รถยนต์คันหนึ่งมีชิ้นส่วนประกอบนับพันนับหมื่นชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นต่างก็มีความสำคัญแตกต่างกันไป และ “ยางรถยนต์” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างสำหรับรถยนต์ หากขาดสิ่งนี้จะไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์การเป็นรถยนต์ได้ โดยเฉพาะในส่วนของการเคลื่อนที่และเปลี่ยนทิศทาง ดังนั้นการทำความรู้จักยางรถยนต์ การเลือกและใช้งาน ตลอดจนบำรุงรักษา ย่อมจะทำให้ตอบสนองการขับขี่ได้ดี ช่วยยืดอายุยาง ประหยัด และปลอดภัยมากกว่า…
เหตุนี้บริษัท บริดจสโตนเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ชักชวนสื่อมวลชนเข้ารับการอบรม “ความรู้เรื่องยางรถยนต์เบื้องต้น” (Basic Tire Knowledge) ณ ศูนย์ฝึกอบรมและสื่อสารบริดจสโตน/ไฟร์สโตน(BFTCC) พร้อมกับเยี่ยมโรงงานชมขั้นตอนการผลิตยางรถยนต์ และโรงงานหล่อดอกยางรถบรรทุก จ.สระบุรี ภายใต้การต้อนรับของ “ชินอิจิ ซาโตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่บริดจสโตนในไทย ที่ระบุว่าฐานการผลิตในไทยอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะใหญ่ที่สุดในโลก หรือมีกำลังการผลิตถึงวันละ 5 หมื่นเส้นต่อวัน
แน่นอนก่อนจะไปรู้ส่วนต่างๆ ของยางรถยนต์ “วิชิต นิติธรรมวุฒิ” ผู้จัดการฝ่ายบริการทางเทคนิคของบริดจสโตน ได้อธิบายหน้าที่หลักของยางรถยนต์ 4 ประการ ตั้งแต่รับน้ำหนักรถยนต์และบรรทุก ลดแรงกระแทกและสั่นสะเทือนจากพื้นถนน ถ่ายทอดพลังงานขับเคลื่อนลงสู่พื้นถนน และทำให้รถเปลี่ยนทิศทางได้ตามต้องการ
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการคิดค้นและพัฒนายางรถยนต์ขึ้นมา ซึ่งได้วิวัฒนาการมาเรื่อย จนปัจจุบันยางรถยนต์มีโครงสร้างสำคัญ คือ เนื้อยางตัวนอกสุดสัมผัสถนน ชั้นต่อมาเป็นผ้าใบเสริมความแข็งแรง เข็มขัดรัดหน้ายาง และโครงยางที่ปัจจุบันหลักๆ จะแยกเป็นโครงยางเส้นลวด หรือที่เรียกว่ายางเรเดียล และอีกแบบเป็นโครงยางผ้าใบ แต่ปัจจุบันในรถยนต์นั่ง หรือปิกอัพ 1 ตัน จะเป็นยางเรเดียลกันหมดแล้ว และส่วนสุดท้ายเป็นขอบยาง
โครงสร้างยางเหล่านี้จะแยกผลิต และนำมารวมเป็นยางรถยนต์หนึ่งวง ในกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งคงต้องผ่าแบบหน้าตัดออกมาดูจึงจะเห็น แต่ที่ผู้ใช้รถจะเห็นและสัมผัสโดยตรง เป็นหน้ายางมีดอกยางแตกต่างกันไป หลักๆ จะมีเป็นแบบสมมาตร(Symmetrical) หน้ายางจะมีดอกยางที่เหมือนกัน แบบนี้จะทำให้รถมีความนุ่ม และสลับยางง่าย อีกแบบจะเป็นลักษณะไม่สมมาตร(Asymmetrical) ที่ดอกยางจะแตกต่างกัน เน้นการขับขี่ประสิทธิภาพเฉพาะ และยึดเกาะถนนเหมาะกับการเข้าโค้งความเร็วสูง และแบบกำหนดทิศทางการหมุน(Uni-direction) ดอกยางจะมีลักษณะหมุนหรือชี้ไปทิศทางเดียวกัน ทำให้มีการรีดน้ำ ควบคุมการทรงดี และขับขี่ความเร็วสูงได้ดี แต่จะยุ่งยากในการเปลี่ยน หรือสลับยาง ใส่ผิดทิศไม่ได้เพราะส่งผลต่อการขับขี่
สิ่งที่สังเกตเห็นอีกอย่างบนยางรถยนต์ เป็นตัวเลขและอักษรบนวงล้อด้านข้างเป็นสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่น 195/65 R 15 91V แบบนี้จะเห็นในยางรถยนต์นั่งทั่วไป ความหมายของเลข 195 คือ ความกว้างของยาง(มม.), 65 เป็นอัตราส่วนขนาดยาง(65%) ของความกว้างยาง และตัว R เป็นโครงสร้างยางแบบเรเดียล( ถ้า - หมายถึงยางแบบผ้าใบ) ส่วนเลข 15 เป็นเส้นผ่าศูนย์กลางกระทะล้อ(นิ้ว) และ 91 เป็นดัชนีในการรับน้ำหนัก(615 กก./เส้น) และขีดจำกัดความเร็วสูงสุดของยาง(แต่ละอักษรจะมีความเร็วแตกต่าง ซึ่ง V = ความเร็วสูงสุด 240 กม./ชม.)
เมื่อรู้จักยางรถยนต์เบื้องต้นกันแล้ว บางคนอยากจะเปลี่ยนยางใหม่ หรือยางเก่าหมดอายุแล้ว และกำลังมองหายางใหม่มาแทน สิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกใช้ยางรถยนต์ บริดจสโตนแนะนำควรเลือกใช้ขนาดของยาง ชนิดโครงสร้างยาง ลักษณะดอกยาง และความลึกของร่องดอกยางให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน ที่สำคัญรับน้ำหนักไม่น้อยกว่าเดิม ควรเลือกขนาดความกว้างของกระทะล้อ ให้เหมาะสมกับขนาดยาง สำหรับบางชนิดไม่ใช้ยางใน(Tubeless) เมื่อเปลี่ยนยางใหม่ ควรเปลี่ยนวาล์วใหม่ด้วยทุกครั้ง
ในส่วนของการบำรุงรักษายางรถยนต์ ควรเช็กลมยางและเติมลมยางให้ถูกต้อง (ยางอะไหล่ให้ตรวจเช็คลมยางเช่นกัน และควรเติมลมยางมากกว่าอัตรากำหนด) ตามอัตราที่กำหนดเป็นประจำในขณะที่ยางเย็น ปกติจะมีแจ้งบอกขนาดยาง และอัตราลมยางล้อหน้า-หลังที่กำหนด โดยส่วนใหญ่หน่วยจะเป็นปอนด์ (PSI : ปอนด์/ตารางนิ้ว) แต่หากเติมลมยางหลังใช้งานควรเติมเพิ่มประมาณ 2 ปอนด์ เพื่อชดเชยความดันอากาศที่ขยายตัว จากการเกิดความร้อนของยางขณะวิ่ง
การที่ลมยางน้อยหรืออ่อนเกินไป จะทำให้ยางสึกบริเวณไหล่ยาง ทำให้โครงยางบริเวณแก้มยางฉีกขาดหรือหักได้ และมีการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนหากเติมลมยางมากไป จะทำให้เกิดการลื่นไถลได้ง่าย จากพื้นที่การเกาะถนนลดลง โครงยางระเบิดได้ง่ายเมื่อเกิดการกระแทก หรือถูกตำ จากการยึดหยุ่นได้น้อย อายุยางลดลง และความนุ่มนวลในขณะขับขี่ลดลง โดยลักษณะยางจะสึกบริเวณกลางหน้ายาง ซึ่งยางลมที่เหมาะสมหน้ายางจะมีการสึกสม่ำเสมอ แต่กรณีรถเก๋งที่ขับระยะทางไกลด้วยความเร็วสูง ให้เติมลมยางมากกว่าปกติ 3-5 ปอนด์ เพื่อการคืนตัวของยางจะเร็วขึ้น และไม่เสียรูปทรงยาง ทำให้มีอายุการใช้งานนานด้วย
สำหรับกรณีที่เป็นยางใหม่ ให้เพิ่มความถี่ในการตรวจเช็กลมยางให้มากกว่าปกติ หรือในช่วง 3,000 กิโลเมตรแรก เนื่องจากโครงสร้างยางในช่วงนี้จะมีการขยายตัว ทำให้ความดันลมยางลดลง และเพื่อป้องกันลมรั่วซึมที่วาล์ว และแกนวาล์ว ทุกครั้งที่เปลี่ยนยางใหม่และมีฝาปิดวาล์วตลอดเวลา
ทั้งนี้ควรมีการสลับตำแหน่งยาง เพื่อช่วยให้มีการสึกหรออย่างสม่ำเสมอเท่าๆ กัน โดยยางเรเดียลจะสลับทุกๆ ระยะทาง 10,000 กิโลเมตร และยางผ้าใบจะประมาณ 5,000 กิโลเมตร และควรบำรุงรักษาระบบช่วงล่างของรถยนต์ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ และตรวจสอบศูนย์ล้อให้ได้มาตรฐานของรถยนต์ โดยวิธีตรวจสอบศูนย์ล้อด้วยตัวเอง ว่าเป็นปกติหรือไม่ สังเกตง่ายๆ เวลาเลี้ยว 90 องศา ให้ดูการคืนพวงมาลัยเป็นปกติหรือไม่ ถ้าต้องดึงพวงมาลัยช่วยคืน แสดงว่าศูนย์ล้อไม่ปกติ
โดยบริดจสโตนในฐานะผู้ผลิตยืนยันยางสามารถใช้งานได้จนหมดดอกยาง ซึ่งสังเกตได้จากดอกยางสึกจนเสมอกับบั้ง หรือบันได ระหว่างดอกยาง แม้ยางนั้นจะใช้งานมานาน 4-5 ปี แต่ต้องยอมรับสมรรถนะการใช้งานอาจจะลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียง หรือความนุ่มที่เปลี่ยนไป ส่วนเรื่องยางที่ผลิตมาหลายปี ไม่ส่งผลต่อคุณภาพของยาง หากมีการเก็บรักษาถูกต้อง ซึ่งบริดจสโตนมีมาตรฐานควบคุมชัดเจน และที่สำคัญมีการรับประกัน 4 ปี