xs
xsm
sm
md
lg

รถต้องซื้อ!...ภายใน3ปี ก่อนปรับฐานภาษีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะที่คนไทยจำนวนมาก กำลังให้ความสนใจกับโครงการรถคันแรก เช่นเดียวกับหลายค่ายรถเองก็กำลังรุมถล่มโตโยต้า จากการที่ดอดส่งเก๋งเล็กรุ่นวีออสใหม่ ขอรับสิทธิ์คืนเงินภาษีรถคันแรก และกรมสรรพสามิตก็จัดให้เต็มๆ โดยที่ยังไม่มีการเปิดตัวสู่ตลาดแต่อย่างใด ซึ่งในช่วงกำลังชุลมุนรัฐบาลได้ขยับทิ้งทวนก่อนสิ้นปี อนุมัติปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ปรากฏว่าส่วนใหญ่ปรับฐานภาษีขึ้นหมด และแม้จะมีระยะเวลา 3 ปี แต่ผู้ที่วางแผนจะซื้อรถช่วงนั้น หากนิ่งนอนใจอาจจะได้รถราคาติดเทอร์โบได้ เหตุนี้มาดูประมาณราคาปรับเพิ่มและลดลง เพื่อประกอบการตัดสินใจไว้ก่อนก็ดี…

ก่อนที่จะไปดูว่าราคารถรุ่นไหนปรับขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่? มาดูแนวคิดในการปรับภาษีคร่าวๆ กันก่อน ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ เพื่อตอบรับแผนการสนับสนุนรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้ใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) เป็นเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษี จากเดิมที่จะใช้ปริมาตรกระบอกสูบเครื่องยนต์กำหนด

โดยภาษีใหม่ปรับลดขนาดเครื่องยนต์เหลือ 2 ระดับเท่านั้น คือขนาดไม่เกิน 3,000 ซีซี และเกิน 3,000 ซีซี ควบคู่กับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอัตราภาษีเป็นเท่าไหร่ อย่างรถยนต์นั่ง หรือเก๋ง หากปล่อยน้อยกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร จะได้อัตราภาษีต่ำสุด 25% แต่ถ้ามากกว่าก็จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นอีกเป็นระดับ หรือปิกอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยมาตลอด แม้จะยังยืนที่อัตราภาษี 3% แต่ปิกอัพที่ไม่ได้ใช้เพื่อขนส่งโดยตรง มีการปรับขึ้นเช่นกัน(ดูตารางโครงสร้างภาษีใหม่ประกอบ)

มาดูรถยนต์แต่ละเซกเมนท์ และรถหลักๆ บางรุ่นเลยดีกว่า ว่ามีการปรับลดลงอย่างไรบ้าง?... โดย “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ได้เฉลี่ยราคาประมาณต่ำสุดและสูงสุด ของรถแต่ละเซกเมนท์ในตลาด แล้วนำมาหาราคาเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างภาษีใหม่ โดยใช้อัตราต่ำสุด 76% ของราคาขายปลีก ที่กรมสรรพสามิตใช้เป็นแนวทางกำหนดราคา ณ โรงงาน (บริษัทรถอาจจะยื่นราคามากกว่าก็ได้) เพื่อแก้ปัญหาบริษัทรถเสียภาษีต่ำเกินจริง นำมาหาอัตราภาษีตามวิธีการคำนวณของกรมสรรพสามิต และได้รวมภาษีมหาดไทย(10%ของภาษีสรรพสามิต) ที่จะถูกเก็บพร้อมกัน และผันแปรตามภาษีสรรพสามิตไว้ด้วย

เนื่องจากรัฐบาลต้องการสนับสนุนรถที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีโคคาร์ที่เดิมอัตราภาษีต่ำอยู่แล้ว ภาษีใหม่กลับยิ่งลดลงอีกเหลือ 14% จากเดิม 17% ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้อีโคคาร์ราคาลดลงประมาณ 9,000-14,000 บาท หรือหากใช้น้ำมัน E85 จะเหลือเพียง 12% ทำให้ราคาลดลงสูงสุดกว่า 34,000 บาทได้

หากดูจากตรงนี้และไม่มีโครงการคืนเงินภาษีรถคันแรกแล้ว ถ้าไม่รีบใช้รถคงไม่น่าสนใจเท่าไหร่นัก และยิ่งถ้าเกมการแข่งขันดุเดือด เชื่อว่าค่ายรถจะพยายามพัฒนาให้สามารถรับประโยชน์จากภาษีมากที่สุด และอีโคคาร์ปัจจุบันการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ก็ไม่สูงมาก สามารถลดลงได้อีก แต่อะไรก็ไม่แน่นอนเพราะบางทีค่ายรถก็อ้างเรื่องเทคโนโลยีและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ใส่เข้ามา ทำให้ราคาต้นทุนสูงขึ้น เมื่อบวกลบแล้วราคาก็อาจจะไม่ลดลงเลยก็ได้

นอกจากอีโคคาร์ที่ภาษีลดลง รถยนต์ที่เหลือล้วนถูกปรับขึ้นหรืออย่างดีก็เท่าเดิม แม้แต่กลุ่มพลังงานทางเลือกอย่างรถไฮบริด ที่ถึงจะยังคงยืนอัตราภาษี 10% เท่าเดิม แต่นั่นต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร ซึ่งดูเหมือนจะมีเพียงแค่ โตโยต้า พริอุสเท่านั้น แต่รถไฮบริดรุ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า แจ๊ซ หรือโตโยต้า คัมรี ล้วนมากกว่าที่กำหนด โดยอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 150 กรัม/กิโลกรัม(ณ ปัจจุบัน) เสียอัตราภาษี 20% จากเดิมเสียภาษีเพียง 10% ถ้าอนาคตไม่ปรับให้ได้เกณฑ์ต่ำสุด ราคาคงต้องปรับขึ้นตาม ซึ่งดูแล้วฮอนด้า แจ๊ซ คงไม่มีปัญหาอะไร

ขณะที่โตโยต้า คัมรี ไฮบริด อาการยังน่าห่วง เนื่องจากคัมรีไฮบริดหากคำนวณตามปัจจุบัน จะต้องปรับราคาขึ้นอีก 1.3-1.5 แสนบาท และไม่เพียงเท่านั้นโตโยต้ายังมีแผนที่จะผลิตรถไฮบริดในไทยหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นคอมแพกต์คาร์อย่างกลุ่มโตโยต้า อัลติส หรือเล็กกว่า เหตุนี้ล่าสุดโตโยต้าถึงกับออกมาโวยวาย ขู่จะย้ายฐานผลิตรถไฮบริดหนีไปมาเลเซีย

รถอเนกประสงค์แบบพีพีวี(PPV) อย่างโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์, มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต หรืออีซูซุ มิว-7 เป็นอีกกลุ่มที่สาหัสเช่นกัน แม้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะให้สูงถึง 200 กรัม/กิโลเมตร แต่พีพีวีเป็นรถที่พัฒนามาจากปิกอัพ และเป็นที่รู้กันเครื่องยนต์ปิกอัพล้วนเกินค่าดังกล่าวหมด ถึงปีนี้จะถูกบังคับให้เครื่องยนต์ดีเซล ต้องผ่านมาตรฐานยูโร4 และทำให้ปคาร์บอนไดออกไซด์เท่าหรือใกล้เคียง แต่ภาษีพีพีวีต่ำสุดอยู่ที่ 25% จากเดิมเพียง 20% ถึงยังไงราคาก็ต้องปรับขึ้น 40,000-60,000 บาท หรือถ้าเกิน 200 กรัม/กิโลเมตร ภาษีจะโดดขึ้นไปเป็น 30% ทีนี้ราคาติดเทอร์โบพุ่งขึ้นอีกเป็นกว่าแสนบาทเลยทีเดียว

ไม่เพียงเท่านี้เก๋งคอมแพกต์ อาทิ โตโยต้า อัลติส, ฮอนด้า ซีวิค, นิสสัน ซิลฟี, มาสด้า3, ฟอร์ด โฟกัส หรือมิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอ็กซ์ ราคาปรับขึ้นเช่นกัน ตั้งแต่หลักกว่า 30,000-45,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นรถใช้น้ำมันหลักๆ หรือจะเป็นน้ำมัน E85 แม้แต่รถที่ใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติ(NGV) เพราะรถกลุ่มนี้เดิมได้รับการสนับสนุนจากการใช้น้ำมัน E20 จึงได้สิทธิเสียภาษีสรรพสามิต 25% หรือถ้าเป็นรถใช้น้ำมัน E85 จะเสียอัตรา 22% และลงมาเป็น 20% สำหรับรถใช้ก๊าซธรรมชาติ(ติดตั้งจากโรงงาน)

ในส่วนอัตราภาษีใหม่เก๋งคอมแพกต์ เริ่มต้นที่ 25% และเป็น 30-35-40-50 ตามการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่รถกลุ่มนี้จะอยู่ที่ประมาณช่วง 151-200 กรัม/กิโลเมตร ที่เสียภาษีใหม่ในอัตรา 30-35%(ตามประเภทพลังงานเชื้อเพลิง) เช่นเดียวกับเก๋งขนาดกลางอย่าง โตโยต้า คัมรี, ฮอนด้า แอคคอร์ด และนิสสัน เทียน่า ราคารถกลุ่มนี้จึงโดดขึ้นอีก 60,000-95,000 บาท

ด้านเก๋งเล็กลงมาอย่างซับคอมแพกต์ พวกโตโยต้า วีออส-ยาริส, ฮอนด้า ซิตี้-แจ๊ซ, มาสด้า2 และฟอร์ด เฟียสต้า มีชะตาไม่แตกต่างกัน ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ประมาณ 150-170 กรัม/กิโลเมตร จึงเสียภาษีในอัตรา 30-35% สูงจากเดิมที่เสียภาษี 25% (น้ำมัน E20) ทำให้ราคาหลังปรับภาษีใหม่เพิ่มสูงขึ้นอีก 40,000-60,000 บาท

สำหรับปิกอัพที่เป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยนของไทย ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนมาตลอดจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยของไทย ยืนอัตราภาษีเดิมไว้เพียงปิกอัพตอนเดียว กับปิกอัพแบบ 4 ประตู ในอัตรา 3 และ 12% ตามลำดับ แต่นั่นต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มียี่ห้อไหนผ่านมาตรฐานนี้ และนั่นย่อมต้องเสียภาษีอัตราสูงขึ้นเป็น 5% และ 15% ตามลำดับ ขณะที่ปิกอัพมีแค็บเริ่มต้นที่ 5% และ 7% จากเดิมอัตราเดียว 3% ถึงอย่างนั้นปิกอัพก็นับว่าปรับราคาขึ้นตามโครงสร้างภาษีใหม่ประมาณ 7,000-25,000 บาท

จากข้อมูลทั้งหมดคงพอจะเห็นแล้วว่า มีรถรุ่นไหนที่จะต้องพิจารณาอย่างจริงจังแล้ว ก่อนที่โครงสร้างภาษีใหม่จะบังคับใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะต้องมีภาระเพิ่มอีกเป็นแสนบาทเลยทีเดียว...

อย่างไรก็ตาม มองอีกมุมภายในระยะเวลา 3 ปี เชื่อว่าค่ายรถจะต้องปรับให้ได้รับประโยชน์ หรือเสียภาษีน้อยที่สุดอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ และจากความเคลื่อนไหวของบริษัทรถ มีการเปิดเผยว่าจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือพัฒนามาตรฐานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ต่ำสุด

เห็นได้จากมิตซูบิชิที่ยืนยันพร้อมลงทุน พัฒนาการปล่อยมลพิษให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ฝั่งค่ายมาสด้าก็เตรียมจะนำเทคโนโลยีสกายแอคทีฟมาใช้ในไทย หรือฟอร์ดที่มีเทคโนโลยีอีโคบูสต์ ฮอนด้าก็มุ่งไปที่พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน E85, ซีเอ็นจี และรถไฮบริด เช่นเดียวกับโตโยต้ามีแผนที่จะนำระบบไฮบริดมาใช้กับรถรุ่นหลักๆ มากที่สุด ซึ่งทุกเทคโนโลยีล้วนแล้วแต่ช่วยให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง

แต่ไม่ว่าจะเทคโนโลยีไหน? นอกจากอีโคคาร์แล้ว โครงสร้างภาษีใหม่ล้วนปรับฐานขึ้นหมด อยู่ที่จะปรับขึ้นมากหรือน้อยเท่านั้น ทีนี้ก็อยู่ที่การตัดสินใจของผู้ซื้อแล้วล่ะ?!...
กำลังโหลดความคิดเห็น