเองด้วยชื่ออินสไปร์เหมือนเดิม และนอกจากนั้น ในตลาดสหรัฐอเมริกา ยังถือเป็นครั้งแรกที่ฮอนด้าแตกไลน์ตัวถังใหม่ออกมาโดยใช้ชื่อว่า ครอสส์ทัวร์
ตัวถังนี้ป็นแนวครอส์โอเวอร์ในแบบ 5 ประตูท้ายลาด ที่เน้นความหรูหราและความอเนกประสงค์ขึ้นจากตัวถังซีดาน และเน้นทำตลาดอเมริกาเหนือเป็นหลัก ส่วนเครื่องยนต์ก็มีทั้งรุ่น 2,400 ซีซีแบบ 4 สูบ แต่รุ่นวี6 ขยับความจุจาก 3,000 ซีซีในรุ่นเดิมมาเป็น 3,500 ซีซี และมีกำลังถึง 271 แรงม้า
ถึงบรรทัดนี้ต้องบอกว่า ผู้อ่านคงรู้จักรถ ฮอนด้า แอคคอร์ด มากขึ้นถึงความเป็นมา-เป็นไป การพัฒนารถ และที่สำคัญแอคคอร์ด ถือเป็นรถยนต์อีกรุ่นที่ถูกพัฒนาตลอดมาในฐานะหนึ่งในโมเดลหลักของฮอนด้า ที่มีการจำหน่ายทั่วโลก และเป็นรุ่นที่ได้รับความสนใจสำหรับคอรถในบ้านเราเช่นกัน
ส่วนเจเนอเรชันที่ 9 รุ่นล่าสุด จะนำมาเสนอในตอนต่อไป