แม้ว่าตลาดบิ๊กไบค์หรือมอเตอร์ไซค์ใหญ่ขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 250 ซีซี ขึ้นไป กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา โดยเฉพาะแนวสปอร์ตหรือเน็กเก็ตต่างมีตัวเลือกมากมายหลากหลายยี่ห้อ แต่หากมองในกลุ่มคลาสสิกยังคงไม่มีแบรนด์ใดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเกินไปกว่าสองล้อสัญชาติอังกฤษอย่างไทรอัมพ์ โดยเฉพาะรุ่นบอนเนวิลล์ (Bonneville) ซึ่งเสมือนเป็นตราสัญลักษณ์ประจำค่ายไปแล้ว
ยิ่งได้ฟังบอสใหญ่ “ดอม เหตระกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริทไบค์ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ บอกเล่าว่า รุ่นนี้ถือเป็นรถธงยอดนิยม ถ้าใครที่ต้องการทราบว่าไทรอัมพ์มีจุดเด่นอย่างไร คำตอบสั้นๆ คือ รูปทรงคลาสสิกบวกเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขับขี่ง่ายและมีความปลอดภัย อธิบายไปไม่เห็นภาพ ของแบบนี้ต้องลองขี่เอง
...เข้าทางสิครับ ว่าแล้วก็จัดแจงนัดหมายกับฝ่ายการตลาดขอทดสอบขับขี่กันหน่อย
สัมผัสแรกจากสายตา บอนเนวิลล์ภายนอกดูย้อนยุค ไฟหน้าทรงกลมขนาดใหญ่ชุบโคมเมียมเงาวับ ขนาบข้างด้วยไฟเลี้ยวทั้งสองด้าน เรือนวัดความเร็วทรงโบราณแบบอนาล็อก บอกสถานะหน่วยความเร็วเป็นกิโลเมตร พร้อมลูกเล่นแบบดิจิตอลด้วยโหมดระยะทางรวม, ทริป A, B และนาฬิกา แต่ไม่แสดงรอบเครื่องยนต์และระดับน้ำมันเชื้อเพลิง
มาถึงสวิตช์ควบคุมต่างๆ บนแฮนด์บังคับอยู่ในตำแหน่งสากล ใช้งานสะดวกไม่ต้องปรับตัวมากนัก แต่ชิ้นส่วนงานประกอบยังไม่ค่อยเนียน โดยฝั่งซ้ายมีไฟสูง-ต่ำ ไฟเลี้ยว แตร และไฟขอทาง (ไม่มีไฟผ่าหมาก) ส่วนฝั่งขวามีสวิตช์ออฟ-รัน และปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์
สำหรับถังน้ำมันสีดำมันวาวขนาดความจุ 16 ลิตร ดูลงตัวดีกับรูปทรงคลาสสิก แต่เจ้ากรรมฝาถังไม่น่าจะย้อนยุคตามไปด้วย เพราะสามารถเปิดออกได้โดยไม่ต้องเสียบกุญแจ และยังไม่มีตัวล็อกกับถังมาให้อีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม ในแง่การใช้งานอาจไม่เหมาะสม แต่มองในด้านการออกแบบตามรูปลักษณ์โมเดิร์นคลาสสิกแล้ว ต้องถือว่าโดยรวมหล่อเหลาเอาการมากทีเดียว
ด้านการขับขี่หลังจากเสียบกุญแจที่ตำแหน่งข้างแผงคอและสตาร์ทเครื่องยนต์ ต้องประหลาดใจกับเสียงท่อไอเสียทรงคู่ออกด้านข้าง ซึ่งคำรามแผ่วเบาผิดคาดอย่างที่คิด และเมื่อล้อหมุนจากโชว์รูมแถวอาร์ซีเอช่วง 11 โมงกว่าๆ การจราจรกำลังหนาแน่น วิ่งใช้งานจริงกับการซิกแซกแซงผ่านช่องรถยนต์ที่ติดขัดทำได้คล่องตัว แม้ว่าจะต้องควบคุมรถที่มีน้ำหนักถึง 225 กิโลกรัมก็ตาม
ผู้เขียนประทับใจท่านั่งที่ค่อนข้างสบายมากถึงมากที่สุด แฮนด์บังคับกว้างโน้มเข้าหาลำตัว ส่งผลให้การควบคุมไม่ต้องเหยียดแขนหรือหัวไหล่ รวมทั้งส่วนหลังตั้งตรงไม่รู้สึกเมื่อยล้า ขณะที่เบาะนั่งตอนเดียวทรงขนมปังโอบกว้างรองรับบั้นท้ายได้เต็มที่ ส่วนท่อนขาเข่างอเล็กน้อยแนบถังน้ำมันได้กระชับไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป ยางพักเท้าและคันเกียร์มีขนาดใหญ่ ใช้วางขาและตบ-งัดเกียร์ได้สะดวก ส่วนเรื่องเสียงช่วงเปลี่ยนเกียร์ดังหนักแน่นแต่ไม่แข็งกระด้าง
สำหรับอัตราเร่งจากขุมพลังเครื่องยนต์ 2 สูบ DOHC วางตั้งขนานกัน ปริมาตรความจุ 865 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 68 แรงม้าที่ 7,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 68 นิวตัน-เมตร ที่ 5,800 รอบต่อนาที ระบายความร้อนด้วยอากาศ มีออยคูลเลอร์ช่วยรักษาอุณอุหภูมิน้ำมันเครื่อง จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบหัวฉีด ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ 5 สปีด แสดงสมรรถนะสวนทางกับรูปทรงโบราณแต่แฝงเขี้ยวเล็บ จังหวะเร่งแซงทำได้มั่นใจโดยไม่ต้องลดเกียร์เพื่อเรียกกำลัง การใช้ความเร็วในย่าน 130 กม./ชม. ขับขี่สนุก ควบคุมง่าย แต่เมื่อบิดคันเร่งไปถึง 160 กม./ชม. เริ่มไม่ไหว-ไม่ใช่ตัวรถ แต่เป็นตัวผู้ขับขี่เองที่เริ่มรู้สึกไม่มั่นใจ เพราะต้องเกร็งแขนและหัวไหล่ต้านสู้แรงลมปะทะ อย่างไรก็ตาม ลักษณะการขับขี่รถสไตล์นี้ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ใช้ความเร็วสูงอยู่แล้ว
ขณะที่ช่วงล่างเซตมาค่อนข้างแข็งไปหน่อย ส่งผลดีในโค้งรู้สึกแน่นและนิ่ง แต่หากวิ่งทางขรุขระแม้เพียงเล็กน้อยหรือช่วงวิ่งผ่านคอสะพาน การซับแรงสะเทือนทำได้ไม่ค่อยประทับใจนัก
สำหรับระบบเบรกทั้งหน้าและหลัง แบบดิสก์เดี่ยวประกบคาลิเปอร์ 2 พอร์ต (ไม่มี ABS) ประสิทธิภาพควบคุมการหยุดได้มั่นใจ ส่วนเมื่อยกคันเร่งหรือลดเกียร์เพื่อชะลอความเร็ว ด้วยเอ็นจิ้นเบรกทำได้กำลังดีไม่มากหรือน้อยเกินจนรู้สึกรำคาญ
ด้านอัตราสื้นเปลืองเชื้อเพลิงทำได้เฉลี่ยอยู่ที่ 18.6 กม./ลิตร หาค่าโดยเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เต็มถัง กดปุ่มรีเซตระยะทางที่หน้าปัดวัดความเร็ว วิ่งใช้งานประมาณ 100.8 กม. และเติมเต็มถังอีกครั้งด้วยน้ำมันจำนวน 5.4 ลิตร
...บทสรุปการค้นหาจุดเด่นของ “ไทรอัมพ์ บอนเนวิลล์” รูปทรงคลาสสิกมีเอกลักษณ์แบบนี้ตัวเลือกในตลาดยังมีน้อย จากการสังเกตุขี่ไปที่ไหนทุกคนบนถนนรวมถึงบนฟุตบาธต่างให้ความสนใจ สมรรถนะเครื่องยนต์ไม่โบราณอย่างที่เห็น หากมีใจรักการขับขี่บิ๊กไบค์ ชอบความแตกต่าง รวมถึงฐานะทางบ้านดีมีเงินเหลือถึง 690,000 บาท แม้จะกินไม่ได้ แต่อยากเท่ก็จัดเลย!!!