xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจแถวตลาดรถยนต์ปี 55 เช็กรุ่นฮิตครองใจคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในปี 2555 เรียกว่ามีความร้อนแรงสุดๆ และเป็นปรากฏการณ์ที่จะต้องถูกจำจดไปอีกนาน ด้วยเป็นสถิติที่ก้าวกระโดดอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นยอดผลิตที่เดิมมีเป้าหมายเพียงฉลอง 2 ล้านคัน ได้พุ่งทะลุไปไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านคัน โดยมียอดขายในประเทศมากถึง 1.4 ล้านคัน จากเดิมที่วางไว้ประมาณ 1.0-1.1 ล้านคัน ซึ่งแน่นอนตัวเลขที่ติดเทอร์โบเช่นนี้ ย่อมมาจากโครงการรถคันแรกเป็นสำคัญ แต่จากบรรยากาศและสภาพเศรษฐกิจอำนวย ทำให้ตลาดอื่นๆ เติบโตเช่นกัน ดังนั้นมาดูกันซิว่ารถยนต์ที่ฮอตฮิตขายดีในปีมังกรไฟ คนไทยนิยมซื้อยี่ห้อและรุ่นไหน? มีเหตุผลและอะไรน่าสนใจบ้าง?...

ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ที่นำมาเปิดเผย เป็นการรวบรวมและรายงานระหว่างบริษัทรถญี่ปุ่น (JCC) และค่ายรถอเมริกันเท่านั้น แต่ถือเป็นกลุ่มหลักและกำหนดภาพรวมของตลาดรถยนต์ไทย เพราะที่เหลือรถยนต์ยุโรปและอื่นๆ มีปริมาณยอดขายต่อปี เพียงประมาณ 2-3 หมื่นคันเท่านั้น โดยเป็นตัวเลขรวม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ยังไม่ครบทั้งปี แต่ยอดขายที่เหลืออีกเดือนเดียว คงไม่ทำให้ภาพรวมหรือตำแหน่งผู้นำในแต่ละตลาดแตกต่างไปจากนี้ได้

มาว่ากันที่กลุ่มเก๋งเล็กที่คึกคักและร้อนแรงสุดๆ เริ่มที่ตลาดอีโคคาร์โปรดักต์แชมเปี้ยนตัวต่อไปของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ค่ายนิสสันในฐานะผู้บุกเบิกอีโคคาร์ และเข้าใจความต้องการของลูกค้าในไทย จึงไม่แปลกที่จะยึดตำแหน่งผู้นำตลาดอีโคคาร์อย่างเหนียวแน่น โดยมีอีโคคาร์รุ่นที่สอง “นิสสัน อัลเมร่า” กวาดยอดขายสูงสุดกว่า 5.21 หมื่นคัน (ดูตารางประกอบยอดขายในแต่ละตลาด หรือเซกเมนต์)

อัลเมร่าได้ตอกย้ำให้เห็นว่าคนไทยยังนิยมรถยนต์แบบซีดาน หรือรุ่น 4 ประตูมากที่สุด ที่สำคัญยังมีจุดเด่นเรื่องความกว้างขวางและสะดวกสบาย แม้จะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กก็ตาม ประกอบกับไม่มีคู่แข่งในตลาดอีโคคาร์ซีดาน เพิ่งจะมี “ฮอนด้า บริโอ้ อเมซ” เปิดตัวออกมาชน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เพียงยังไม่ถึงเดือนมียอดจองมากกว่า 1 หมื่นคันไปแล้ว ดังนั้นในปี 2556 บริโอ้ อเมซ จะเป็นคู่แข่งสำคัญชิงตำแหน่งผู้นำกับนิสสัน อัลเมร่า

ขณะที่ถัดไปเป็นมิตซูบิชิ มิราจ ขายไปกว่า 3.2 หมื่นคัน มาจากแคมเปญแรงและการผลิตส่งมอบรถให้ลูกค้าได้ค่อนข้างดี ไม่เหมือนกับ ซูซูกิ สวิฟท์ ที่แม้ตลาดมีความต้องการสูงมาก จนล่าสุดเห็นว่ายอดค้างส่งมอบรถลากยาวไปจนถึงต้นปี 2557 แล้ว แต่ความสามารถการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงทำยอดขายได้เพียงอันดับ 4 เกือบ 1.5 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 ตลาดอีโคคาร์จะดุเดือดกว่านี้ เพราะมีรถรุ่นใหม่เปิดตัวเช่นกัน โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ที่จะส่งอีโคคาร์สู่ตลาดช่วงไตรมาสสามปี 2556 รวมถึงรุ่นซีดานของมิตซูบิชิ มิราจ จะถูกส่งมาทำตลาดด้วยเช่นกัน

ต่อกันที่ตลาดซับคอมแพกต์ เก๋งเล็กที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทยปัจจุบัน เฉพาะ “โตโยต้า วีออส” รุ่นเดียวกวาดยอดขายไปถึงกว่า 1 แสนคัน จากชื่อแบรนด์ที่ครองใจคนไทยมานาน ศูนย์บริการและอะไหล่หาง่าย และราคาขายต่อค่อนข้างดี ประกอบกับโครงการรถคันแรกที่ผู้ซื้อได้รับเงินภาษีคืนสูงสุดเต็ม 1 แสนบาท ทำให้วีออสครองตำแหน่งผู้นำตลาดซับคอมแพกต์อย่างเหนียวแน่น โดยปีนี้กวาดยอดขายไปแบบถล่มทลาย มากกว่าปีที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว แม้จะเป็นช่วงสุดท้ายของโมเดลก็ตาม ซึ่งโฉมใหม่ที่ยังไม่มีการเปิดตัว แต่ได้มีการเปิดรับจองและทันรับสิทธิ์โครงการรถคันแรกด้วย จนกลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารย์อย่างมาก มีกำหนดจะเปิดตัวเป็นทางการต้นปีหน้า

ซับคอมแพกต์แบบซีดาน หรือรุ่น 4 ประตู ที่มียอดขายลำดับถัดมาไม่พ้นไปจาก “ฮอนด้า ซิตี้” ที่ยังเป็นรถยนต์ได้รับความนิยมสูงเหมือนเดิม แม้จะเป็นช่วงปลายโมเดลเช่นกัน ตามข่าวจะมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ในปีหน้า และอันดับต่อมาเป็น “มาสด้า 2” ที่ไม่เพียงสร้างแบรนด์จนได้รับการยอมรับแล้ว ยังมีแคมเปญดึงดูดใจลูกค้าตลอดทั้งปี แต่รุ่นที่น่าจับตามองเห็นจะเป็น “เชฟโรเลต โซนิค” เพราะเพิ่งขายเป็นทางการเมื่อกลางปี และมียอดเติบโตต่อเนื่อง จนล่าสุดเดือนพฤศจิกายนทะลุ 2 พันคันต่อเดือนไปแล้ว คงมาลุ้นในปี 2556 รุ่นโซนิคจะผงาดขึ้นมาเกาะกลุ่มท็อปไฟว์กับเขาได้หรือไม่?

ส่วนเก๋งซับคอมแพกต์แฮตช์แบ็ก หรือรุ่น 5 ประตู แน่นอนตลาดนี้ยังคงเป็นของ “ฮอนด้า แจ๊ซ” ด้วยยอดขายกว่า 2.6 หมื่นคัน และต่อมาเป็น “ฟอร์ด เฟียสต้า” ที่มีเทคโนโลยีเด่น และยังปรับตัววางเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เป็นตัวหลักแทนเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรเดิม จึงกวาดยอดขายเป็นจำนวนมาก จากโครงการคืนเงินภาษีรถคันแรกสูงสุด 1 แสนบาท แตกต่างจากรุ่นซีดานของเฟียสต้าทำได้เพียงกว่า 4 พันคันเท่านั้น และอันดับสามเป็นของ “โตโยต้า ยาริส” ยังตอกย้ำเรื่องภาพลักษณ์แบรนด์เป็นสำคัญ ทั้งที่มีกระแสข่าวต่อเนื่องเป็นปี ว่ารถรุ่นนี้จะถูกปลดระวาง?! เพื่อเปิดทางให้กับอีโคคาร์มาแทน…

ขยับใหญ่ขึ้นมาอีกในกลุ่มเก๋งคอมแพกต์ ซึ่งหลักๆ คงเป็นรุ่นซีดาน และเช่นเดิม “โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส” ยังคงครองความนิยมสูงสุด 4.95 หมื่นคัน แม้เทียบกับรุ่นก่อนจะไม่ร้อนแรงเท่าก็ตาม แต่ในปีต่อไปโตโยต้าคงต้องทำงานหนัก เพราะโฉมใหม่ของ “ฮอนด้า ซีวิค” ที่เพิ่งแนะนำสู่ตลาดช่วงไตรมาสสองของปีนี้ มียอดขายพุ่งขึ้นมาใกล้เคียง จนผงาดขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ด้วยตัวเลขขายรวมกว่า 2.3 หมื่นคัน

เช่นเดียวกับคอมแพกต์คาร์โมเดลใหม่ “นิสสัน ซิลฟี” ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มียอดขายสูงอยู่พอสมควร จนเกือบเท่ากับอันดับ 4 “มาสด้า 3” ที่มียอดขายทั้งปีกว่า 5 พันคัน ขณะที่ “ฟอร์ด โฟกัส” โฉมใหม่อีกรุ่นมาแบบเรื่อยๆ เดือนละไม่ถึงพันคัน ทั้งที่ใส่เทคโนโลล้ำสมัยเพียบ ทำให้อันดับ 3 กลับตกเป็นของเพื่อนร่วมเมืองลุงแซม “เชฟโรเลต ครูซ” ที่เปิดตัวทำตลาดมาเป็นปีที่สองแล้ว

ด้านเก๋งขนาดกลาง (C/D Car) คงต้องเป็นของ “โตโยต้า คัมรี่” แบบไม่มีปัญหา เพราะเพิ่งเปิดตัวโฉมใหม่เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา จึงกวาดยอดขายไปเกือบ 2 หมื่นคัน โดยมีคู่แข่งจากญี่ปุ่นด้วยกันอย่าง “นิสสัน เทียน่า” และ “ฮอนด้า แอคคอร์ด” ที่ล้วนแล้วแต่เป็นช่วงปลายโมเดล เนื่องจากโฉมใหม่ของทั้งคู่จะเปิดตัวในปี 2556 จึงทำตัวเลขยอดขายตามมาห่างๆ เพียงกว่า 4-5 พันคันเท่านั้น

จากตลาดเก๋งไปที่กลุ่มรถอเนกประสงค์ ซึ่งแยกเป็นรถที่พัฒนาโครงสร้างตัวถังมาทั้งคัน หรือรถอเนกประสงค์แบบเอสยูวี (SUV : Sport Utility Vehicle) กลุ่มนี้เคยเป็นของ “ฮอนด้า ซีอาร์-วี” แต่เนื่องจากเป็นช่วงปลายโมเดล และยังประสบปัญหาโรงงานถูกน้ำท่วมจมมิด จึงทำให้ในช่วงต้นปีมียอดขายเพียงหลักสิบคันต่อเดือน แต่เมื่อเปิดตัวโฉมใหม่ในช่วงไตรมาสสามของปีนี้ กลับมียอดขายเดือนละกว่า 1.5 พันคัน ถึงอย่างนั้นทำได้เพียงแค่อันดับ 2 รวมกว่า 6 พันคัน

งานนี้เลยต้องปล่อยให้ “เชฟโรเลต แคปติวา” ที่เด่นเรื่องของอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ และมีเครื่องยนต์ดีเซลเป็นอีกจุดขาย ครองยอดขายสูงสุดไปกว่า 1 หมื่นคัน ด้านคู่แข่งรายอื่นตามมาห่างๆ และล้วนเป็นปลายโมเดลหมด ไม่ว่าจะเป็น “ฟอร์ด เอสเคป”, “นิสสัน เอ็กซ์-เทรล” หรือ “ซูซูกิ แกรนด์ วิทารา” ขายได้รายละหลักร้อยคันเท่านั้น

ส่วนกลุ่มพีพีวี (PPV : Pick Up Passenger Vehicle) รถอเนกประสงค์อีกประเภท แต่แตกต่างที่พัฒนามาจากพื้นฐานโครงสร้างของปิกอัพ 1 ตัน ตลาดนี้เป็นของ “โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” ทำได้กว่า 3.3 หมื่นคัน โดยมี “มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต” ตามมาเป็นอับดับสอง จากการบอกปากต่อปากถึงสมรรถนะของรถ และถัดไปเป็นโมเดลใหม่ “เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์” เปิดตัวเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำยอดขายแตะระดับ 1 พันคันทุกเดือน ขายไปแล้วเกือบ 5 พันคัน เฉือนคู่แข่ง “อีซูซุ มิว-7” ไปเพียง 700 คันเท่านั้น โดยมิว-7 เป็นช่วงปลายโมเดล(โฉมใหม่เปิดตัวปีหน้า) เช่นเดียวกับ “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” จึงต้องทำใจกับความพ่ายแพ้ดังกล่าว

สำหรับปิกอัพ 1 ตัน ที่เป็นพื้นฐานให้กับรถพีพีวี และเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในไทย แม้จะมีการเปิดตัวโมเดลใหม่ออกมาถึง 4 ยี่ห้อ แต่เจ้าตลาดยังคงเป็นของ “โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้” ทั้งจากชื่อชั้นและแคมเปญ ประกอบกับสมรรถนะที่ปรับให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จึงกวาดยอดขายไปสูงสุดกว่า 2.14 แสนคัน โดยมี “อีซูซุ ดีแมคซ์” โฉมใหม่ ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน 1.71 แสนคัน ซึ่งทางอีซูซุเองบอกว่าตลาดให้การตอบรับดี เพียงแต่กำลังการผลิตมีไม่พอกับความต้องการของลูกค้า

ในส่วนของปิกอัพโฉมใหม่รุ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “เชฟโรเลต โคโลราโด”, “มาสด้า บีที-50 โปร” หรือ “ฟอร์ด เรนเจอร์” แม้จะมียอดขายเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว แต่ก็ยังพ่ายให้กับ “มิตซูบิชิ ไทรทัน” ที่เปิดตัวมานานหลายปี แต่ด้วยสมรรถนะและกลยุทธ์ปรับเครื่องยนต์เล็กลง แต่กำลังยังคงแรงเช่นเดิม สอดรับกับความต้องการของตลาด และขยันแต่งหน้าทาปาก บวกกับแคมเปญต่อเนื่อง ทำให้ครองอันดับ 3 ด้วยจำนวนกว่า 5.46 หมื่นคันไปแบบสบายๆ

ทั้งหมดนี้คือโฉมหน้าของรถฮอตฮิตแต่ละเซกเม้นท์ในปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนในปีหน้าฟ้าใหม่ทุกค่ายจะต้องงัดกลยุทธ์ รวมถึงเปิดรถรุ่นใหม่ๆ ออกมาแย่งชิงยอดขาย แล้วมาดูกันว่า… ใครจะอยู่หรือไป?!

ตารางแสดง 3 อันดับรถขายดีแยกเซกเมนต์ ม.ค.-พ.ย. 2555

ประเภทรถอันดับ 1จำนวน(คัน)อันดับ 2จำนวน(คัน)อันดับ 3จำนวน(คัน)
อีโคคาร์
นิสสัน อัลเมร่า
51,254
มิตซูบิชิ มิราจ
32,638
นิสสัน มาร์ช
29,104
ซับคอมแพกต์ SDN
โตโยต้า วีออส
101,155
ฮอนด้า ซิตี้
66,589
มาสด้า 2
20,483
ซับคอมแพกต์ HB
ฮอนด้า แจ๊ซ26,608
ฟอร์ด เฟียสต้า
20,297
โตโยต้า ยาริส
16,956
คอมแพกต์
โตโยต้า อัลติส
49,513
ฮอนด้า ซีวิค
23,040
เชฟโรเลต ครูซ
8,150
เก๋งขนาดกลาง(C/D)
โตโยต้า คัมรี่
19,948
นิสสัน เทียน่า
5,865
ฮอนด้า แอคคอร์ด
4,320
เอสยูวี
เชฟโรเลต แคปติวา
10,321
ฮอนด้า ซีอาร์-วี
6,068
ฟอร์ด เอสเคป
539
พีพีวี
โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์
33,224
มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต
23,971
เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์
4,599
ปิกอัพ 1 ตัน
โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้
214,917
อีซูซุ ดีแมคซ์
171,012
มิตซูบิชิ ไทรทัน
54,679


หมายเหตุ - ข้อมูลจากรายงานกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ญี่ปุ่น (JCC)
กำลังโหลดความคิดเห็น