แม้จะไม่มีงานอย่าง แฟรงค์เฟิร์ต และ โตเกียว มอเตอร์โชว์ จัดแสดง แต่แค่งานเดียวอย่าง ปารีส มอเตอร์โชว์ บวกกับงานประจำปีอย่าง เจนีวา มอเตอร์โชว์ ที่มีขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคม ตรงนี้ถือว่าเอาอยู่ในเชิงการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้บริโภคทั่วโลกในเรื่องของสีสันและความน่าตื่นตาตื่นใจของรถยนต์ต้นแบบ
และนี่คือ ตอนแรกของบทความ 10 รถยนต์ต้นแบบคันเด่นที่ทาง ASTV ผู้จัดการออนไลน์ คัดเลือกและนำเสนอในฐานะคอนเซ็ปต์คาร์ที่โดดเด่นในช่วงปีนี้ โดยนอกจากจะเน้นไปที่ความน่าตื่นตาตื่นใจของการออกแบบและเทคโนโลยีแล้ว ทีมงานยังสนใจเรื่องประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นกับตัวรถ โดยเฉพาะโอกาสที่คนทั่วไปจะได้สัมผัส อาจจะทั้งคัน หรือเพียงแค่บางส่วนผ่านทางงานออกแบบ
Nissan Invitation : อาจจะไม่ได้สร้างความฮือฮาอะไรมากในเชิงความเร้าใจทางสายตาเหมือนกับรถยนต์ต้นแบบรุ่นอื่นๆ แต่เหตุผลที่เราเลือก Invitation ของนิสสันให้ติดอยู่ในปีนี้เป็นเพราะนี่คือร่างจำแลงของการกลับมาสู่การทำตลาดรถยนต์คอมแพ็กต์หรือ B-Car อย่างเป็นทางการของนิสสัน
ต้องยอมรับว่านับตั้งแต่สิ้นยุคของอัลมีรา ตลาดเก๋งของนิสสันในยุโรปแทบจะไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นความชัดเจนในการทำตลาดเลย นอกจากไมครา หรือมาร์ช ขณะที่ตลาด B และ C Car ถูกปล่อยให้ร้างสนามมานาน เพราะการเปลี่ยนแนวคิดในการนำพวกครอสโอเวอร์อย่างจู๊ค และแคชไคเข้ามาสร้างความแปลกใหม่ ซึ่งก็เรียกว่าได้ผลแบบพอสมควร
อย่างไรก็ตาม นิสสันยอมรับว่าถึงเวลาที่จะต้องกลับมาทำตลาดเก๋งแท้ๆ อีกครั้ง และ Invitation คือ ร่างต้นแบบของว่าที่ B-Car คันใหม่ของนิสสัน โดยจะมาในสไตล์แฮทช์แบ็กมาดสปอร์ต และจะเป็นคู่ปรับโดยตรงของฟอร์ด เฟียสตา, ฮอนด้า ฟิต และเปอโยต์ 208 อย่างเป็นทางการ
McLaren P1 : ว่าที่ Halo Car ของค่ายแม็คลาเรน ซึ่งหลังจากเปิดตัวก็มีการยืนยันว่าจะผลิตจากต้นแบบให้เป็นรุ่นจำหน่ายจริงแน่นอน และที่น่าตกใจกว่านั้นคือ โปรเซส ใช้เวลาเพียงแค่ 12 เดือนเท่านั้น นั่นเท่ากับว่าไม่เกินต้นปี 2014 แม็คลาเรน P1 จะต้องวางขายอยู่บนท้องตลาด
P1 จะเป็นการสืบทอดตำนานความเร้าใจของรุ่น F1 ที่เคยทำเอาไว้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เพื่อสร้างความโดดเด่นบนท้องถนนอีกครั้ง โดย P1 จะถูกจัดอยู่ในคลาสเดียวกับสปอร์ตตัวแรงที่เป็นท็อปเอนด์ของตลาด โดยแม้ว่าพื้นฐานของตัวรถจะใช้ร่วมกับ MP4-12C แต่ก็มีการปรับรายละเอียดของตัวรถกันขนานใหญ่ เพื่อให้เป็นที่สุดของความเร้าใจ โดยเฉพาะในแง่ของการออกแบบ รวมถึงเทคโนยียานยนต์ซึ่งแม็คลาเรนได้นำประสบการณ์ในสนามแข่ง F1 ที่มีร่วม 50 ปีมากลั่นกรองทางด้านความคิดเพื่อนำมาใช้งานอย่างเต็มที่
ในแง่ของสมรรถนะการขับเคลื่อน หน้าที่หลักยังเป็นเครื่องยนต์วี8 เทอร์โบคู่ของ MP4-12C แต่มีการปรับเซ็ตในด้านการตอบสนองของกำลังขับเคลื่อน และมีการนำแนวคิด KERS ซึ่งใช้อยู่ใน F1 มาใช้บนท้องถนนด้วย โดยระบบนี้จะคล้ายกับการชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่เหมือนกับรถยนต์ไฮบริด และเมื่อชาร์จจนเต็มและต้องการใช้ ก็กดปุ่มให้ระบบส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่มอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในการช่วยขับเคลื่อนในระยะทางสั้นๆ ซึ่งว่ากันว่าตัวเลขแรงม้าของ P1 ขณะที่ระบบ KERS ทำงานจะสูงถึง 900 แรงม้าเลยทีเดียว
Audi Crosslane Concept : ความน่าสนใจของครอสส์เลนนอกจากจะอยู่ที่รูปทรงในแบบเอสยูวี 3 ประตู ซึ่งสามารถเปิดประทุนได้แล้ว ยังอยู่กับประเด็นข่าวที่ว่า ออดี้ตัดสินใจยุติโครงการผลิตรถสปอร์ตและเป็นการปัดฝุ่นชื่อ ควอตโตร กลับมาอีกครั้งเอาไว้ก่อน และมาทุ่มเทกับการผลิต Crosslane ให้เป็นจริงขึ้นมา
ตัวรถได้รับการพัฒนาบนโครงสร้างตัวถังแบบ ASF หรือ Audi Space Frame อันเลื่องชื่อของออดี้ในการนำอะลูมิเนียมมาผลิตโครงสร้างตัวถัง โดยคันต้นแบบมากับความยาว 4.21 เมตร และระยะฐานล้อ 2.56 เมตร ซึ่งถ้าขายจริง และไม่ได้เป็นพวกเอสยูวีระดับซูเปอร์ไฮเอนด์ผลิตน้อยแล้ว Crosslane จะทำตลาดแทรกกลางระหว่าง Q3
และ Q5
สำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเป็นเรื่องของระบบไฮบริด ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน TFSI 3 สูบ 1,500 ซีซี 130 แรงม้า กับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว โดยมอเตอร์ไฟฟ้าตัวแรกจะทำหน้าที่ช่วยเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ส่วนตัวที่ 2 จะรับหน้าที่ขับเคลื่อนเดี่ยวๆ ในโหมด EV ซึ่งเมื่อแบตเตอรี่ชาร์จจนเต็ม Crosslane จะแล่นในโหมด EV ทำระยะทางได้ถึง 55 กิโลเมตรเลยทีเดียว
ฟังแล้วน่าทึ่ง แต่คิดว่าเมื่อเป็นคันจริงในการทำตลาด เราคงจะไม่ได้สัมผัสกับเทคโนโลยีนี้อย่างแน่นอน
Rinspeed Dock+Go : รินสปีด บริษัทผลิตชุดแต่งของสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นเจ้าไอเดียในการคิดค้นต้นแบบอยู่เสมอ และในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ ของทุกปีพวกเขาก็มาร่วมแชร์ความน่าตื่นตาตื่นใจในการนำเสนอต้นแบบรุ่นใหม่ๆ ให้คนทั่วโลกได้สัมผัสอยู่เสมอเป็นเวลาเกือบๆ จะ 20 ปีแล้ว และในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน
จริงอยู่ที่ต้นแบบของรินสปีดในปีนี้จะออกแนวนำของที่มีขายอยู่แล้วในตลาดมาดัดแปลง แต่ก็เป็นการถ่ายทอดไอเดียอีกมุมที่น่าสนใจ เพราะว่าการดัดแปลงทำได้อย่างน่าสนใจ ซึ่ง Dock+Go ที่ได้รับการพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของสมาร์ท ฟอร์ทู สามารถดัดแปลงรูปแบบการใช้งานได้อย่างหลากลาย
โดยจุดเด่นจะอยู่ที่ตัวถังพ่วงด้านท้าย ซึ่งมีให้เลือกเปลี่ยนได้ตามความต้องการไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าที่สามารถขับได้นานขึ้น เพราะมีการบรรจุกแบตเตอรี่เอาไว้ที่ด้านหลัง หรือว่าจะเป็นปิกอัพแบบมีพื้นที่ใช้สอยด้านท้ายก็ได้
ซึ่งการใช้งานก็ไม่ยุ่งยาก แค่เสียบซ้อกเก็ตของสายไฟตามที่ระบุเอาไว้ และนำตัวถังพ่วงเสียบเข้าไปที่ด้านท้ายของตัวรถ ก็จะได้สมาร์ท ฟอร์ทูแบบพร้อมใช้งานหลากหลายรูปแบบ
เป็นไอเดียที่น่าทึ่ง แต่คงยากที่จะผลิตขายจริง
Bentley EXP9F : การเข้ามาอยู่ในเครือโฟล์คสวาเกนทำให้เบนท์ลีย์มีความได้เปรียบในการขยายตลาดด้วยรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งใช้เวลาในการทำงานที่รวดเร็ว เนื่องจากสามารถต่อยอดจากพื้นฐานทางวิศวกรรมของรถยนต์ที่มีอยู่ในเครือ และ EXP9F คือ การขยายออกสู่ตลาดที่เบนท์ลีย์ไม่เคยสัมผัสมาก่อน แต่ทว่าสามารถเดินหน้าลุยได้อย่างมั่นใจภายใต้การสนับสนุนทางวิศวกรรมจากเอสยูวีของโฟล์คสวาเกน, ออดี้ และปอร์เช่
EXP9F เป็น 1 ใน 2 เอสยูวีระดับหรูที่โฟล์คสวาเกนหวังส่งออกมาทำตลาด โดยอีกรุ่นจะทำตลาดผ่านทางแบรนด์ลัมบอร์กินี ซึ่งหลังจากที่เปิดตัวออกมาทางเบนท์ลีย์คอนเฟิร์มว่าจะมีการผลิตออกสู่ตลาดเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเอสยูวีระดับซูเปอร์ไฮเอนด์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีแบรนด์ระดับหรูไหนทำ ยกเว้นแอสตัน มาร์ตินที่มีความเคลื่อนไหวมาก่อนหน้ากับโปรเจ็กต์ที่เป็นการปัดฝุ่นนำชื่อ ลากอนด้า กลับมาสู่ตลาด
ถ้าไม่โดนโรคเลื่อนเล่นงาน EX9F จะพร้อมเปิดตัวขายในปี 2015 เพียงแต่ว่าชื่อรุ่นยังไม่มีการยืนยันว่าจะใช้ชื่ออะไรในการทำตลาด
โปรดติดตามอีก 5 คัน ในตอนที่ 2